IMFหั่นแนวโน้มจีดีพี5ชาติอาเซียนรวมไทย ชี้ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน

IMFหั่นแนวโน้มจีดีพี5ชาติอาเซียนรวมไทย ชี้ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน

  • 0 ตอบ
  • 68 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

hs8jai

  • *****
  • 2219
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 


ไอเอ็มเอฟเผยแพร่รายงานล่าสุด ปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งของอเมริกา และมหาอำนาจอุตสาหกรรมอื่นๆ ตลอดจนถึง 5 ชาติชั้นนำของอาเซียนที่มีไทยรวมอยู่ด้วย โดยระบุเหตุผลสำคัญว่า เนื่องจากการชะงักงันยาวนานของห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งความกดดันด้านเงินเฟ้อ กำลังถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตโควิด-19

ในรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (12 ต.ค.) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์อัตราเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 5.9% จากระดับ 6% ที่คาดไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม แต่คงตัวเลขคาดการณ์ของปีหน้าอยู่ที่ 4.9% ตามเดิม

อย่างไรก็ดี รายงานสำทับว่า วิกฤตโรคระบาดที่ดูจะเลวร้ายลง ทำให้แนวโน้มการเติบโตของพวกประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำกำลังมืดมนลง ขณะที่ประเทศมั่งคั่งก็เผชิญปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันอย่างเรื้อรัง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ ไอเอ็มเอฟคาดว่าจะสามารถลดลงสู่ระดับก่อนโควิดระบาดได้ ในช่วงปีหน้า

กระนั้น กีตา โกปินาถ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ เตือนว่า ธนาคารกลางทั้งหลายควรเตรียมพร้อมเพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างรวดเร็ว หากมีความเสี่ยงเงินเฟ้อขาขึ้นเพิ่มขึ้น ท่ามกลางการฟื้นตัวซึ่งอยู่ในรูปแบบที่ไม่คุ้นเคยกันมาก่อน

โกปินาถยังคาดว่า ราคาพลังงานจะเริ่มลดลงตอนสิ้นไตรมาสแรกปีหน้า

ขณะเดียวกัน กิจกรรมการผลิตทั่วโลกได้รับผลกระทบจากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน และการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ท่ามกลางภาวะตึงตัวด้านแรงงานจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่ทำให้คนจำนวนมากยังลังเลที่จะกลับไปทำงาน ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกยังระส่ำระสายหลังวิกฤตโรคระบาดส่งผลให้ประเทศต่างๆ ใช้มาตรการล็อกดาวน์เมื่อปีที่แล้ว

อเมริกานั้นได้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้อย่างรุนแรง ดังนั้นไอเอ็มเอฟจึงหั่นแนวโน้มอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ของอเมริกาลง 1% เต็ม มาอยู่ที่ 6% ภายใต้สมมติฐานที่ว่า รัฐสภาสหรัฐฯ ที่พวกสมาชิกแตกแยกกันอย่างหนัก จะยังคงอนุมัติข้อเสนองบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านสังคม รวมเป็นมูลค่าราว 4 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แต่ถ้าหากรัฐสภาอเมริกันเกิดลดทอนงบประมาณดังกล่าวลงจำนวนมาก ก็อาจทำให้แนวโน้มการเติบโตของอเมริกาและพวกประเทศคู่ค้า ต้องดิ่งวูบลงไปอีก

รายงานยังปรับลดตัวเลขคาดการณ์สำหรับประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำอื่นๆ เช่น เยอรมนีถูกลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีลง 0.5% จากที่คาดไว้ที่ 3.1% เมื่อเดือนกรกฎาคม และญี่ปุ่นจาก 2.8% เหลือ 2.4%



สำหรับจีน อัตราคาดการณ์จีดีพีถูกปรับลงแค่ 0.1% มาอยู่ที่ 8% ด้วยเหตุผลว่ามีการปรับลดการลงทุนสาธารณะอย่างรวดเร็วเกินคาด ส่วนตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจอินเดียคงเดิมที่ 9.5%

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ในเอเชียดูไม่ค่อยดีนักเนื่องจากภาวะโรคระบาดที่เลวร้ายลง โดยไอเอ็มเอฟหั่นตัวเลขคาดการณ์สำหรับ 5 ชาติอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ลง 1.4%


X


รายงานยังเตือนอันตรายของแนวโน้มเศรษฐกิจที่การเติบโตไร้ความสมดุล สืบเนื่องจากปัญหาการกระจายวัคซีนอย่างไม่เสมอภาค โดยประเทศรายได้ต่ำที่ประชากรถึง 96% ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด มีแนวโน้มที่การเติบโตจะชะลอตัวยาวนานกว่า และปัญหาความยากจนก็จะรุนแรงกว่า

ความเหลื่อมล้ำในการกระจายวัคซีนยังส่งผลต่อการฟื้นฟูมาตรฐานการครองชีพ โดยที่แนวโน้มขาลงยืดเยื้อจากวิกฤตโรคระบาด ยังอาจสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจรวม 5.3 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟคาดว่า ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าจะฟื้นแนวโน้มการเติบโตสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตได้ภายในปีหน้า และขยายตัวในอัตราสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤต 0.9% ในปี 2024 ขณะที่ตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ไม่รวมจีน ถูกคาดหมายว่า เมื่อถึงปี 2024 จะยังมีอัตราเติบโตต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตถึง 5.5%

โกปินาถทิ้งท้ายว่า ท่ามกลางแผลเป็นระยะยาว นโยบายสำคัญอันดับแรกควรเป็นการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างน้อย 40% ในทุกประเทศภายในสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็น 70% ในช่วงกลางปีหน้า

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์)