MAKRO เตรียมประชุมผู้ถือหุ้น
ขอมติอนุมัติรับโอนกิจการโลตัสส์ คาดแล้วเสร็จ 25 ตุลาคม 2564 พร้อมเดินหน้าขอไฟลิ่งขาย PO ต่อ หวังเพิ่มฟรีโฟลทเป็น 15% ดันมาร์เก็ตแคปเข้าดัชนี SET50 วางแผนลงทุน 5 ปีใช้งบ 130,000 ล้านบาท
หลังประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกครั้งใหญ่ของ “เครือซีพี” ให้บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (MAKRO) รับโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH) ที่ถือหุ้นในบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (CPRD) ในสัดส่วน 99.99% และ CPRD ถือหุ้นสัดส่วน 99.99% ในบริษัท โลตัสส์สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ Lotus’s ในประเทศไทย และถือหุ้นสัดส่วน 100% ใน Lotuss Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ Lotus’s ในประเทศมาเลเซีย
นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ MAKRO เปิดเผยว่า บริษัทฯจะจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2564 ในวันที่ 12 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อขอมติผู้ถือหุ้นอนุมัติการเข้าถือหุ้นและรับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์ในไทยและมาเลเซียจาก CPRH และเพิ่มทุนจดทะเบียนรวมถึงจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement:PP) และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering หรือ PO) โดยคาดว่า จะโอนกิจการเสร็จภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2564
นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ MAKRO
นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ MAKRO
การเข้าถือหุ้นและรับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์จะเพิ่มโอกาสการเติบโตจากการขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีประชากรจำนวนมาก เพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
“หลังเสนอขาย PO จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นในมือของรายย่อย (ฟรีโฟลท) เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 15% จากปัจจุบัน 7% และช่วยให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เพิ่มขึ้น สามารถเข้าไปอยู่ในดัชนี SET50 ได้แน่นอน และแม้รวมกิจการของกลุ่มโลตัสส์เข้ามาในบริษัท แต่ยังคงยึดมั่นการทำธุรกิจที่เป็นคู่คิดทางธุรกิจทุกกลุ่มผู้ประกอบการ พร้อมสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าและร้านค้าปลีกรายย่อย ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงจำหน่ายสินค้าในราคาที่เป็นธรรม” นางสุชาดา กล่าว
ผลการดำเนินงานของ MAKRO ปี 2563-2564
ผลการดำเนินงานของ MAKRO ปี 2563-2564
นอกจากนั้น ทั้งสองบริษัทยังผสานการขายสินค้าผ่าน ช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ (O2O) เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่ต้องการความสะดวกสบาย โดยเตรียมงบลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้าสำหรับธุรกิจของ MAKRO และกลุ่มโลตัสส์ 1.3 แสนล้านบาท
แบ่งเป็นธุรกิจกลุ่ม MAKRO6 หมื่นล้านบาท และกลุ่มโลตัสส์ 7 หมื่นล้านบาท ใช้พัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ ซึ่งนอกจากการขยายสาขาแล้ว จะหันมาเน้นการลงทุนด้านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ตั้งเป้าจะขยายสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 10% ของรายได้รวมภายในช่วง 5 ปีหรือในปี 2568 จากปัจจุบัน 5% ส่วนหนึ่งจะมีการรับรู้รายได้จากสาขาในประเทศมาเลเซียรวมถึงมีแผนขยายสาขาทั้ง MAKRO และโลตัสส์ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากเดิม MAKRO มี 7 สาขาในต่างประเทศ โดยปัจจุบันได้เริ่มศึกษารูปแบบของตลาดทั้งแบบ B2B และ B2C และการลงทุนแบบก่อสร้างใหม่เอง หรือไปร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่อยู่ในประเทศนั้นด้วย
นางเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโครสายงาน Group Shared Service กล่าวว่า การรับโอนกิจการของกลุ่มโลตัสส์ครั้งนี้ จะทำให้บริษัทมีมาร์เก็ตที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมของผลการดำเนินงานของบริษัทที่สามารถรับรู้รายได้ของกลุ่มโลตัสส์ รวมถึงรายได้จากพื้นที่เช่าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ที่มีผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค
ทั้งนี้หากได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น บริษัทเตรียมยื่นขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)เพื่อเสนอขายหุ้น PO คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยที่ผู้ถือหุ้นเดิมคือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด ที่ได้รับหุ้น PP จากการรับโอนกิจการดังกล่าว จะร่วมเสนอขายหุ้นสามัญที่ถืออยู่ในบริษัทด้วยบางส่วน พร้อมกับการทำ PO ในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,721 วันที่ 10 - 13 ตุลาคม พ.ศ. 2564