วิกฤตเศรษฐกิจทำให้คนไทยจำนวนมากประสบปัญหาการเงิน หมุนเงินไม่ทันหันไปกู้เงินผ่าน “
แอปฯ เงินกู้เถื่อน” แอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามประชาชน มีผู้ตกเหยื่อได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก เทคโนโลยีกลายเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพเข้าถึงเหยื่อได้ง่ายขึ้น
สำหรับ “แอปฯ กู้เงิน” สินเชื่อเงินสดออนไลน์มีทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ที่เป็นปัญหาคือ “แอปฯ เงินกู้เถื่อน” ซึ่งมักโฆษณาชวนเชื่อ กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้
แต่ในความเป็นจริงมีความเสี่ยงสูงตั้งแต่การถูกล้วงข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้กู้ต้องยอมรับ “การให้อนุญาตสิทธิ์เข้าใช้ข้อมูลมือถือ” อาทิ ปฏิทิน, รายชื่อ, บันทึกตำแหน่ง, เครือข่ายโทรศัพท์, บันทึกการใช้โทรศัพท์, ข้อความ SMS, พื้นที่เก็บข้อมูล รวมทั้ง การอนุญาตเข้าถึงการใช้งานมือถือ และการกรอกข้อมูลหรืออัปโหลดข้อมูลส่วนตัว เช่น หน้าบัตรประชาชน ข้อมูลทั้งเลขที่บัตรประชาชน, รหัส LASER ID ด้านหลังบัตรประชาชน รวมทั้ง E-Statement จากธนาคารพาณิชย์ ที่มักจะใช้วัน เดือน ปีเกิดเป็นรหัสผ่าน
นอกจากนี้ จะมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ตามกฎหมายดอกเบี้ยต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน รวมทั้งผู้กู้มักได้รับเงินไม่เต็มจำนวนวงเงินกู้ แต่กลับถูกคิดเงินต้นและดอกเบี้ยเต็มอัตรา ตลอดจนถูกติดตามทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม เช่น ทวงหนี้ผ่านคนรู้จักทำให้ผู้กู้เกิดความอับอาย ข่มขู่ถึงแก่ชีวิต เป็นต้น
ไม่นานมานี้กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) บุกทลายแอปฯ เงินกู้เถื่อน 6 แอป ความเสียหายเบื้องต้นเป็นเงินเมากกว่า10 ล้านบาท นับเฉพาะผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์ ยังไม่รวมผู้ที่ติดใจเอาความซึ่งเชื่อว่ามีประชาชนตกเป็นเหยื่อแก๊งแอปฯ เงินกู้เถื่อนนับหมื่นราย
รูปแบบการปล่อยสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชั่น มีการส่งข้อความโฆษณาตรงไปยังโทรศัพท์มือถือ หรือผ่านโชเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ผู้ต้องการกู้เงินโหลดแอปฯ พร้อมยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เพื่อใช้ติดตามหนี้ และเอาเปรียบผู้กู้ในรูปแบบสารพัด ทั้งการหักเงินค่าดำเนินการสูง ให้เงินกู้ไม่เต็มตามสัญญากู้ คิดดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดหลายเท่า ทวงถามด้วยวิธีทั้งข่มขู่ ทำให้อับอาย
วิธีการของแอปฯ เงินกู้เถื่อนเป็นภัยคุกคามประชาชน พล.ต.ต.กานตพงศ์ ชัยรุ่งเรือง ผบก.สอท.2 อธิบายว่าบางแอปที่ถูกสร้างขึ้นมาไม่มีไว้ปล่อยเงินกู้ เพียงแต่ใช้ช่องทางหลอกลวงประชาชน เช่น ถ้าอยากได้เงินกู้ 50,000 บาท คุณต้องโอนค่าธรรมเนียม หรือค่าประกันมาก่อน 5,000 (10% ของยอดกู้) ซึ่งเมื่อหลงเชื่อโอนเงินไปให้แล้ว ทางแอปฯ ก็จะบ่ายเบี่ยงส่งเงินมาให้ อ้างสารพัดปัญหา และหากอยากได้ค่าธรรมเนียมคืน ต้องโอนค่าธรรมเนียมใหม่เพิ่มโดยอ้างว่าปิดบัญชี ทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม บางคนโดนหลอกซ้ำซ้อน ให้โอนเงินหลายครั้ง บางคนกู้เงิน 50,000 บาท แต่กลับถูกหลอกให้โอนเงินรวมแล้ว 70,000 บาทก็มี ซึ่งแก๊งเหล่านี้ เท่าที่มีการสืบสวนทราบว่ามีนายทุนต่างชาติกลุ่มประเทศในเอเชียร่วมอยู่ด้วย
ขบวนการแอปฯ กู้เงินเถื่อน จะใช้เซิร์ฟเวอร์จากต่างประเทศ โดยมีบุคคลดำเนินการซื้อบัญชีธนาคาร หรือ บัญชีม้า เบอร์โทรศัพท์ของคนไทย ทำธุรกรรมผ่าน E-Banking ส่งต่อหลายบัญชี และกดเงินออกไปยังประเทศต้นทาง ไม่สามารถติดตามตรวจหาเงินได้
ทั้งนี้ จะนำซอฟต์แวร์มาให้ผู้กู้ลงทะเบียน โดยดูดข้อมูลจากมือถือของผู้กู้หลังกดข้อความ “ยอมรับเงื่อนไข” รายชื่อผู้ติดต่อทั้งหมดในโทรศัพท์จะถูกเก็บไว้ใช้ทวงหนี้ โดยจะจ้างคนไทยเป็นผู้ทวงหนี้ผ่านทั้งโทรศัพท์ และ SMS อย่างไรก็ตาม แอปฯ กู้เงินเถื่อน กำไรหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ลูกหนี้จ่ายคืนครึ่งหนึ่งก็ยังได้กำไร
อย่างไรก็ตาม ต้องตระหนักว่าการโอนเงินให้ไปก่อนมันผิดหลักการการกู้เงิน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนได้เลยว่าเป็นการหลอกลวง เพราะไม่มีธนาคารหรือสถาบันการเงินไหนทำนอกเสียจากมิจฉาชีพ พร้อมกันนี้ สอท. ประสานถอนแอปฯ เงินกู้เถื่อน ออกจากจาก Plat store แล้วกว่า 60 แอปฯ มีการขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่แอปฯ กู้เงินนอกระบบใหม่ๆ ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศเตือนภัยทางการเงินระวังถูกหลอกให้กู้เงิน โดยระบุว่า ปัจจุบันพบว่ามิจฉาชีพหลอกให้ประชาชนกู้เงินในหลากหลายรูปแบบ โดยมักจะส่งข้อความเชิญชวนหรือประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง SMS ไลน์ เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ หรือโทรศัพท์มาหา โดยใช้ข้อความชวนเชื่อว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้
หากเหยื่อหลงเชื่อก็จะให้สมัครผ่านแอปเงินกู้ หลังจากนั้นจะเริ่มขอเอกสารส่วนตัว เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หน้าสมุดบัญชี แล้วหว่านล้อมหลอกให้เราโอนเงินค่าธรรมเนียม ค่ามัดจำต่าง ๆ หรือเงินค้ำประกันให้ก่อน จึงจะได้เงินกู้ตามจำนวนที่ต้องการ เมื่อดำเนินการมาถึงขั้นตอนนี้ แสดงว่าตกเป็น “เหยื่อ” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สั่งให้ค่ายมือถือ โอเปอเรเตอร์ ทั้ง 5 ราย ได้แก่ AIS TRUE DTAC NT (โทรคมนาคมแห่งชาติ) และ 3BB บล็อกผู้ให้บริการด้านเนื้อหา (Content Provider) ที่มีการส่ง SMS หลอกลวงต่างๆ เว็บ. สมัครสินเชื่อออนไลน์ หรือเนื้อหาที่มีลักษณะลามกอนาจาร ซึ่งสร้างความเดือดร้อนรำคาญ หรือการหลอกลวง โดยให้ไปตรวจสอบว่า มีใคร บริษัทใด กระทำการแบบนี้บ้าง จากนั้นก็ให้ไปรื้อสัญญาที่เคยทำด้วยกันไว้ และให้ยุติสัญญากันทันที
อนึ่ง การส่ง SMS จำนวนมากๆ นั้น จะต้องมีการซื้อบริการผ่านโอเปอเรเตอร์ เช่น ระบบ SMS Modem ซึ่งอาจจะส่ง SMS ทีละเป็นร้อย หรือเป็นพันเบอร์ ซึ่งค่าบริการก็จะถูกกว่าที่เราส่งกันเองมาก เช่น ข้อความละ 3 บาท แต่การซื้อระบบส่ง SMS ส่งครั้งละมากๆ อาจจะอยู่ที่ราคาข้อความละ 10 - 20 สตางค์เท่านั้น
สำหรับคำสั่ง กสทช. ให้ค่ายมือถือบล๊อก SMS ที่กล่าวมาข้างต้น ดูจะไม่เป็นผลในทางปฎิบัติเพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยยังได้รับข้อความก่อรำคาญ ซ้ำร้ายยังมีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อรายวัน
แม้ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กำกับดูแลอย่างใกล้ชิดปราบปรามมิจฉาชีพ แต่สถานการณ์ปัญหายังคงเกิดขึ้นเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง ดูเหมือนรัฐบาลทำได้เพียงให้ขอเสนอแนะประชาชนว่า หากจำเป็นต้องใช้บริการเงินกู้ เงินด่วนต่างๆ ขอให้ประชาชนตรวจสอบผู้ให้กู้อย่างรอบคอบรู้ตัวตน รู้ที่ทำการ ทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ควรเลือกผู้ให้กู้ที่เป็นสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์หรือนอนแบงก์ที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือกระทรวงการคลัง และมีกฎหมายกำกับที่ชัดเจน เพื่อกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นสามารถร้องเรียน หาผู้กระทำผิดเข้าสู่ขั้นตอนทางกฎหมายได้
ทั้งนี้ ผู้ให้กู้หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบการกระทำผิดก็ต้องรับโทษหนัก ปัจจุบันในการให้กู้ยืมเงินมีกฎหมายกำกับหลายฉบับและมีโทษทางอาญา เช่น พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับได้
เกมโกงมิจฉาชีพออนไลน์ สถานการณ์ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของรัฐบาล หากทำได้เพียงไล่หลังตามล่าตัวอาชญากร เชื่อว่าคงมีประชาชนอีกมากมายหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ