ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
ยิ่งใกล้หมดปี 2021 เข้าไปเท่าไหร่ ดูเหมือนปัญหาท้าทายที่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดการชะลอตัวต่อ
เศรษฐกิจของทั้งโลก ยิ่งทวีมากขึ้นตามลำดับ
ตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าที่ไม่เพียงส่งผลกระทบทางสังคมในหลายประเทศทั่วโลก ยังก่อให้เกิดปัญหาคอขวดขึ้นในระบบห่วงโซ่อุปทาน และเป็นที่มาของปัญหาจ้างงานกับการผลิตในหลายประเทศ
ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาขึ้นมากมายในระบบเศรษฐกิจจีน ตั้งแต่ภาวะขาดแคลนพลังงาน, การกวาดล้างเพื่อจัดระเบียบธุรกิจใหม่เรื่อยไปจนถึงปัญหาของยักษ์อสังหาริมทรัพย์อย่าง “เอเวอร์แกรนด์” ที่ยังหาทางลงที่เหมาะสม ส่งผลกระทบน้อยที่สุดยังไม่เจอ สหรัฐอเมริกาก็เผชิญทั้งปัญหาเพดานหนี้ และปัญหาในเชิงนโยบายอันเนื่องมาจากความขัดแย้งภายในพรรคเดโมแครตเองอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนั้น ทั้งโลกก็ดูเหมือนเจอเข้ากับปัญหาราคาพลังงานและอาหารถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง “อัตราเงินเฟ้อ” ขยับเร็วกว่าที่คาดหมายไว้ ในขณะที่การเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจกลับอ่อนแอลง กลายเป็นสถานการณ์ซับซ้อนสำหรับบรรดาผู้กำหนดนโยบายอย่างธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ที่กำลังพยายามหาหนทางยกเลิกมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ ลง โดยที่ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในเวลานี้ ทำให้นักวิเคราะห์บางรายถึงกับลงความเห็นว่า การฟื้นตัวกลับมาจากวิกฤตโควิด อาจไม่กระชับ รวดเร็วอย่างที่คิดกัน
“เฟรดริก นูแมนน์” หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจเอเชียของเอชเอสบีซีชี้ว่า ถ้าจะมองหาการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ต้องมองกันเป็นปี ๆ ไม่ใช่เป็นรายไตรมาสอย่างที่ผ่านมา
ทีมวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ เชื่อว่า ปัญหา “ขาดแคลนพลังงาน” ส่งผลกระทบต่อจีนใหญ่หลวงที่สุด จะเป็นรองก็แต่การประกาศมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศในตอนวิกฤตโควิดเท่านั้น ปัญหานี้ทำให้จีนต้องจำกัดการผลิตลงส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์ต้องหันมาปรับลดอัตราการขยายตัวลงตามมา
กิจกรรมการผลิตในโรงงานของจีนติดลบเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน เมื่อบวกกับปัญหาเอเวอร์แกรนด์ที่อย่างน้อยที่สุดจะก่อให้เกิดการชะลอตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ กับความพยายามเข้าไปควบคุมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้แน่นหนามากขึ้นของทางการ ก็ทำให้สถานการณ์ในจีนน่ากังวลมากขึ้นตามลำดับ
ดัชนีราคาอาหารของสหประชาชาติเพิ่มสูงขึ้นถึง 33% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้หนักมากขึ้นสำหรับจีน ซึ่งในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา นำเข้าสินค้าเกษตรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สืบเนื่องจากภาวะขาดแคลนในประเทศ
ราคาสินค้าอาหารที่ถีบตัวสูงขึ้น ควบคู่ไปกับราคาพลังงาน, ก๊าซธรรมชาติ, ถ่านหิน และไฟฟ้า ที่ขยับขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี ยิ่งทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อในหลายประเทศเริ่มกลายเป็นปัญหา
ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติก็อยู่ในระดับแพงที่สุดในรอบ 7 ปี มีแนวโน้มที่จะลากยาวต่อเนื่องไปตลอดทั้งหน้าหนาวในปีนี้ ในทรรศนะของ “ปาทริก ปูยองเน” ซีอีโอของโททาลเอเนอร์ยีส์
แบงก์ออฟอเมริกา คาดการณ์ว่า มีโอกาสไม่น้อยที่ราคาน้ำมันดิบจะพุ่งขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กระพือให้โอกาสที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ปัญหาคอขวดในระบบขนส่งเชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศ ที่เกิดขึ้นทั้งกับท่าเรือเซี่ยงไฮ้ และลอสแองเจลิส ส่งผลกระทบต่อ “เทศกาลจับจ่ายใช้สอย” ครั้งใหญ่ในตอนสิ้นปี ทั้งที่สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร
ในขณะที่การผลิตในหลายประเทศเจอปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น เซมิคอนดักเตอร์, เคมีภัณฑ์ต่าง ๆ หรือกระจก
“ดูไบ ดีพีเวิร์ลด์” ผู้บริหารท่าเรือใหญ่ที่สุดในโลกคาดว่า ปัญหาคอขวดที่ว่านี้จะยังส่งผลกระทบต่อการค้าโลกต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 ปี
ปัญหาเพดานหนี้ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำในสหรัฐอเมริกา กำลังจะทำให้เงินสดในมือรัฐบาลอเมริกันหมดเกลี้ยงภายใน 18 ตุลาคมนี้ หากไม่มีการขยายเพดานหนี้ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังยืนยันว่า จะส่งผลไม่เพียงก่อให้เกิดภาวะถดถอยเท่านั้น ยังจะมีวิกฤตทางการเงินตามมาอีกด้วย
ปัญหาในสหรัฐอเมริกาสะท้อนความเป็นจริงในระดับโลกที่ว่า ในปี 2022 นี้ การให้การสนับสนุนทางการเงิน การคลัง ทั้งหลายจะชะลอลงมาก
หลังจากรัฐบาลของทุกประเทศก่อหนี้รวมกันเป็นก้อนใหญ่โตที่สุด นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา !