อันซีน 'วัดนันตาราม' วัดงามแห่งเชียงคำ ไหว้พระขอพรความรักจากคิวปิด

อันซีน 'วัดนันตาราม' วัดงามแห่งเชียงคำ ไหว้พระขอพรความรักจากคิวปิด

  • 0 ตอบ
  • 67 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Thetaiso

  • *****
  • 2964
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 



แคมเปญ“25UNSEEN New Series” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามมหัศจรรย์ของเมืองไทย25 แห่ง ในมุมที่เราอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน นำเสนอเป็นข้อมูลสำหรับวางแผนการเดินทางล่วงหน้าให้นักท่องเที่ยวได้เตรียมพร้อมไปเที่ยวกันหลังจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ดีขึ้น

สำหรับ“25 UNSEEN New Series”แห่งภาคเหนือนั้น มี “วัดนันตาราม” แห่งอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ที่ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่งามที่สุดแห่งจังหวัดพะเยาอยู่ด้วย ซึ่งในวันนี้เราจะขอพาไปชมความงามของวัดแห่งนี้กัน

วิหารไม้สักด้านหน้า
วิหารไม้สักด้านหน้า

อำเภอเชียงคำในจังหวัดพะเยาเป็นอำเภอที่มีชาวไทลื้ออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และถือเป็นหนึ่งอีกในอำเภอท่องเที่ยวสำคัญของพะเยา หากแต่ “วัดนันตาราม” ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำแห่งนี้ กลับงดงามไปด้วยงานพุทธศิลป์แบบไทใหญ่-พม่า โดดเด่นไปด้วยวิหารไม้สักทั้งหลังที่มีผลงานการฉลุไม้ตกแต่งลวดลายอย่างงดงาม

วัดนันตารามไม่ปรากฏว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด เล่ากันว่าแต่เดิมที่ตั้งวัดแห่งนี้เป็นวัดร้างมาก่อน ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พ่อหม่องโพธิ์ขิ่น และพ่อเฒ่าอุบลร่วมกันสร้างขึ้นและนิมนต์พระอูว์วัณณะ พระภิกษุชาวไทใหญ่จากเมืองตองจี รัฐฉาน มาจำพรรษา โดยระยะแรกสร้างเป็นเพียงวิหารไม้มุงด้วยหญ้าคา คนจึงเรียกว่าจองคา โดยคำว่าจองเป็นภาษาไทใหญ่หมายถึงวัด ส่วนคา หมายถึงมุงด้วยหญ้าคา บ้างก็เรียกจองม่าน หรือวัดพม่า

เฒ่าตะก่าจองนันตา (อู๋) วงศ์อนันต์ ผู้บูรณะวัดและสร้างวิหารไม้สักแห่งวัดนันตาราม
เฒ่าตะก่าจองนันตา (อู๋) วงศ์อนันต์ ผู้บูรณะวัดและสร้างวิหารไม้สักแห่งวัดนันตาราม

จากนั้นใน พ.ศ.2467 พ่อเฒ่าตะก่าจองนันตา (อู๋) วงศ์อนันต์ คหบดีชาวปะโอ (ตองสู่) ผู้รับสัมปทานทำไม้ให้กับบริษัทค้าไม้ต่างชาติ เป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้าที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบูรณะปรับปรุงเสนาสนะวัดจองคาที่ทรุดโทรมให้มีความมั่นคงแข็งแรงงดงามสมเป็นพุทธสถาน

พ่อตะก่าจองนันตา (อู๋) รับเป็นเจ้าภาพสร้างวิหารหลังปัจจุบัน โดยว่าจ้างช่างชาวพม่าจากจังหวัดลำปางมาออกแบบและทำการก่อสร้างเป็นวิหารไม้สักทั้งหลัง รูปทรงสถาปัตยกรรมแบบพม่า หลังคาหน้าจั่วยกเป็นช่อชั้นลดหลั่นกันสวยงาม มุงด้วยไม้แป้นเกล็ด เพดานประดับประดาด้วยกระจกสีลวดลายวิจิตร ใช้เวลาร่วม10 ปีจึงสำเร็จสมบูรณ์

ภายในวิหารไม้สักที่ประดับตกแต่งด้วยลวดลายไม้ฉลุประดับกระจกงดงาม
ภายในวิหารไม้สักที่ประดับตกแต่งด้วยลวดลายไม้ฉลุประดับกระจกงดงาม

พ่อเฒ่าตะก่าจองนันตา (อู๋) ยังเป็นผู้ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ตั้งใจปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีและเป็นอนุสรณ์ผู้สร้าง จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดจากจองม่าน เป็น "วัดนันตาราม" เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน

วิหารไม้สักแห่งวัดนันตารามที่สร้างไว้กว่า100 ปีแล้วนั้นปัจจุบันยังอยู่ในสภาพงดงามสมบูรณ์ ภายในวิหารยกเป็น 3 ชั้น ชั้นสูงสุดคือชั้นพุทธะเป็นชั้นประดิษฐานของพระประธานและพระพุทธรูป รองลงมาเป็นชั้นของพระสงฆ์ และชั้นสุดท้ายคือชั้นที่นั่งของอุบาสก อุบาสิกา ในวิหารมีเสาทั้งหมด 68 ต้น ลงรักปิดทอง 40 ต้น เพดานลงลวดลายประดับด้วยกระจก ศิลปะแบบมัณฑะเลย์

พระพุทธรูปประธานภายในวิหาร
พระพุทธรูปประธานภายในวิหาร

ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานไม้สักทอง นามพระพุทธเมตตา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่องแบบมัณฑะเลย์ แกะสลักด้วยไม้สักทองขนาดใหญ่ทั้งองค์ มีพระพักตร์งามสงบเปี่ยมด้วยเมตตา มีขนาดหน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูงจากฐานถึงยอดเกศาประมาณ 9 ศอก

องค์พระประดิษฐานบนสิงหบัลลังก์ไม้ประดับลวดลายและกระจกสี งามอลังการด้วยไม้ฉลุศิลปะพม่า เป็นลวดลายเครือเถา ทั้งยังมีกามเทพตัวน้อย (คิวปิด) เทพแห่งความรัก8 องค์ แกะสลักอยู่ในด้านหลังพระประธานด้วย คาดว่าได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก เพราะสร้างในสมัยที่พม่าเป็นคนในบังคับของอังกฤษ และมีลวดลายสัตว์หิมพานต์เป็นนางนกกิงกะหร่า (กินรี)

พระพักตร์พระประธานที่เปี่ยมด้วยเมตตา
พระพักตร์พระประธานที่เปี่ยมด้วยเมตตา

กามเทพแกะสลักด้านหลังพระประธาน
กามเทพแกะสลักด้านหลังพระประธาน

การที่มีกามเทพน้อยทั้ง8 องค์อยู่ด้านหลังองค์พระนี้ทำให้บางคนมากราบพระและถือโอกาสไหว้ขอพรในเรื่องของความรักในคราวเดียวกัน และกามเทพน้อยนี่เองที่ทำให้วัดนันตารามได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 25 UNSEEN New Series ในครั้งนี้

พระเจ้าแสนแซ่
พระเจ้าแสนแซ่

นอกจากนั้นภายในวิหารยังมีพระพุทธรูปสำคัญอีกหลายองค์ อาทิ พระเจ้าแสนแส้ พระพุทธรูปเก่าแก่เนื้อทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 19 นิ้ว สูง 24 นิ้ว สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบเชียงแสน องค์พระสามารถถอดประกอบเป็นชิ้นๆ ได้โดยมีสลัก หรือแซ่ ตอกให้ชิ้นส่วนขององค์พระเชื่อมติดกันอย่างมั่นคง ปัจจุบันกรมศิลปากรจดทะเบียนรับรองเป็นโบราณวัตถุ

นอกจากนั้นพระพุทธรูปหยกขาวงดงามศิลปะพม่า พระพุทธรูปเกสรดอกไม้ที่สร้างจากดอกไม้หอมนานาชนิดในเมืองตองจี ประเทศพม่า ซึ่งนำมาตากแห้งและบดให้ละเอียดผสมกับยางรัก เถ้าฟางเผาคลุกกับดินจอมปลวก แล้วปั้นเป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทอง ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร