ธปท.เข้ม รวมหนี้ข้ามแบงก์ กดดอกเบี้ยต่ำ ลดกู้นอกระบบ ฉุด “หุ้นธนาคาร” ร่วงระนาว

ธปท.เข้ม รวมหนี้ข้ามแบงก์ กดดอกเบี้ยต่ำ ลดกู้นอกระบบ ฉุด “หุ้นธนาคาร” ร่วงระนาว

  • 0 ตอบ
  • 65 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Joe524

  • *****
  • 2320
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 



ทุกข์สาหัสของประชาชนคนไทยในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกเหนือจากการทำมาหารายได้ฝืดเคืองสุดๆ แล้ว ปัญหาที่สาหัสสากรรจ์คงหนีไม่พ้นเรื่องหนี้สิน เพราะจะว่าไปคนส่วนใหญ่ล้วนแต่มีภาระหนี้ทั้งผ่อนบ้าน ผ่อนรถ กู้ยืมเพื่อการศึกษา จับจ่ายใช้สอย ซึ่งในภาวะปกติที่มีกระแสเงินสดเข้ามาเติมไม่ขาด มีเงินหมุนในมือทุกอย่างก็พอไปได้ แต่เมื่อเจอพิษโควิด-19 การผ่อนหนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ไม่ว่าจะเป็นหนี้ส่วนบุคคลของประชาชนคนธรรมดา หรือผู้ประกอบการที่กู้แบงก์มาลงทุน 

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ นาๆ เพื่ออุ้มลูกหนี้ให้รอดพ้นวิกฤต แต่สถานการณ์โดยรวมยังไม่สามารถบรรเทาเบาบางลง เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังหนักหนาสาหัส ธุรกิจต่างๆ ยังไม่สามารถกลับมาเปิดกิจการได้เต็มร้อย การทำมาหากินยังฝืดเคือง ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งในระบบและนอกระบบเดินหน้าไม่หยุด

ในที่สุด  ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ จึงต้องงัดมาตรการให้มี  การรวมหนี้ (Debt Consolidation) ระหว่างสถาบันการเงิน สำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน กับสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อบัตรเครดิต รวมกับสินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถยนต์ เป็นต้น เพื่อลดภาระของลูกหนี้ ตามที่  น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์  ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่ามาตรการรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงินจะออกมาในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2564 เพิ่มเติมจากมาตรการก่อนหน้าที่อนุญาตให้รวมหนี้ที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงินเดียวกันเท่านั้น

 ในเบื้องต้นแบงก์ชาติดคาดว่า หากลูกหนี้สามารถรวมหนี้สินเชื่อไม่มีหลักประกันกับสินเชื่อที่มีหลักประกันได้ จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจากระดับสูงให้ลดลงเหลือต่ำกว่า 10% โดยปัจจุบันเพดานหนี้บัตรเครดิต อยู่ที่ 16-18% สินเชื่อบุคคล อยู่ที่ 25% สินเชื่อจำนำทะเบียน อยู่ที่ 24% และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ อยู่ที่ 33% ซึ่งมาตรการที่ออกมานี้ จะกำหนดไม่ให้สถาบันการเงินคิดค่าธรรมเนียมชำระเงินกู้คืนก่อนครบกำหนด (Prepayment Fee) ด้วย 

“ปัจจุบันอาจจะมีนอนแบงก์ ที่ไม่ได้มีหนี้ที่มีหลักประกัน ซึ่งเมื่อมีมาตรการนี้อาจทำให้ลูกหนี้โอนมารวมกับสถาบันการเงินได้ ซึ่งนอนแบงก์เองก็ต้องยอมปล่อยลูกหนี้ออกมา จะบังคับไม่ให้ปิดหนี้เดิมไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า เมื่อมีเงินไปปิดหนี้สถาบันการเงินก็ต้องรับ โดยในครั้งนี้ ธปท.จะเพิ่มหลักเกณฑ์ในเรื่องห้ามคิดค่าธรรมเนียมชำระคืนเงินกู้ก่อนครบกำหนดด้วย” น.ส.สุวรรณี กล่าว

นางสาวสุวรรณี กล่าวว่า ภายใต้ภาวะที่ความเสี่ยงยังอยู่ในระดับสูง จะต้องเน้นการเลือกใช้มาตรการที่ตรงจุด และไม่ส่งผลกระทบเชิงลบหรือผลข้างเคียงต่อระบบการเงิน เพื่อให้ระบบการเงินและระบบสถาบันการเงินยังทำงานได้ตามปกติและหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้ไปต่อได้ ขณะที่ไม่ทำให้ลูกหนี้กลุ่มเสี่ยงและเปราะบางถูกผลักไปอยู่นอกระบบ ดังนั้น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้พร้อมการให้แรงจูงใจเพิ่มเติม มาตรการเพิ่มเงินใหม่ รวมถึงมาตรการรวมหนี้จะเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุด และระบบสถาบันการเงินยังสามารถส่งผ่านความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับความคืบหน้าของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ณ สิ้นเดือน กรกฎาคม 2564 มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือภายใต้มาตรการทั้งสิ้น 5.12 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ 3.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินและมิใช่สถาบันการเงิน 2 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 2.1 ล้านล้านบาท และลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3.12 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 1.25 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อรวมลูกหนี้ของสถาบันการเงินและมิใช่สถาบันการเงินที่เข้ามาตรการเร่งด่วนพักชำระหนี้ มีมากกว่า 3 ล้านบัญชี

นอกจากนี้ ธปท.ได้อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้วทั้งสิ้น 106,156 ล้านบาท ถึงเป้าหนึ่งแสนล้านบาทเร็วกว่ากำหนด โดยสินเชื่อกระจายตัวได้ดีและครอบคลุมลูกหนี้จำนวน 34,538 ราย เฉลี่ยรายละ 3.07 ล้านบาท เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี 44.3% ประกอบธุรกิจการพาณิชย์และบริการ 67.2% และเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด 68.4% ในส่วนของโครงการพักทรัพย์พักหนี้ มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 15,167 ล้านบาท ผู้ได้รับความช่วยเหลือ 106 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม โรงงาน และสปา

สำหรับธุรกิจโรงแรมและที่พัก มีลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ได้รับความช่วยเหลือภายใต้มาตรการ 2.83 แสนล้านบาท คิดเป็น 65% ของสินเชื่อธุรกิจโรงแรมและที่พัก ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 61% การช่วยเหลืออื่น เช่น พักชำระหนี้ หรือลดภาระหนี้ระยะสั้น 34% และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ 5% อีกทั้งยังมีการให้สินเชื่อใหม่เพื่อเสริมสภาพคล่องกว่า 18,000 ล้านบาท



 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์  ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า นอกจากมาตรการรวมหนี้ (Debt Consolidation) ระหว่างสถาบันการเงิน ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ธปท.เตรียมออกมาตรการจูงใจแก่สถาบันการเงินเพิ่มเติม จากปัจจุบันให้สิทธิประโยชน์แก่ธนาคารที่ลดภาระดอกเบี้ยลงมาเทียบเท่ากับสินเชื่อที่มีหลักประกันให้กับลูกหนี้ ได้แก่ ผ่อนคลายการจัดชั้นสำรองหนี้ และการนำอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงมานับรวมกับค่าธรรมเนียมเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF Fee) โดยมาตรการใหม่จะช่วยลดน้ำหนักความเสี่ยงของธนาคาร เพื่อสร้างแรงจูงใจและลดต้นทุนการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ซึ่ง ธปท.ได้หารือกับสถาบันการเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะเสนอเข้าคณะกรรมการ ธปท.เพื่อพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม มาตรการรวมหนี้ที่แบงก์ชาติกำลังเตรียมทำคลอดออกมาในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้นั้น มีความจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ประชาชนและสถาบันการเงินถึงประโยชน์และความเสี่ยงของการรวมหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาลูกหนี้กังวลว่าทรัพย์สิน เช่น บ้าน หรือรถ อาจถูกยึดหากรวมหนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากไม่ทำการรวมหนี้ และหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมีมูลค่าสูงมากอาจส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินของลูกหนี้ในะระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ธปท. ได้ย้ำถึงความสำคัญของมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่ออกมาล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดได้รับการแก้ไขหนี้เดิมด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่  “มองยาว” ให้สอดคล้องกับรายได้ เพื่อช่วยลดภาระต่อเดือนและทำให้ลูกหนี้เหลือสภาพคล่องมากขึ้น แม้จะทำให้ระยะเวลาชำระหนี้ขยายออกไป แต่ก็ไม่กลายเป็นหนี้เสีย และผลักดันให้แบงก์ช่วยลูกหนี้มากกว่ายืดหนี้ เช่น ลดดอกเบี้ยค้างรับ หรือปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกับให้เม็ดเงินใหม่ตามอาการของลูกหนี้

ขณะเดียวกัน ธปท. ยังมีแนวทางเพิ่มเติมเพื่อเสริมประสิทธิภาพของมาตรการต่าง ๆ โดยยึดหลักคิด คือ หนึ่ง  “ไปให้ถึง”  โดยเพิ่มการประสานงานเชิงรุกกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อหาทางออกรูปแบบใหม่ๆ กรณี Lineman X Wongnai กับธนาคารออมสิน  ที่ ธปท. ประสานงานให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้ธุรกิจร้านอาหารและกลุ่มไรเดอร์เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

รวมทั้งการไกล่เกลี่ยหนี้ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. กระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด การเพิ่มช่องทางสื่อสารรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ ผ่านช่องทาง Clubhouse, Line official, Facebook และ 1213 รวมถึงการให้คำปรึกษาเชิงลึก เช่น โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน

สอง  “ช่วยให้มากที่สุด” ผ่านการออกมาตรการเพิ่มเติมต่อเนื่องตามสถานการณ์ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุด โดย ธปท. สนับสนุนการทำ Refinance และการรวมหนี้ระหว่างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยของลูกหนี้ และ สาม “ระบบการเงินเดินต่อไปได้”  โดยภายใต้ภาวะที่ความเสี่ยงยังอยู่ในระดับสูง จะต้องเน้นการเลือกใช้มาตรการที่ตรงจุด และไม่ส่งผลกระทบเชิงลบหรือผลข้างเคียงต่อระบบการเงิน

แม้ว่ามาตรการรวมหนี้ที่แบงก์ชาติประกาศออกมาจะเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ แต่ราคาหุ้นในกลุ่มแบงก์กลับตอบรับมาตรการดังกล่าวในเชิงลบจากความกังวลถึงความไม่แน่นอน โดยความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นไทย เมื่อวันที่ 28 กันยายน ซึ่งเป็นวันถัดมาหลังแบงก์ชาติเตรียมออกมาตรการรวมหนี้ ตลาดหุ้นปิดที่ 1,616.50 จุด ปรับตัวลดลง 3.52 จุด หรือ -0.22% มีมูลค่าการซื้อขายรวมที่ 98,947.17 ล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) ทั้งหมดปรับตัวร่วง เช่น CIMBT ลดลง 6.19%, TTB ลดลง 2.61%, SCB ลดลง 2.34%, BAY ลดลง 2.22%, KTB ลดลง 1.75%, KBANK ลดลง 1.48%, KKP ลดลง 1.36%, TISCO ลดลง 0.81%, LHFG ลดลง 0.67% และ BBL ลดลง 0.42% โดยนักวิเคราะห์มองว่าการรวมหนี้ข้ามแบงก์กันได้และผ่อนยาวได้ ซึ่งต่อยอดจากมาตรการที่ออกมาก่อนหน้าที่ให้รวมหนี้ในสถาบันการเงินเดียวกัน ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลจากปัจจัยใหม่ที่มีความไม่แน่นอน จึงเกิดแรงเทขายทำกำไร อย่างไรก็ตาม ในวันถัดมา หุ้นแบงก์เช่น กสิกรไทย ปรับราคาขึ้นและวอลุ่มซื้อขายนำตลาด

สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ก่อนหน้านั้น แบงก์ชาติได้ร่วมกับสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ โดยลูกหนี้สามารถนำสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่อยู่ภายใต้ผู้ให้บริการทางการเงิน หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของผู้ให้บริการทางการเงินเดียวกัน เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อที่เกิดจากการให้เช่าซื้อ มารวมหนี้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ประโยชน์จากหลักประกัน ซึ่งจะทำให้สามารถลดอัตราดอกเบี้ยในส่วนของสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นให้เหลือไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามความสามารถของลูกหนี้

ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับจากการรวมหนี้ช่วยลดภาระการชำระหนี้โดยที่ลูกหนี้ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิตไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใด รวมทั้งไม่ต้องจ่ายเบี้ยปรับการชำระหนี้ก่อนกำหนด และยังสามารถใช้วงเงินบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีลักษณะหมุนเวียนที่ยังเหลือได้

มาตรการรวมหนี้ของสถาบันการเงินเดียวกันหรือมาตรการรวมหนี้ข้ามแบงก์ที่ออกมาล่าสุดนั้น ทางฟากฝั่งของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ได้ล้ำหน้าไปก่อนแล้วด้วยการแห่อัดแคมเปญ  “สินเชื่อบุคคลรวมหนี้”  เพื่อดูดลูกค้าจากสถาบันการเงินคู่แข่ง และช่วยลดภาระลูกหนี้ในยามวิกฤตซึ่งตรงกับความต้องการของลูกค้ามากกว่าความต้องการขอสินเชื่อใหม่ โดยธนาคารที่มีแคมเปญรวมหนี้ เช่น  ธนาคารไทยพาณิชย์  ที่มีแคมเปญ  “หนี้หนัก ๆ ผ่อนให้เป็นเบาได้ รวบหนี้บัตรกับ SCB ผ่อนสบายสูงสุด 72 เดือน” อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 9.99% ต่อปี (ดอกเบี้ย 9.99% เฉพาะเดือนที่ 1-12 สำหรับลูกค้าที่เป็นพนักงานประจำ ที่โอนหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคล ของสถาบันการเงินอื่น ที่ได้รับวงเงินตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป)

ด้าน  ธนาคารกสิกรไทย  โปรโมตสินเชื่อเงินด่วน XPRESS LOAN “เงินก้อนทันใจ ปิดหนี้หมดไว สบายตัว เงินยังเหลือใช้” โดยลูกค้าสามารถใช้รวมหนี้ หรือปิดหนี้ก็ได้ ซึ่งผู้มีเงินเดือน 7,500 บาท ก็สามารถกู้ได้แบบไม่ต้องค้ำประกัน ส่วนธนาคารซิตี้แบงก์ มี “สินเชื่อบุคคลธนาคารซิตี้แบงก์ รวมหนี้เพื่อลดภาระหนี้” อัตราดอกเบี้ยเลือกได้ต่ำสุด 13.99% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 60 เดือน ไม่ต้องค้ำประกัน อนุมัติวงเงินสูงสุด 2 ล้านบาท

ขณะที่  ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย  เสนอ  “รวมหนี้เป็นก้อนเดียวภาระเบากว่า”  ด้วยสินเชื่อบุคคลอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 9.99% ต่อปี นานสูงสุด 120 วัน วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาท ผ่อนชำระขั้นต่ำ 3% เงื่อนไขต้องเป็นพนักงานประจำเงินเดือน 3 หมื่นบาทขึ้นไป

มาดูว่า สถานะ “หนี้ครัวเรือน”  ของไทย หนักหนาสาหัสเพียงใด ล่าสุด ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ออกรายงานเมื่อกลางเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมาว่า หนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ในภาวะเปราะบาง ด้วยสัดส่วนหนี้เพื่อการบริโภคที่สูงขึ้น จึงเป็นปัญหากระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทางออกคือการปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงจุดและเน้นการรวบหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 หนี้ครัวเรือนของไทยมีการปรับตัวสูงมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 80% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2562 เป็น 90.5% ของจีดีพี ณ ไตรมาส 1/2564 และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศระลอก 3 ที่ลุกลามยืดเยื้อมาจนถึงครึ่งหลังของปี 2564 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93.0% ณ สิ้นปี 2564

สาเหตุจากความจำเป็นในการก่อหนี้เพิ่มเนื่องจากขาดสภาพคล่อง รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติในช่วงล็อกดาวน์ การถูกปรับลดเงินเดือน ถูกเลิกจ้าง ฯลฯ สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนไทย ณ ต้นปี 2564 ที่ขยายตัว 4.6% จากระยะเดียวกันกับปี 2563 โดยไทยมีปริมาณหนี้ครัวเรือนอยู่อันดับที่ 17 ของโลก ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน คือ เกาหลีใต้และมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับที่ 9 และ 14 ตามลำดับ โดยเกาหลีใต้มีหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 93.9% ของจีดีพี เป็น 103.8% ณ ต้นปี 2564 และมาเลเซียที่เพิ่มจาก 82.7% เป็น 93.2%

ความเปราะบางของหนี้ครัวเรือนของไทย ดูจากประเภทของหนี้ที่ประกอบด้วย สัดส่วนหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 47% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เช่น หนี้บ้านและรถยนต์ และสัดส่วนหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 35% เช่น หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป รวมถึงหนี้เพื่อการศึกษา และส่วนที่เหลืออีก 18% เป็นหนี้รายย่อยเพื่อธุรกิจครัวเรือน

ขณะที่สภาพเศรษฐกิจโดยรวม  นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล  ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนสิงหาคม 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม 2564 ส่งสัญญาณชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีสัญญาณชะลอตัวลง เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2564 ลดลงที่ร้อยละ -35.0 และ -29.2 ต่อปี ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลลดลงร้อยละ -19.0 และ -21.9 ตามลำดับสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 39.6 จากระดับ 40.9 ในเดือนกรกฎาคม 2564 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังไม่คลี่คลาย

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 12.4 ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามมูลค่าการนำเข้าสินค้า นอกจากนี้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.9 ต่อปี

ด้าน “นางสาวกุลยา ตันติเตมิท  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจกรคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 – สิงหาคม 2564) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 2,105,023 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 285,670 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.9 และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 57,292 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6

โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ต่ำกว่าประมาณการ 186,921 84,998 และ 19,026 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.4 14.7 และ 12.4 ตามลำดับ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ประกอบกับมีการดำเนินนโยบายการคลังและภาษีเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องและบรรเทาภาระแก่ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลต่ำกว่าที่ประมาณการไว้

ขณะที่ฐานะการคลังของรัฐตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 – สิงหาคม 2564) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้นจำนวน 2,144,766 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 2,905,931 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 675,210 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 499,342 ล้านบาท

 ...เห็น “สารพัดตัวเลข” แล้ว คงประเมินกันได้กระมังว่า สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยจะดำเนินไปในทิศทางใด