10 ไฮไลท์ บน “ภูกระดึง” ตำนานแห่งภูภาคอีสาน

10 ไฮไลท์ บน “ภูกระดึง” ตำนานแห่งภูภาคอีสาน

  • 0 ตอบ
  • 74 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Fern751

  • *****
  • 2936
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




“ภูกระดึง” ได้ชื่อว่าเป็น “ตำนานแห่งภูภาคอีสาน” เป็นสถานที่เดินป่าขึ้นเขาระดับตำนานรุ่นแรก ๆ นักท่องเที่ยวหลายคนที่เคยขึ้นมาเป็นผู้พิชิตภูแห่งนี้ นอกจากจะประทับใจในมนต์เสน่ห์ของธรรมชาติแล้ว ยัง (เคย) มีความหลังความทรงจำอันแสนหวาน ณ ที่แห่งนี้

...รอยยิ้ม คำทักทาย น้ำมิตร เพื่อนใหม่ รวมไปถึงรักแรกพบ นับเป็นความทรงจำแห่งภูกระดึงที่น่าประทับใจกระไรปานนั้น...

ภูกระดึง ขุนเขารูปหัวใจ

ภูกระดึง มนต์เสน่ห์ขุนเขารูปหัวใจ (ภาพจาก : gistda.or.th)
ภูกระดึง มนต์เสน่ห์ขุนเขารูปหัวใจ (ภาพจาก : gistda.or.th)

ภูกระดึง เป็นหนึ่งในภูเขาอันน่าอัศจรรย์ของบ้านเรา เขาลูกนี้เป็นภูเขาหินทรายยอดตัดราบกว้างขวาง มีพื้นที่ราว 60 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ ป่าดงดิบ และทุ่งหญ้าป่าสน (ราว 1 ใน 4) ที่อยู่ทางฝั่งทิศใต้ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดพื้นที่ให้คนขึ้นไปเที่ยว

ที่ราบบนยอดภูกระดึงมีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 400-1,200 เมตร และมียอดสูงสุด ตั้งอยู่บนความสูง 1,288 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ยอดภูกระดึงมีลักษณะคล้าย “ใบบอน” มีปลายแหลมทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และมนเว้าหยักเข้ามาทางฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ทุ่งหญ้า ป่าสน ลักาษะกายภาพอันโดดเด่นของภูกระดึง
ทุ่งหญ้า ป่าสน ลักาษะกายภาพอันโดดเด่นของภูกระดึง

สมัยก่อนคนจะบอกกันว่าภูกระดึงมีสัณฐานเหมือนดัง “กระดิ่งทับหล้า” ซึ่งปรากฏในเพลง “ภูกระดึง” อันสุดคลาสสิกของวงสุนทราภรณ์

กระดึง (ภาษาถิ่น) มาจาก “กระดิ่ง” ที่หมายถึงระฆังใหญ่ ภูกระดึงจึงอาจหมายถึงเขาระฆังใหญ่ เพราะมีเรื่องเล่าว่า ในวันพระชาวบ้านมักได้ยินเสียงระฆังหรือกระดิ่ง ดังมาจากบนเขาลูกนี้เสมอ โดยบ้างก็เล่ากันว่านี่คือเสียง “ระฆังของพระอินทร์”

มาในยุคปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนคำเรียกขานรูปร่างสัณฐานของภูกระดึงจากกระดิ่งทับหล้าหรือใบบอน มาเป็นรูป “หัวใจ”แทน เพื่อความเข้าใจง่าย และเพื่อให้เป็นกิมมิกทางการท่องเที่ยว โดยนิยมเรียกขานกันว่า “ภูกระดึง ขุนเขารูปหัวใจ” หรือ “ภูกระดึง ยอดเขารูปหัวใจ”

10 ไฮไลท์บนยอดภูกระดึง

เส้นทางเดินขึ้นเขาผ่านซำต่าง ๆ เพื่อพิชิตยอดภูกระดึง 
เส้นทางเดินขึ้นเขาผ่านซำต่าง ๆ เพื่อพิชิตยอดภูกระดึง

การจะขึ้นไปสัมผัสหัวใจบนยอดภูกระดึง เราต้องเดินขึ้นเขาในเส้นทางขึ้นภู (ที่บ้านศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย) ในระยะทางประมาณ 5.5 กม. ซึ่งปัจจุบันแม้ยังคงเป็นเส้นทางเดินขึ้นเขาที่สูงชัน แต่มีการทำทางเดินที่ค่อนข้างสะดวก ไม่ยากลำบากโหดหินอย่างคำร่ำลือ แถมระหว่างทางยังมีจุดแวะพัก มีร้านค้าให้เติมพลัง ตาม “ซำ” ต่าง ๆ อาทิ ซำแฮก ซำบอน ซำกกกอก ซำกกโดนและ ซำแคร่ เป็นต้น

เมื่อเดินขึ้นเขาผ่านซำต่าง ๆ แล้วก็จะมาถึงบนยอดภูกระดึง ภูเขาหัวตัดที่มีจุดท่องเที่ยวมากหลาย และนี่ก็คือ 10 ไฮไลท์ ไม่ควรพลาดบนยอดภูกระดึง ซึ่งจะมีอะไรบ้างขอเชิญทัศนากันได้

ป้ายต้อนรับนักท่องเที่ยวแห่งหลังแป 
ป้ายต้อนรับนักท่องเที่ยวแห่งหลังแป

1.หลังแป : เป็นจุดเหยียบสัมผัสแรกบนยอดภูกระดึง ที่ตั้งอยู่บนความสูง 1,288 เมตรจากระดับน้ำทะเล (ยอดสูงสุด) บนนี้ขุนเขารูปหัวใจต้อนรับเราด้วยป้าย “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” หนึ่งในป้ายแหล่งท่องเที่ยวต้องห้ามพลาด เพราะมันมีความหมายและคุณค่าต่อผู้ที่ดั้นด้นเดินขึ้นมาเป็นอย่างยิ่ง

ลานกางเต็นท์วังกวาง
ลานกางเต็นท์วังกวาง

2.วังกวาง หรือศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง : อยู่ห่างจากหลังแป 3.5 กม. ที่นี่เป็นศูนย์รวมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ หนึ่งเดียวบนยอดภูกระดึง มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ลานกางเต็นท์ บ้านพัก ร้านค้า ร้านอาหาร ห้องน้ำ-ส้วม รวมถึงเป็นจุดรับ-ส่งสัมภาระ นัดแนะลูกหาบกันที่นี่

วังกวางแม้ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว แต่ที่นี่เป็นอีกหนึ่งชมทะเลดาวยามราตรีที่สวยงามมาก

พระอาทิตย์ตกที่ผาหมากดูก 
พระอาทิตย์ตกที่ผาหมากดูก

3.ผาหมากดูก : อยู่ห่างจากศูนย์ฯ วังกวาง ประมาณ 2 กม.นักท่องเที่ยวนิยมมาชมพระอาทิตย์ตกกันที่นี่ในเย็นวันแรกที่เดินทางมาถึง หรือบางคนที่มาทริประยะสั้น 2 วัน 1 คืน ไม่มีเวลาและแรงเดินไปผาหล่มสัก ก็จะเลือกมาชมพระอาทิตย์ตกที่ผาแห่งนี้แทน ซึ่งสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของผืนป่าในอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวได้อย่างสวยงาม

นักท่องเที่ยวมารอชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น 
นักท่องเที่ยวมารอชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น

4.ผานกแอ่น : อยู่ห่างจากศูนย์ฯวังกวาง 1.2 กม. ที่นี่เป็นไฮไลท์จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามบนยอดภูกระดึง ที่นี่เป็นหน้าผาเล็ก ๆ มีต้นสนขึ้น 2-3 ต้น ริมหน้าผาเสริมแต่งองค์ประกอบ วันไหนฟ้าเป็นใจจะเห็นทะเลหมอกลอยอ้อยอิ่งสวยงาม ส่วนวันฟ้าเปิดจะเห็นวิวทิวทัศน์ของบ้านศรีฐาน และผานกเค้าตั้งเด่นตระหง่าน

พระพุทธรูปยืน ที่ลานพระแก้ว 
พระพุทธรูปยืน ที่ลานพระแก้ว

5.ไหว้พระ : บนภูกระดึงมีพระพุทธรูปให้กราบสักการะอยู่ 2 จุดด้วยกัน คือ ที่ “ลานพระแก้ว”เป็นพระพุทธรูปยืน หลังชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น สามารถมาแวะไหว้พระยืนที่นี่ได้

ส่วนอีกจุดหนึ่งคือ “องค์พระพุทธเมตตา” ที่ตั้งอยู่ห่างจากศูนย์ วังกวางเพียง 500 เมตร เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยประดิษฐานโดดเด่นอยู่บนลานหินธรรมชาติพื้นเรียบ

พระพุทธเมตตา พระพุทธรูปเก่าแก่คู่ภูกระดึง
พระพุทธเมตตา พระพุทธรูปเก่าแก่คู่ภูกระดึง

พระพุทธเมตตา เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่ภูกระดึงมีอายุกว่า 100 ปี สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2463 โดยนายอำเภอวังสะพุง (สมัยนั้นภูกระดึงยังอยู่ในเขตปกครองของ อ.วังสะพุง) เพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านแถบภูกระดึง ต่อมาในปี 2536 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะบริเวณโดยรอบ พร้อมทั้งพระราชทานนามพระพุทธรูปนี้ว่า “พระพุทธเมตตา”

นักท่องเที่ยวสามารถแวะไหว้พระพุทธเมตตาได้ทั้งช่วงเย็นขาไปชมพระอาทิตย์ตกที่ผาหมากดูก หรือช่วงสายในเส้นทางไป “สระอโนดาต-ผาหล่มสัก”
11 กระดิ่ง ระฆัง ที่นำท่องเที่ยวนำไปแขวนขอพร แก้บน ที่ลานพระแก้ว
วันนี้ทั้งพระพุทธรูปยืนลานพระแก้ว และองค์พระพุทธเมตตา จะมีนักท่องเที่ยวนิยมมาขอพร แก้บน ด้วยการแขวนกระดิ่ง (กระดึง) หรือ ระฆัง ที่ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของภูกระดึงแห่งนี้

6.ป่าสน : ทุ่งหญ้า ป่าสน เป็นลักษณะทางกายภาพอันโดดเด่นบนยอดภู ในพื้นที่ที่เปิดให้ท่องเที่ยว

ป่าสนบนภูกระดึง มีทั้งสน 2 ใบ และ สน 3 ใบ สามารถพบเห็นขึ้นกระจายตัวอยู่ทั่วไป โดยตามริมผาจะมีต้นสนขึ้นประดับในองค์ประกอบ นอกจากนี้ในเส้นทางเดินเลียบผา หรือ เส้นทางวังกวาง-สระอดาต-ผาหล่มสัก ก็มีป่าสนยืนต้นตระหง่านโดดเด่นให้โพสต์ท่าถ่ายรูปกันอย่างเพลิดเพลิน

ป่าสน เป็นอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์แห่งภูกระดึง 
ป่าสน เป็นอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์แห่งภูกระดึง

สำหรับการดูสนบนนี้ (หรือที่อื่น ๆ ) ว่าเป็นสน 2 ใบ หรือ 3 ใบ ถ้าไม่ดูที่ใบได้ เนื่องจากยืนอยู่ในระยะไกลสังเกตยาก ก็ให้ดูที่ลำต้น สน 2 ใบ จะมีเปลือกเป็นสีน้ำตาลเข้มออกดำ ร่องเปลือกเป็นสี่เหลี่ยมแตกรอยร่องลึก ส่วนสน 3 ใบ เปลือกจะมีสีน้ำตาลอ่อน ร่องเปลือกแตกร่อนเป็นสะเก็ดใหญ่ และมีรอยร่องตื้น ต่างจากสน 2 ใบ ชัดเจน

7.น้ำตก : ไม่น่าเชื่อว่าบนยอดเขารูปหัวใจแห่งนี้ที่เป็นที่ราบตัด จะมีน้ำตกมากถึงกว่า 10 แห่ง (รวมในป่าปิดด้วย)

น้ำตกโผนพบ 
น้ำตกโผนพบ

สำหรับน้ำตกที่สามารถเที่ยวได้เองงบนภูกระดึง (ไม่ใช่น้ำตกในป่าปิด) จะอยู่บริเวณรอยต่อของทุ่งหญ้า-ป่าสนกับป่าดงดิบ (หรือป่าปิด) โดยจะมีเส้นทางเดินเที่ยวน้ำตกอยู่ทางทิศเหนือของศูนย์ฯ วังกวางให้เดินเที่ยวกัน ไล่ไปตั้งแต่ “น้ำตกวังกวาง” (ใกล้ที่พัก) ที่ในอดีตกวางชอบมากินน้ำที่นี่

จากนั้นก็เป็น “น้ำตกเพ็ญพบใหม่”ที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ “น้ำตกโผนพบ” ที่ตั้งชื่อตามชื่อผู้ค้นพบน้ำตก คือ “โผน กิ่งเพชร” แชมป์โลกคนแรกของเมืองไทย

น้ำตกเพ็ญพบ
น้ำตกเพ็ญพบ

ส่วนใกล้ ๆ กัน เป็น “น้ำตกเพ็ญพบ” มีลักษณะเป็นแนวหิน 3 ชั้น มีน้ำตกไหลลดระดับลดหลั่นลงมาบนแอ่งน้ำกว้างใหญ่ สวยงามน่าเล่นมาก ๆ

นอกจากนี้ในเส้นทางสายนี้ยังมีน้ำตกอื่น ๆ ที่ชวนเที่ยวชม อีก ได้แก่ น้ำตกถ้ำใหญ่ น้ำตกธารสวรรค์ น้ำตกพระองค์ น้ำตกถ้ำสอเหนือ ขณะที่ป่าปิดมี 2 น้ำตกงาม คือ น้ำตกผาน้ำผ่า และ น้ำตกขุนพอง

8.เมเปิ้ลแดง : ยอดภูกระดึงเป็นผืนป่าบนที่สูง มีอากาศหนาวเย็น บนนี้จึงมีไม้เมืองหนาวอย่าง “เมเปิ้ล” (maple) ขึ้นอยู่ไม่น้อยเลย

เมเปิ้ลแดง บริเวณน้ำตกเพ็ญพบใหม่ (ภาพจาก : เพจ อช.ภูกระดึง) 
เมเปิ้ลแดง บริเวณน้ำตกเพ็ญพบใหม่ (ภาพจาก : เพจ อช.ภูกระดึง)

เมเปิล หรือ “ก่วมแดง” หรือ “ไฟเดือนห้า” บนภูกระดึง จะมีการเปลี่ยนใบจากเขียวเป็นสีแดงสดใสในช่วงราวเดือน ธ.ค.-ก.พ. (ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศปีนั้น ๆ)

สำหรับจุดชมใบเมเปิลแดงบนภูกระดึง ที่เด่น ๆ ก็มีบริเวณหลังแป บ้านพักอุทยาน และในเส้นทางสายน้ำตก ได้แก่ บริเวณน้ำตกเพ็ญพบใหม่ และ น้ำตกถ้ำใหญ่ ที่มีความสวยงามทั้งยามเมื่อใบเปลี่ยนสีแดงเต็มต้น และยามเมื่อใบร่วงหล่นเกลื่อนเป็นสีแดงเต็มตามพื้นดิน ก้อนหิน ลำธาร ดูเหมือนพรมแดงผืนใหญ่ในป่าเขียวขจีที่น่าประทับใจไม่น้อย

สระอโนดาต
สระอโนดาต

9.สระอโนดาต : สระน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากศูนย์ฯ วังกวางราว 3.4 กม. มีน้ำตลอดทั้งปี มีสน 2 ใบ และ 3 ใบ ขึ้นบริเวณรอบสระ ในวันฟ้าเปิดเป็นใจ จะมองเห็นภาพสระอโนดาตน้ำใสแจ๋วสะท้อนเงาท้องฟ้า ก้อนเมฆ และแมกไม้ ต้นสน ดูมีเสน่ห์ยิ่งนัก

10.ผาหล่มสัก : บนยอดภูกระดึงมีหน้าผาจุดชมวิวอยู่หลายจุดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น บริเวณหลังแป ผาจำศีล ผานาน้อย ผาเหยียบเมฆ ผาแดง ผาหมากดูก และผานกแอ่น แต่หน้าผาที่เป็นไฮไลท์ที่สุด ซึ่งเป็นดังสัญลักษณ์ ภาพจำ ก็คือ “ผาหล่มสัก” สถานที่ต้องห้ามพลาดบนภูกระดึง

ผาหล่มสัก สถานที่ท่องเที่ยวต้องห้ามพลาดแห่งภูกระดึง 
ผาหล่มสัก สถานที่ท่องเที่ยวต้องห้ามพลาดแห่งภูกระดึง

ผาหล่มสัก ตั้งอยู่ห่างจากศูนย์ฯ วังกวางราว 9 กม. เป็นหนึ่งในจุดชมพระอาทิตย์ตกระดับตำนานเลื่องชื่อของเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของภูกระกระดึงอันโด่งดัง

ผาหล่มสัก มีลักษณะเป็นลานหินกว้าง มีชะง่อนผาหรือแท่นหิน ยื่นแหลมออกไปจากแผ่นดินแนวผา พร้อมทั้งมีต้นสนเดียวดายยืนเด่นทระนงเคียงคู่ นับเป็นองค์ประกอบที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ได้อย่างลงตัว ดึงดูดให้นักเดินทางรุ่นแล้วรุ่นเล่าเดินทางขึ้นยอดภูกระดึง เพื่อมาชมและถ่ายรูป พระอาทิตย์ตกที่ผาหล่มสัก จนมีคำกล่าวว่า ถ้าใครมาเที่ยวภูกระดึงแล้ว ไม่ได้ไปผาหล่มสักก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึงภูกระดึงโดยสมบูรณ์

ลูกหาบ เบื้องหลังความสำเร็จของเหล่าบรรดาผู้พิชิตภูกระดึง 
ลูกหาบ เบื้องหลังความสำเร็จของเหล่าบรรดาผู้พิชิตภูกระดึง

และนี่ก็คือ 10 ไฮไลท์บนภูกระดึง ซึ่งล้วนแต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลัก ๆ พื้นฐานที่นักท่องเที่ยวรุ่นแล้วรุ่นเล่าต่างเคยผ่านการเป็นผู้พิชิตสถานที่เหล่านั้นบนยอดภูกระดึงมาแล้วทั้งสิ้น

สำหรับภูกระดึงแล้ว นี่คือตำนานแห่งภูภาคอีสาน เป็นสถานที่เดินป่าขึ้นเขาระดับตำนานรุ่นแรก ๆ

นักท่องเที่ยวหลายคน มีความหลังความทรงจำแสนหวานที่นี่

...หลายคู่มาพบรักสมหวังกันที่ภูกระดึง...

...และหลายคู่ก็มาเลิกรักร้างลากันที่ “ภูกระดึง”...


ทุก ๆ ปี “อุทยานแห่งชาติภูกระดึง” จะปิดยอดภูกระดึง ไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นในช่วงฤดูฝนเป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ 1 มิ.ย.-30 ก.ย. เพื่อให้ธรรมชาติได้พักฟื้นสภาพ และจะกลับมาเปิดการท่องเที่ยวอีกครั้งตั้งแต่ 1 ต.ค. – 31 พ.ค. ของปีถัดไป (ยกเว้นบางปีที่เกิดเหตุสุดวิสัยอย่างโควิด-19 ทำให้ อช.ภูกระดึงต้องปิดการท่องเที่ยวก่อนกำหนด)

สำหรับการเปิดให้บริการท่องเที่ยวในฤดูกาลนี้ (64-65) ทาง อช. ภูกระดึง จำกัดนักท่องเที่ยวไม่เกิน 1,000 คนต่อวัน แบ่งเป็นการจองผ่านแอพพลิเคชั่น QueQ 70% = 700 คน และแบบ walk in 30% = 300 คน ซึ่งจะสามารถยืดหยุ่นได้ในแต่ละแบบถ้าจำนวนคนไม่เกิน 1,000 คน/วัน

ทั้งนี้ทางอุทยานฯ ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเที่ยวภูกระดึง ให้จองล่วงหน้าเข้ามาก่อน เพราะหากนักท่องเที่ยวเต็มตามจำนวนที่กำหนด ทาง อช.ภูกระดึง จะไม่อนุญาติให้นักท่องเที่ยว walk in เข้าท่องเที่ยวในพื้นที่ เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้องมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นอกจากนี้รูปแบบการท่องเที่ยวภูกระดึงในครั้งนี้จะเป็นแบบ New Normal เพื่อเป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ผู้ที่จะเข้ามาท่องเที่ยว อช.ภูกระดึง ต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขและมาตรการของจังหวัดเลย รวมถึงปฏิบัติตามกฎระเบียบของอุทยานฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง บ้านศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย โทร. 0-4281-0833 หรือดูที่ เพจ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง - Phu Kradueng National Park