หน่วยงานป้องกันการผูกขาดของเกาหลีใต้สั่งปรับ “กูเกิล” เป็นเงิน 207,000 ล้านวอน หรือประมาณ 5,830 ล้านบาท ฐานปิดกั้นไม่ให้มีการปรับแต่งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งนับเป็นการเล่นงานทางกฎหมายต่อกูเกิลครั้งที่ 2 ในรอบไม่ถึงหนึ่งเดือน
คณะกรรมการการค้ายุติธรรมแห่งเกาหลีใต้ (KFTC) แถลงวันนี้ (14 ก.ย.) ว่า เงื่อนไขในสัญญาที่กูเกิลทำร่วมกับผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารถือเป็นการผูกขาดและจำกัดการแข่งขันในตลาด ในขณะที่กูเกิลประกาศจะยื่นอุทธรณ์ และแย้งว่าคำตัดสินดังกล่าวมองข้ามข้อดีจากความเข้ากันได้ (compatibility) ของแอนดรอยด์กับโปรแกรมอื่นๆ และทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร
“คำตัดสินของ KFTC จะช่วยเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูความสามารถด้าน
การแข่งขันภายในตลาดระบบปฏิบัติการ (OS) และแอปพลิเคชั่นต่างๆ” โจห์ ซุง-วุก ประธาน KFTC ระบุในถ้อยแถลง
KFTC ชี้ว่า กูเกิล ขัดขวางการแข่งขันในตลาดด้วยการบังคับให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ต้องปฏิบัติตามข้อตกลง ‘anti-fragmentation agreement’ หรือ AFA หากจะใช้บริการแอปสโตร์ของกูเกิล โดยผู้ผลิตจะไม่สามารถติดตั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชั่นปรับแต่งแก้ไข หรือ ‘Android forks’ ได้ และนั่นทำให้กูเกิลสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดระบบปฏิบัติการไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
คำตัดสินของ KFTC ห้ามมิให้กูเกิลบังคับผู้ผลิตอุปกรณ์ให้ต้องเซ็นยอมรับ AFA เพื่อเปิดทางให้ผู้ผลิตเหล่านี้สามารถใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชั่นปรับแต่งแก้ไขได้
KFTC ยังยกตัวอย่างกรณีที่ ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ เคยเปิดตัวสมาร์ทวอตช์ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ปรับแต่งเมื่อปี 2013 แต่สุดท้ายต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบปฏิบัติการอื่นแทน เนื่องจากกูเกิลร้องเรียนว่าการกระทำดังกล่าวละเมิดข้อตกลง AFA
คำสั่งปรับกูเกิลมีขึ้นในวันเดียวกับที่กฎหมาย Telecommunications Business Act หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า “กฎหมายต่อต้านกูเกิล” เริ่มมีผลบังคับใช้ในเกาหลีใต้
ที่มา: รอยเตอร์