ศูนย์วิเคราะห์ฯ ทีทีบี ชี้พิษโควิดดันหนี้ครัวเรือนไทยปีนี้พุ่งแตะ 93.0%

ศูนย์วิเคราะห์ฯ ทีทีบี ชี้พิษโควิดดันหนี้ครัวเรือนไทยปีนี้พุ่งแตะ 93.0%

  • 0 ตอบ
  • 95 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Chigaru

  • *****
  • 2319
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




 "ttb analytics" คาดหนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง 93.0% ในสิ้นปี 64 เพิ่มจากไตรมาส 1 /64 ที่ 90.2% และสิ้นปี 62 ที่ 80% เหตุโควิดยืดเยื้อรุนแรงขึ้น ดันหนี้เพื่อการบริโภคสูงขึ้น หวั่นกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ชี้ทางออก เร่ง"ปรับโครงสร้างหนี้"ตรงจุดและ"รวบหนี้" แก้ไขปัญหาระยะยาว

หนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ในภาวะเปราะบาง ด้วยสัดส่วนหนี้เพื่อการบริโภคที่สูงขึ้นจึงเป็นปัญหากระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทางออกคือการปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงจุดและเน้นการรวบหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันโดยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 หนี้ครัวเรือนของไทยมีการปรับตัวสูงมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 80% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2562 เป็น 90.5% ของจีดีพี ณ ไตรมาส 1/2564 และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศระลอกสามที่ลุกลามยืดเยื้อมาจนถึงครึ่งหลังของปี 2564 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ  ttb analytics คาดการณ์ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93.0% ณ สิ้นปี 2564

โดยปริมาณหนี้ครัวเรือนของไทยต่อจีดีพี ที่เร่งขึ้นเร็วในช่วงวิกฤตนี้เกิดจาก 1. ความจำเป็นในการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากขาดหรือมีสภาพคล่องในครัวเรือนไม่เพียงพอกับรายจ่าย หลังจากที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติในช่วงล็อกดาวน์ การถูกปรับลดเงินเดือนบางส่วนลง รวมถึงการถูกเลิกจ้าง 2. รายได้ที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับหนี้ที่เพิ่มขึ้นเร็ว สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนไทย ณ ต้นปี 2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 จากระยะเดียวกันกับปี 2563 ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซา


ทั้งนี้ สังเกตได้ว่า ในหลายประเทศก็ประสบปัญหาการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ครัวเรือนเช่นเดียวกัน โดยเกาหลีใต้มีหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 93.9% ของจีดีพี เป็น 103.8% ณ ต้นปี 2564 และมาเลเซียที่เพิ่มจาก 82.7% เป็น 93.2% ในปัจจุบัน โดยไทยมีปริมาณหนี้ครัวเรือนอยู่อันดับที่ 17 ของโลก ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน คือ เกาหลีใต้และมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับที่ 9  และ 14 ตามลำดับ แต่สูงกว่าหนี้ครัวเรือนของสิงคโปร์ซึ่งอยู่อันดับที่ 26 ของโลก  

จึงเห็นได้ว่านอกจากหนี้ครัวเรือนของไทยและประเทศเพื่อนบ้านจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังถือว่ามีปริมาณภาระหนี้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย ดังนั้น การบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ศูนย์วิเคราะห์ฯ ทีทีบี ชี้พิษโควิดดันหนี้ครัวเรือนไทยปีนี้พุ่งแตะ 93.0%


ประเมินความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนไทยเทียบต่างประเทศ

ด้านประเภทของหนี้ครัวเรือนไทยประกอบไปด้วย สัดส่วนหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 47% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด อาทิ หนี้บ้านและรถยนต์ และสัดส่วนหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 35% อาทิ หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป รวมถึงหนี้เพื่อการศึกษา และส่วนที่เหลืออีก 18% เป็นหนี้รายย่อยเพื่อธุรกิจครัวเรือน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงในระดับโลกใกล้เคียงกันกับไทยเพื่อให้เห็นภาพรวม โดยคำนวณเฉพาะหนี้บ้านต่อหนี้ครัวเรือนทั้งหมด (ไม่รวมหนี้ยานพาหนะ เพราะมีข้อจำกัดของการเข้าถึงข้อมูลสินเชื่อรถยนต์ในบางประเทศ) พบว่า ในต่างประเทศครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นประเภทหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในระดับสูงกว่าไทย อาทิ เกาหลีมีสัดส่วนหนี้บ้านสูงถึง 56% ขณะที่สิงคโปร์และฝรั่งเศส นอกจากจะมีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีต่ำกว่าไทยแล้ว ยังไม่มีสัดส่วนหนี้อสังหาฯ สูงกว่าด้วย ยกเว้นมาเลเซียที่มีสัดส่วนหนี้บ้านใกล้เคียงกับไทย สะท้อนให้เห็นว่า หนี้ครัวเรือนของไทยมีความเสี่ยงต่อความเปราะบางทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศอื่นที่มีอันดับหนี้ในระดับต้นๆ ของโลกใกล้เคียงกัน

ศูนย์วิเคราะห์ฯ ทีทีบี ชี้พิษโควิดดันหนี้ครัวเรือนไทยปีนี้พุ่งแตะ 93.0%

 

คุณภาพหนี้ครัวเรือนที่แท้จริง และประสิทธิภาพการช่วยเหลือแก้ไขหนี้

ในส่วนของคุณภาพหนี้ครัวเรือนนั้น เป็นผลโดยตรงมาจากสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ที่รุนแรงและลากยาวนับแต่ปลายปี 2563 ส่งผลซ้ำเติมปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่แล้วในระดับสูง โดยเมื่อดูข้อมูลหนี้รายย่อยที่ได้ขอเข้าโครงการรับการช่วยเหลือ (รวม SFI) ณ เดือนมิถุนายน 2564  พบว่ามีปริมาณสูงถึง 11% ของจีดีพี ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับเครื่องชี้วัดสำคัญ คือ หนี้ stage 3 หรือเอ็นพีเอล ที่มีอยู่ไม่ถึง 1% ของจีดีพี และหนี้ใน Stage 2 หรือสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต ที่มีอยู่เพียง 2.2% ของจีดีพี สะท้อนให้เห็นว่า คุณภาพหนี้ครัวเรือนของไทยในความเป็นจริงแย่ลงมากกว่าที่สามารถสะท้อนได้จากเครื่องชี้วัดหลักดังเช่น เอ็นพีเอล

 

เมื่อพิจารณาเป็นประเภทหนี้ที่มาขอรับความช่วยเหลือล่าสุด สำหรับลูกหนี้ของกิจการธนาคารพาณิชย์ กิจการไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-bank) และธนาคารเฉพาะกิจ (SFI) ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 พบว่า อันดับแรกเป็นหนี้ที่อยู่อาศัยเป็นหลัก (ยอดขอความช่วยเหลือรวมอยู่สูงถึง 4.5% ของจีดีพี เทียบกับยอดเอ็นพีเอลที่ 0.6% ของจีดีพี) รองลงมาเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล (ยอดขอความช่วยเหลือรวม 5.3% เทียบกับยอดเอ็นพีเอล 0.2%) และอันดับสามเป็นหนี้รถยนต์ (มูลค่าขอความช่วยเหลือ 1.1% เทียบกับยอดเอ็นพีเอลที่ 0.1%) โดยกลุ่มลูกหนี้ที่มาขอความช่วยเหลือมักเป็นลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน (Pre-emptive) อย่างทันท่วงที จะส่งผลให้เกิดหนี้เสียเป็นวงกว้างและกระทบต่อเสถียรภาพการเงินและระบบสถาบันการเงินโดยรวมของไทยได้ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นหนี้ประเภทไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured loan) และมีสัดส่วนค่อนข้างใหญ่ในโครงสร้างสินเชื่อครัวเรือนของไทย

ศูนย์วิเคราะห์ฯ ทีทีบี ชี้พิษโควิดดันหนี้ครัวเรือนไทยปีนี้พุ่งแตะ 93.0%

การวางแผนแก้ไขหนี้ครัวเรือนจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเน้นเพื่อช่วยผ่อนคลายภาวะตึงตัวทางการเงินของลูกหนี้ในระยะสั้น และเพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การชำระหนี้ทั้งหมดได้ หลังการแพร่ระบาดยุติลงในระยะยาว โดยสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย (Tailor-made) และไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจเลี่ยงชำระหนี้อย่างไม่เหมาะสม (Moral hazard) เมื่อเปรียบเทียบแนวทางสำคัญในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. และประเทศอื่นในภูมิภาค พบว่ามีความสอดคล้องกันในหลายด้าน ได้แก่

การเติมสภาพคล่องให้ลูกหนี้รายย่อยเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เช่น ธนาคารกลางเกาหลีได้ขยายกรอบวงเงินช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีและเจ้าของธุรกิจส่วนบุคคลรายย่อย ส่วน ธปท. ได้ขยายเพดานวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการผ่อนชำระ
การลดภาระค่าผ่อนต่องวดลง ตามการเจรจาร้องขอของลูกหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย (Tailor-made) อาทิ มาเลเซียที่ลดค่างวดตามสถานะการจ้างงานและรายได้ สิงคโปร์ที่ลดค่างวดสำหรับหนี้บ้านซึ่งมีสัดส่วนสูงในหนี้ครัวเรือน รวมถึงการช่วยเหลือเฉพาะหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และ ธปท. ให้ส่วนลดดอกเบี้ยตามยอดชำระค่างวดใหม่ที่เลือก เพื่อเป็นแรงจูงใจแก้ลูกหนี้ที่เข้าโครงการแก้หนี้ ให้พยายามชำระหนี้ตามความสามารถ ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดี
การเร่งปรับโครงสร้างหนี้  ทั้งการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้จากระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว ก่อนที่จะเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ได้ในอนาคต ซึ่งเป็นแนวทางทั่วไปที่สอดคล้องกันในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย
การรวบหนี้ โดยเฉพาะการนำหนี้ไม่มีหลักประกันมารวมกับหนี้มีหลักประกัน และขยายระยะผ่อนชำระ จะช่วยลดภาระดอกเบี้ย เพื่อรองรับการปรับโครงแก้ไขหนี้ระยะยาวอย่างยั่งยืน
 

สุดท้ายนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยในสถานการณ์โควิด นอกจากจะอาศัย ธปท. และภาคธนาคารให้การช่วยเหลือผ่านการลดภาระและปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงต้องดำเนินการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ  ปัญหาเศรษฐกิจที่จะยังคงซบเซาไปอีก 2 ปีข้างหน้า และการให้ความรู้ทางการเงินแก่ภาคครัวเรือน โดยเฉพาะการทำอย่างไรที่จะให้การก่อหนี้กลับมาเป็นการสร้างประโยชน์ และสร้างโอกาสในการหารายได้ซึ่งจะช่วยปลดภาระหนี้ได้ในระยะยาว