“การบินไทย”
รีสตาร์ทธุรกิจ อัดเส้นทางบินยุโรป-เอเชีย รุกตารางบินฤดูหนาว ต.ค.นี้ มั่นใจดีมานด์ต่างชาติฟื้น รับเปิดประเทศ กพท.ชี้แอร์ไลน์ต่างชาติรอดูสถานการณ์
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 15 ต.ค.นั้น หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมทั้งสายการบิน ผู้ประกอบการโรงแรมและธุรกิจค้าปลีก
นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตารางบินฤดูหนาวที่เริ่มเดือน ต.ค.2564 ที่ประชุมคณะกรรมการการบินไทย วันที่ 9 ก.ย.2564 มีมติให้ฝ่ายการพาณิชย์เพิ่มความถี่และเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศรองรับความต้องการเดินทางช่วงไฮซีซั่น
โดยการบินไทยจะเพิ่มความถี่เส้นทางบินศักยภาพสูงครอบคลุมยุโรปและเอเชีย อาทิ แฟรงก์เฟิร์ต จะทำการบิน 7 วันต่อสัปดาห์ แบ่งเป็น เส้นทางภูเก็ต-แฟรงก์เฟิร์ต 3 วันต่อสัปดาห์ และกรุงเทพฯ-แฟรงก์เฟิร์ต 4 วันต่อสัปดาห์ เช่นเดียวกับเส้นทางลอนดอนที่มีความต้องการเดินทาง รวมถึงขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจึงจะเพิ่มทำการบิน 7 วันต่อสัปดาห์
นอกจากนี้ การบินไทยกลับมาเปิดบินเส้นทางระหว่างประเทศในหลายจุดบิน เช่น ซูริก มิลาน โคเปนเฮเกน บรัสเซลส์ โซล นาริตะ นาโกยา โฮซากาและฮ่องกง ซึ่งนอกจากการกลับมาทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศของการบินไทยแล้ว สายการบินไทยสมายล์จะมาทำการบินเสริมความถี่เส้นทางภูเก็ต-ฮ่องกง และภูเก็ต-สิงคโปร์
“ตารางบินฤดูหนาวนอกจากการบินไทยจะกลับมาทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเพิ่มความถี่ในจุดบินต่างๆ ทั้งยุโรปและเอเชีย อย่างโซล เกาหลีใต้ นาริตะ ญี่ปุ่น และฮ่องกง เพื่อตอบรับต่อการเดินทางและไฮซีซั่นทางการท่องเที่ยว”
นายนนท์ กล่าวว่า ดีมานด์ของผู้โดยสารในขณะนี้ พบว่ามีความต้องการเดินทางไปภูเก็ตมากกว่ากรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งเพราะภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และมีโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ที่เอื้อต่อการท่องเที่ยวทำให้การบินไทยทำแผนการตลาด จัดตารางบินฤดูหนาวนี้เพิ่มความถี่ไปภูเก็ตมากขึ้น ซึ่งภาพที่จะเห็นการบินไทยมีเที่ยวบินลงภูเก็ตทุกวัน
ทั้งนี้ การบินไทยวางกลยุทธ์การตลาดเชิงพาณิชย์ 3 เฟส โดยเริ่มต้นช่วงตารางบินฤดูหนาวระหว่างเดือน ต.ค.2564-มี.ค.2565 เป็นช่วงการเริ่มต้นการตลาด หรือ รีสตาร์ท เที่ยวบินเชิงพาณิชย์ และการตลาดกระตุ้นการเดินทาง ซึ่งจะเห็นภาพชัดในเดือน ธ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่เฟส 2-3 ที่จะสิ้นสุดตารางบินปีหน้าราวเดือน ต.ค.2565 นับเป็นการเริ่มทำโปรโมชั่นรับการกลับมาทำการบินเชิงพาณิชย์ขนส่งผู้โดยสาร รวมถึงตอบรับนโยบายเปิดประเทศ
สำหรับปัจจุบันการบินไทยทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศส่วนใหญ่ในจุดบินภูเก็ต ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีและมียอดจองการเดินทาง (บุ๊กกิ้ง) 20-25% และรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยการบินไทยหวังว่าการเปิดบินตารางบินฤดูหนาวที่เพิ่มคความถี่และเพิ่มเส้นทางบินใหม่จะเพิ่มรายได้การพาณิชย์ มีผู้โดยสารจองการเดินทางไม่ต่ำกว่าบุ๊กกิ้งในปัจจุบัน
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เผยว่า ภาพรวมการจองสิทธิในตารางบินฤดูหนาวยังไม่แน่นอน เพราะมีเวลาให้สายการบินพิจารณายืนยันตารางบิน โดยเบื้องต้นสายการบินหลายสายที่มีสิทธิการบินในไทยยืนยันใช้สิทธิที่มีอยู่เดิม และ กทพ.เชื่อว่าสายการบินอยู่ช่วงตัดสินใจและประเมินโควิด-19 ช่วง 2 สัปดาห์ที่ไทยผ่อนคลายล็อคดาวน์
“ตอนนี้ยังไม่ถึงเดตไลน์ของการคอนเฟิร์มตารางบินฤดูหนาว ทำให้หลายสายการบินรอประเมินสถานการณ์ แต่ยังขอใช้สิทธิการบินเดิมที่มี ดังนั้นจึงยังสรุปจำนวนเที่ยวบินที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ และแม้จะทำการบินได้ แต่อาจไม่เอื้อนักท่องเที่ยวเพราะยังมีมาตรการและข้อจำกัด ซึ่งปัจจุบัน กพท.อนุญาตให้เพิ่มความจุผู้โดยสารที่ 75% แต่ยังมีผู้โดยสารเดินทางไม่ถึง 50-60% แต่ละเที่ยวบิน”
รายงานข่าวจาก กพท.ระบุว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญที่จะทำให้การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวชัดเจนส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีนและเอเชีย แต่ปัจจุบันประเทศดังกล่าวยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศ เพราะอยู่ช่วงควบคุมโรค ดังนั้นไฮซีซั่นที่จะถึงนี้สายการบินต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจากยุโรปเป็นหลัก ซึ่งมีพฤติกรรมท่องเที่ยวเป็นเวลานาน ดังนั้นนักท่องเที่ยวอาจประเมินว่า เมื่อมาถึงไทยแล้วจะคุ้มค่าต่อการท่องเที่ยวหรือไม่ เพราะต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข กักตัว และจำกัดเวลาให้บริการในสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทาง และเป็นผลต่อสายการบินว่าจะคุ้มค่าต่อการเปิดเที่ยวบินหรือไม่
“ตอนนี้มีหลายสายการบินต่างชาติสอบถามมาตรการด้านสาธารณสุขไทย เช่น สายการบินจากรัสเซีย โดยสายการบินแต่ละประเทศต้องประเมินมาตรการจากประเทศต้นทางด้วยว่า เมื่อมาเที่ยวไทยแล้วกลับไปต้องกักตัวหรือไม่ เพื่อประเมินความคุ้มค่า”
สำหรับยอดจองตารางบินฤดูหนาว ก่อนหน้านี้ กพท.ประเมินว่าจะมีเที่ยวบินทำการบินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 900-1,100 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่จองตารางบิน 800 เที่ยวบินต่อวัน แต่มีสายการบินทำการบินจริงเพียง 100 เที่ยวบินต่อวัน ดังนั้นช่วงตารางบินฤดูหนาว จึงยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะมีเที่ยวบินเฉลี่ยต่อวันจำนวนเท่าไหร่ เพราะสายการบินยังมีเวลาพิจารณายืนยันเที่ยวบิน
น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.กล่าวว่า ปัจจุบันมีเงื่อนไขจำกัดการเดินทางและท่องเที่ยวแต่ละจังหวัด ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประเมินว่าช่วงตารางบินฤดูหนาวนี้ปริมาณเที่ยวบินยังไม่คึกคักชัดเจน โดยเฉพาะเที่ยวบินระหว่างประเทศ แต่หากจะเดินทางเข้ามาคาดว่าเป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรป เพราะขณะนี้จีนและญี่ปุ่นยังมีการระบาด