สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยแพร่รายงานความก้าวหน้า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (Thailand’s SDGs Report 2016 -2020)
ในวาระที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมการดำเนิน
การขับเคลื่อนเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal :SDGs) ของสหประชาชาติมาเป็นระยะเวลา 5 ปี และได้ดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ด้านมาอย่างต่อเนื่อง
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยในงานเสวนาออนไลน์ “ก้าวพอดี 2564 ฟื้นตัวอย่างมันคง ก้าวต่ออย่างยั่งยืน” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 62 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทยถดถอยลงในหลายด้าน จนกระทบต่อการบรรลุเป้าหมาย ในปี 2573 ทั้งเป้าหมายด้านการขจัดความยากจน การขจัดความหิวโหย สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
“ผลการประเมินความก้าวหน้าทั้งหมด แม้ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าตามเป้าหมายต่าง ๆ ค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็มี 9 เป้าหมายย่อยที่มีระดับการพัฒนาที่เป็นสีแดง หรือต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่สำเร็จ ถือเป็นสิ่งที่มีความท้าทายกับการดำเนินงานของประเทศไทยในระยะต่อไป โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด”
อ่านข่าว : 'นักเรียนยากจนพิเศษ'ทุบสถิตินิวไฮ 1.3 ล้านคน กว่า 43,060 คนไม่กลับมาเรียนต่อ
ส่องรายงาน 'SDGs' 6 อุปสรรคแก้ปัญหา 'ความยากจน' ในไทย
สำหรับในเป้าหมายที่ 1 ของ SDGs คือเป้าหมายในการยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เป็นเป้าหมายที่สำคัญโดยสหประชาชาติระบุว่าหากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแรกไปได้ การบรรลุเป้าหมายอื่นๆก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากความยากจนเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการพัฒนาทุนมนุษย์และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศซึ่งความยากจนไม่เพียงแต่หมายถึงความขัดสนทางด้านรายได้ในการดำรงชีพเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงวิถีชีวิตและความอยู่ดีมีสุขในทุกมิติตลอดช่วงชีวิตของมนุษย์
จึงทำให้การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นวาระการพัฒนาหลักของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย โดยการยุติความยากจน ให้หมดสิ้นไปต้องดำเนินการให้ครอบคลุมอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเปราะบาง ที่มีความท้าทายในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการขั้นพื้นฐาน อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ในรายงาน SDGs ล่าสุดระบุว่า ความท้าทายในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคความยากจนในเป้าหมายการยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ของประเทศไทย สามารถแบ่งได้เป็น 6 ด้านได้แก่
1.ประชากรกลุ่มยากจนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและ เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึง ระบบประกันสังคมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการให้บริการภาครัฐ
2.ภาครัฐยังมีข้อจำกัดในการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ควรมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิด และสามารถการทำงานซ้ำซ้อน ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญและเร่ง พัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมให้มีความครอบคลุม และตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นโดยคำนึงถึงทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่แตกต่างกันของประชาชนแต่ละกลุ่ม
3.ปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึง ทำให้ความมั่งคั่งกระกอยู่ตามเมืองใหญ่หรือเมืองสำคัญ
4.การแก้ปัญหาความยากจนยังมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่องมากกว่าการแก้ไขปัญหา 'ความยากจนเชิงโครงสร้าง' ซึ่งเป็นความขาดแคลนในหลายมิติ ทั้งด้านการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม รวมทั้ง
5.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะและประชาชนในวงกว้าง มากกว่าจะอยู่ในกลุ่มคนไม่มากนัก
6.การสร้างสังคมที่สมดุลและเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในการพัฒนาตนเอง และการอยู่ร่วมกันของประชาชนในสังคม
ในระยะที่ผ่านมาสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยสามารถลดสัดส่วนคนจนลงจาก 8.61% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 6.24% ในปี2562 และสัดส่วนคนจนหลายมิติลดลงจาก 20.3% ในปี 2558 เป็น 13.4% ในปี 2562 ซึ่งเป็นผลจาก การเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายมาตรการให้ ความช่วยเหลือจากภาครัฐแก่ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ยังพบว่าคนไทยส่วนใหญ่สามารถเข้าถึง นำบริการขั้นพื้นฐาน โดยในปี 2562 ครัวเรือนยากจนสามารถเข้าถึงไฟฟ้า 98.80 % น้ำประปา 72.30% และโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ทโฟน 56.99% อีกทั้งครัวเรือนไทย 75.3% เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน
อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนยากจนยังเข้าถึงคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตได้อย่างจำกัด โดยครัวเรือนยากจนเพียง 1.60% สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตขณะที่ครัวเรือนไม่ยากจนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ 60.87% ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติได้มีการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสารารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558
รวมทั้งผลักดันให้มีแผนและกิจกรรมการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งในปี 2563 50% ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ในช่วงปี 2559 - 2561 ประเทศไทยมีผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีประชากรที่ประสบภัยพิบัติ 1,845 คน ต่อประชากร 100,000 คน ลดลงจาก 6,553 คน ต่อประชากร100,000 คน ในปี 2559 โดยภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ อุทกภัย และภัยแล้ง ตามลำดับ
ทั้งนี้ในส่วนของภาครัฐได้ดำเนินมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจน เพิ่มพูนรายได้และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับกลุ่มคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง อาทิ การจัดสวัสดิการและให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การให้เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษและเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด การจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนการพัฒนา ศักยภาพและสร้างองค์ความรู้ให้แก่ประชาชนเพื่อนำไปต่อยอดสร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน เช่น การพัฒนา Smart Farmer การอบรมจัดทำแผนธุรกิจ รวมทั้ง การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน โดยเฉพาะด้านการจัดการหนี้สินและการสร้างกลไกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งขจัดทำระบบป้องกันและเตือนภัยพิบัติ และเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยนำหลักการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน
สำหรับข้อเสนอแนะภาครัฐควรเร่งดำเนินมาตรการแก้ปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายบนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากระบบ TPMAP และเร่งพัฒนาฐานข้อมูลด้านความยากจนให้ครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมายและมีความสมบูรณ์ในทุกมิติ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการออกแบบนโยบายและมาตรการที่เหมาะสมตามสภาพปัญหาและควาามต้องการของประชาชรกลุ่มยากจนในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชากรกลุ่มยากจนและ กลุ่มเปราะบางรับทราบข้อมูลและสิทธิประโยชน์ที่พึงได้สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ยังควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่มีคุณภาพและครอบคลุม ทั้งด้านการคมนาคม ขนส่ง และสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริม การพัฒนาอาชีพโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ ควรมีการติดตามและประเมินผลกระทบของนโยบาย และมาตรการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบเพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์สำหรับการพัฒนานโยบายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด