วันนี้ (4 ก.ย.) นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยระบุว่า เมื่อเกิดโรคติดต่อ เราจะได้ยินคำว่าภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อลดการระบาดของโรคและยุติการระบาด
ภูมิคุ้มกันหมู่ จะได้ผลในการป้องกันการระบาด ภูมิคุ้มกันนั้นจะต้องป้องกันการติดโรคได้ และเมื่อมีภูมิคุ้มกันในกลุ่มประชากรมากจำนวนหนึ่ง ก็จะช่วยป้องกันคนที่ไม่มีภูมิไปด้วย เช่น โรคหัด โปลิโอ ประชากรส่วนใหญ่ใด้วัคซีนในการป้องกันโรค โรคก็จะเบาบาง และในที่สุดก็จะยุติการระบาด
เมื่อมาดู covid-19 จุดมุ่งหมายการให้วัคซีนในระยะแรก ต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
แต่ในปัจจุบันเห็นได้ชัดแล้วว่า
วัคซีนทุกชนิดไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนจากประเทศตะวันตกหรือตะวันออก เพียงแต่ลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการตาย และยังพบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว กับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน เมื่อติดเชื้อปริมาณไวรัสที่อยู่ในตัว สามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้
ดังนั้นวัคซีนที่ใช้ในขณะนี้ จึงไม่สามารถที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ เพราะถึงแม้มีภูมิคุ้มกัน ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลงตลอดเวลา และขณะเดียวกันระยะฟักตัวของโรค covid 19 สั้นมาก จึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ลดความรุนแรงของโรคได้
เมื่อไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในแต่ละคน ก็ไม่สามารถจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ในการลดการติดเชื้อในประชากรหมู่มากได้ จะเห็นได้ว่าทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอิสราเอล ที่มีการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก ก็ยังพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน แต่ความรุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับการระบาดในระลอก ก่อนมีวัคซีนลดลง อัตราตายและอัตราการป่วยนอนโรงพยาบาลลดลง
ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ใน covid 19 จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้ในขณะนี้ ทั้งที่แต่เดิมคิดว่าถ้าประชากรส่วนใหญ่ได้วัคซีนถึง 70% แล้วโรคจะทุเลาลง แต่ความเป็นจริง ประเทศที่ฉีดวัคซีนได้สูงแล้ว ก็ยังพบการระบาดของโรค
ทางออกของ covid 19 ทุกคนจะต้องได้รับวัคซีน หรือเคยติดเชื้อ และให้มีภูมิพื้นฐานอยู่ และเมื่อติดเชื้อ อาการของโรคก็จะน้อยลง หรือไม่มีอาการ แล้วจะกระตุ้นภูมิต้านทานให้สูงขึ้น และการติดเชื้อครั้งต่อๆไปอาการจะน้อยลงไปเรื่อยๆจนไม่มีอาการ
การติดเชื้อครั้งแรกเมื่อยังไม่มีภูมิต้านทานเลย อาการจะรุนแรงได้ และเมื่อมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะจากวัคซีนหรือการติดเชื้อครั้งแรก การติดเชื้อครั้งต่อไปอาการก็จะน้อยลงและในที่สุดก็จะเป็นแบบไม่มีอาการ และโรคนี่ก็จะอยู่กับเรา โดยที่ติดเชื้อแล้วอาการไม่รุนแรง หรืออัตราการเสียชีวิตน้อยมาก อย่างเช่นโรคทางเดินหายใจทั่วไป
เป้าหมายการฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ใน covid 19 ภูมิคุ้มกันไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ป้องกันความรุนแรงของโรคได้ ภูมิคุ้มกันหมู่ที่ตั้งเป้าไว้จึงไม่สามารถที่จะนำมาใช้ได้ ทุกคนจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาจากการฉีดวัคซีน หรือติดโรค แล้วเมื่อเป็นซ้ำก็จะไม่มีอาการหรืออาการน้อยลง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ปริมาณการฉีดวัคซีนที่คาดไว้แต่เดิมในการลดการระบาดของโรค เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้ หรือกล่าวว่าต่อไปนี้ทุกคนจะต้องสร้างภูมิขึ้นมาเพื่อลดความรุนแรงของโรคที่จะเกิดในกรณีที่เป็นซ้ำ และในอนาคตเด็กเล็กที่เกิดมา ยังไม่มีภูมิก็จะมีการติดโรคโดยธรรมชาติ ซึ่งโรคนี้ไม่รุนแรงสำหรับเด็ก และก็จะเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมาหลังจากการติดเชื้อในวัยเด็ก แบบโรคทางเดินหายใจทั่วไปที่เราพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่เคยติดเชื้อในวัยเด็กและมีภูมิอยู่แล้ว
โรคนี้จะอยู่กับเราตลอดไป จำนวนวัคซีนที่จะใช้จึงต้องใช้สำหรับประชากรทุกคนในประเทศไทยทุกคน ในการสร้างภูมิคุ้มกันพื้นฐาน เพื่อลดความรุนแรงของโรคในกรณีที่มีการติดเชื้อ หรือให้เป็นแบบไม่มีอาการ ในครั้งต่อไป