ดีเดย์รีดภาษี e-Service ต่างชาติ Facebook ผลักภาระVAT7% 

ดีเดย์รีดภาษี e-Service ต่างชาติ Facebook ผลักภาระVAT7% 

  • 0 ตอบ
  • 71 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Thetaiso

  • *****
  • 2964
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




ในที่สุดกติกาการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจให้บริการออนไลน์ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลรีดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แต่กับเฉพาะคนไทย ก็ได้รับการแก้ไขใหม่โดยดีเดย์เรียกเก็บภาษี e-Service ต่างชาติ มีผล 1 กันยายนนี้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บรรดาแพลตฟอร์มต่างชาติต่างแห่ขึ้นทะเบียน ทำให้กรมสรรพากรฝันหวานจะมีรายได้เข้าคลังปีละกว่า 5 พันล้านบาท ขณะที่แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง “เฟซบุ๊ก” ผลักภาระให้คู่ค้าแบกต้นทุนค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นทันที 

การจัดเก็บภาษี e-Service จากต่างชาติ มีการดำเนินการในขั้นตอนของกฎหมายมากกว่า 2 ปี จนได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และให้เริ่มมีผลบังคับใช้นับจากวันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไปนั้น  นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ ๓๗๗ (พ.ศ.๒๕๖๔) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานและทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งผู้ประกอบการที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ เพื่อกำหนดวิธีการดำเนินงานในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) ของกรมสรรพากร เป็นที่ชัดเจนแล้ว

กฎกระทรวงดังกล่าว ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยและมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบงานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (VAT for Electronic Service : VES) บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมชำระภาษีเป็นรายเดือน ภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป

“ปัจจุบันมีผู้ประกอบการต่างประเทศลงทะเบียนเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากรแล้วมากกว่า 50 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ให้บริการต่างประเทศมีความตื่นตัวและพร้อมจะปฏิบัติตามกฎหมายภาษี e-Service ของไทยด้วยดี โดยไทยเป็นหนึ่งใน 60 กว่าประเทศทั่วโลกที่ได้เริ่มดำเนินการเก็บภาษีประเภทนี้” นายอาคม สะท้อนถึงผลงานการตอบรับ

 สำหรับธุรกิจที่ต้องมาจดทะเบียนและเข้าข่ายเสียภาษีภายใต้กฎหมายใหม่ มีอยู่ 5 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ หนึ่ง แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เปิดให้ซื้อขายผ่านออนไลน์ เช่น อเมซอน (Amazon) อีเบย์ (Ebay)

กลุ่มที่สอง ธุรกิจที่มีรายได้จากค่าโฆษณา เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) ยูทูบ (YouTube) กูเกิล (Google) ซึ่งโครงสร้างรายได้หลักมาจากการขายโฆษณาบนแพลตฟอร์ม รับชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิตไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลไม่สามารถเรียกเก็บภาษีใดๆ ได้เลย

สาม ธุรกิจให้บริการจองโรงแรมที่พักและการเดินทาง ส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มท่องเที่ยว เช่น บุ๊กกิ้งดอทคอม (Booking.com) อะโกด้า (Agoda) แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) สี่ ธุรกิจตัวกลางที่เป็นเอเย่นต์จำหน่ายสินค้าและบริการ และ ห้า ธุรกิจบริการออนไลน์ ที่มีรายได้จากระบบสมาชิก เช่น บริการดูหนัง ฟังเพลงออนไลน์ และคอนเสิร์ตออนไลน์ ได้แก่ เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) สปอร์ติฟาย (Sportify) แอปเปิลเพลย์ (Apple Play), ซูม (Zoom) เป็นต้น 

จากฐานข้อมูลของกรมสรรพากร สำรวจพบว่ามีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีทั้งหมดกว่า 100 ราย และมีแพลตฟอร์มรายใหญ่หลายรายดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านภาษี e-Service แล้ว เช่น เครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook, LINE, Twitter เว็บไซต์ให้บริหารค้นหาข้อมูลอย่าง Google บริการดูหนังออนไลน์และความบันเทิงทั้ง Netflix, Viu, TikTok, OnlyFans, DISNEY, Twitch, Spotify ผู้ให้บริการด้านการทำงาน Zoom, Amazon, Microsoft, LinkedIn, HubSpot, TeamViewer และผู้ให้บริการจองโรงแรม เช่น Agoda เป็นต้น

การจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิสนี้ นายอาคม อธิบายว่า จะช่วยสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ จากเดิมที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจบริการออนไลน์จะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ยังจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งคาดว่าการจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิส จะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 และในอนาคตจะทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติที่จะสามารถนำไปใช้ในการคำนวณเป็นฐานภาษีใหม่ที่น่าจะเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของประเทศไทยในอนาคต

ภาษีที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นนี้ผู้ประกอบการต่างชาติ จะผลักภาระต่อให้กับผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคหรือไม่ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ  อธิบดีกรมสรรพากร ให้ข้อมูลว่าจากการติดตามข้อมูลการเก็บภาษี e-Service จาก 60 ประเทศ พบว่ามีทั้งการผลักภาระและไม่ผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภค ถ้าหากเป็นธุรกิจที่แข่งขันกันสูง บริษัทอาจยอมเสียภาษีเองเพราะกลัวเสียลูกค้า แต่ถ้าธุรกิจรายใหญ่ที่ไม่มีคู่แข่งก็อาจให้ผู้ซื้อและผู้ใช้บริการเสียภาษีเอง หรืออาจแบ่งเสียภาษีกันคนละครึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัทรวมถึงสภาพการแข่งขันทางธุรกิจ

“เมื่อยุคสมัยการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาการจัดเก็บภาษีก็ต้องปรับให้ทันสมัย เพราะฉะนั้นภาษีอี-เซอร์วิส จึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ประกอบการไทย ที่มีภาระภาษีและยังต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่หนักหน่วงจากแพลตฟอร์มต่างชาติที่มาแรงด้วยเทคโนโลยี ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 การใช้เทคโนโลยีและการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ กรมสรรพากรจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับธุรกิจยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน” อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์สื่อถึงการจัดเก็บภาษีในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นนี้ แพลตฟอร์มบางรายอาจไม่ผลักให้กับลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ แต่นั่นไม่ใช่สำหรับFacebook แพลตฟอร์มต่างชาติที่ให้บริการในไทย ที่ประกาศชัดเจนว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ผู้ลงโฆษณาที่ตั้งค่า ‘ขาย’ กับธุรกิจหรือบุคคลใดๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตประเทศไทย ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% โดยผู้ลงโฆษณาจะต้องเพิ่มหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT ID) บนใบเสร็จค่าโฆษณา กรณีนี้ Facebook จะไม่บวกภาษีมูลค่าเพิ่มในการซื้อโฆษณา ส่วนผู้ลงโฆษณาที่ไม่เพิ่มหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี จะมีการเรียกเก็บ VAT เพิ่มทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการลงโฆษณาบน Facebook เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจหรือส่วนตัว

 นั่นหมายความว่าผู้ค้าขายรายเล็กรายย่อย เอสเอ็มอี หรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ซื้อโฆษณาตรงจากแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก และอื่นๆ ต่อไปก็ต้องเจอบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปด้วย ผลที่จะตามมาก็คือ ประสิทธิภาพการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายลดลง เนื่องจากจำนวนเงินที่ซื้อโฆษณาโดนหัก 7% เพื่อส่งให้รัฐ หากผู้โฆษณาในไทยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม นั่นหมายถึงต้นทุนโฆษณาของผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้นด้วย ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นนี้สุดท้ายก็อาจถูกผลักต่อไปยังผู้บริโภค ราคาสินค้าและบริการก็ปรับขึ้นตาม  

อันที่จริง การจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิสของรัฐบาล ด้วยเหตุผลเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้านั้นมาในจังหวะที่รัฐบาลกำลังถังแตก รีดภาษีได้ไม่เข้าเป้า การรีดแวตจากแพลตฟอร์มต่างชาติที่นับวันจะขยายฐานภาษีได้กว้างขวางขึ้นจึงเป็นช่องทางหาเงินเข้าคลังได้เพิ่มมากขึ้นตามโลกการค้าสมัยใหม่

มาดูตัวเลขการจัดเก็บภาษียุคโควิด-19 ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2564 จะเห็นว่าหลุดเป้ามโหฬาร ตามที่  น.ส.กุลยา ตันติเตมิท  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 64 (ตุลาคม 2563 – กรกฎาคม 2564) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.91 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 216,878 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 10.2% แต่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร 142,767 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 9% กรมสรรพสามิต 67,595 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 12.9% และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ 24,282 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 16.5% แต่กรมศุลกากร มีแนวโน้มจัดเก็บรายได้ดีขึ้น เป็นผลจากการส่งออกและนำเข้าที่กลับมาขยายตัวได้ดี

 ตัวเลขชัดๆ 3 กรมจัดเก็บภาษี คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร สามารถจัดเก็บรายได้รวมกัน 1.99 ล้านล้านบาท ลดลงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 212,490 ล้านบาท ส่วนการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจก็ลดลง มีรายได้ทั้งสิ้น 123,022 ล้านบาท ลดลง 24,282 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเป้าหมาย ขณะที่ธนาคารรัฐ นำกำไรไปช่วยเหลือลูกหนี้และตั้งสำรองเผื่อหนี้เสียที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่รายได้อื่นจัดเก็บได้ 146,426 ล้านบาท ลดลงกว่าเป้าหมาย 2,343 ล้านบาท 

สำหรับสาเหตุที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยลง จนมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ประกอบกับการดำเนินนโยบายการคลังและภาษีเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องและบรรเทาภาระแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ

 วิกฤตโควิด-19 ส่งผลสะเทือนเป็นลูกโซ่ เมื่อประชาชนกระเป๋าแฟ่บ รัฐบาลก็ถังแตกเช่นกัน