ทุกประเทศไทยทั่วโลกและประเทศไทยเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทายมากมาย โดยเฉพาะวิกฤติโควิด-19 หยุดโลกครั้งนี้ สร้างผลกระทบใหญ่หลวงและเร่งปฎิกิริยาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน สร้างแรงกระเพื่อมของผลกระทบในภาคเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทเร็วเกินคาด! ดีมานด์เพิ่ม 10 เท่าจากเดิมในทันทีเมื่อ
ธุรกรรมทางโลกออฟไลน์ต้องหยุดชะงัก“โดมิโนเอฟเฟคต์” จากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบลากยาวและไม่สามารถคาดเดาจุดสิ้นสุด! ว่าจะจบลงในอนาคตอันใกล้ หรือยังมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดรออยู่ข้างหน้า!
ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในเวที “Thailand Focus 2021 : Thriving in the Next Normal” จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยฉายภาพช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทายรอบด้าน และส่งผลกระทบที่คาดไม่ถึงอย่างมากมาย แต่เทียบไม่ได้กับ “วิกฤติโควิด-19” ในครั้งนี้ที่ทำให้โลกต้องหยุดชะงักและพลิกผันในทุกประเทศ ทุกอุตสาหกรรม ทุกธุรกิจ หรือบุคคลใดก็ตาม ล้วนต้องเผชิญอุปสรรคและผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ด้วยกันทั้งสิ้น
โดมิโนเอฟเฟคต์จากโควิด ทำให้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับหลุมดำ สูญเสียรายได้กว่า 2.6 ล้านล้านบาท หนี้ภาคครัวเรือนและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และอัตราการว่างงานที่อาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 3.4 ล้านคนในสิ้นปีนี้ นี่เป็นเพียงบาดแผลส่วนหนึ่งของวิกฤติสุขภาพที่ทุกภาคส่วนต้องจัดการต่อไปอีกหลายปี!!
ทั้งนี้ วิกฤติโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใน 2 มิติ
มิติแรก คือ วิกฤติด้านสาธารณสุขที่ส่งผลแบบโดมิโนเอฟเฟคต์ไปยังภาคเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
มิติที่สอง คือ ตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลอย่างรวดเร็วเป็น 10 เท่าจากเดิม จึงเป็นทั้งวิกฤติและโอกาสไปพร้อมๆ กันสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบสำหรับผู้ที่ปรับตัวตั้งรับได้ทันสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสความพร้อมหรือศักยภาพทางธุรกิจที่มี
ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ต้องปรับแนวทางดำเนินงานให้สอดรับสถานการณ์โลกหลังโควิดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม รูปแบบการใช้ชีวิต แพลตฟอร์มธุรกิจ ดังนั้น "ผู้นำ และ "องค์กร" จะต้อง “รีเซ็ต" สร้างทางรอดใหม่ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคตที่จะให้ความสำคัญกับมิติใหม่ เช่น ด้านสุขภาพ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม คุณค่า และความยั่งยืน มากขึ้นกว่าเดิม
“ยังไม่แน่ชัดว่าหลังจากนี้ เราจะเผชิญโลกหลังโควิด หรือ จะต้องอยู่กับโควิดต่อไป แต่ชัดเจนว่าโควิดได้ส่งผลให้เกิดการรีเซ็ตเศรษฐกิจและธุรกิจ ที่ต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคุณค่า สุขภาพ ประสบการณ์ และ ความยั่งยืน"
“ธุรกิจค้าปลีก” จำเป็นต้องปรับสูตรการดำเนินธุรกิจใหม่ตั้งแต่ การปรับองค์กรให้อยู่รอดด้วยความฉลาด การปรับบิสสิเนสโมเดลใหม่เน้นความแตกต่าง การทำงานคิดใหม่ทำใหม่ ล้มเร็วลุกเร็ว มุ่งการทำงานเป็นทีมไม่ใช่วันแมนโชว์อีกต่อไป
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2560 ประเทศไทยเผชิญกระแสเชี่ยวกรากของ “ดิจิทัลดิสรัปชัน” เซ็นทรัลรีเทล เร่งปรับตัวมุ่งสู่ยุทธศาสตร์ “New Central New Retail”
“นับเป็นโชคดีของเซ็นทรัลรีเทลที่เริ่มต้นได้ทันเวลา การเข้ายุคดิจิทัลมุ่งสู่ Omnichannel Economy มีการทำตลาดแบบหลายช่องทางสอดรับพฤติกรรมลูกค้าที่หลากหลายในการใช้ช่องทางซื้อ แตกต่างในจากสหรัฐและจีนมองว่าการทำตลาดจะมุ่งสู่ออนไลน์เท่านั้น”
เทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทเร็วเกินคาด! ดีมานด์เพิ่ม 10 เท่าจากเดิมทันทีเมื่อธุรกรรมทางโลกออฟไลน์ต้องหยุดชะงัก
ขณะเดียวกัน แรงกระแทกต่อธุรกิจทุกๆ มิติ ทำให้ช่องว่างระหว่าง “ผู้นำ” กับ “ผู้ตาม” กว้างขึ้น แน่นอนว่า การปรับตัวได้ทันเวลา ตอบรับสถานการณ์ได้มากที่สุด จะเป็นตัวชี้วัดว่าใครจะอยู่หรือใครจะไป!!?? ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงแบบ “K-curve” นี้
จะเห็นว่า ในทุกห้วงวิกฤติธุรกิจต้องรับมือพร้อมๆ กัน 2 ด้าน คือ “การอยู่รอด” ที่จะต้องปรับตัวเร็วและมีความยืดหยุ่น ขณะที่ยัง “ต้องชนะ” ด้วย ความคิดที่แตกต่างและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ให้ธุรกิจคงอยู่ได้โควิดให้บทเรียนว่าเราไม่สามารถอยู่รอดได้คนเดียว แต่ทั้งซัพพลายเชนต้องรอดไปด้วยกัน ตั้งแต่ซัพพลายเออร์ ลูกค้า พนักงาน
ประการสำคัญ “วันนี้เราอยู่บนโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ฉะนั้น การตอบสนอง ปรับตัว ยืดหยุ่นอย่างว่องไว เพื่อวิ่งตามลูกค้าให้ทัน เพราะตอนนี้ลูกค้ามองหาสิ่งที่ ‘มากกว่า’ จากการลงทุนที่ ‘น้อยกว่า’ พวกเขามองหามูลค่าที่มากขึ้น ตัวเลือกที่มากขึ้น และความสะดวกสบายที่มากขึ้น ภายใต้ความเรียบง่าย อุปสรรค และข้อจำกัดที่น้อยลง เราต้องพร้อมที่จะนำเสนอรูปแบบธุรกิจที่จะตอบโจทย์ความไม่แน่นอนเหล่านั้น”
การปรับตัวอยู่ตลอดเวลาของ “เซ็นทรัล รีเทล” ซึ่งได้เริ่มพัฒนา “แพลตฟอร์มออมนิแชนแนล” เชื่อมโลกการค้าและประสบการณ์ชอปปิงแบบไร้รอยต่อของร้านค้าออฟไลน์และออนไลน์ มาตั้งแต่ปี 2560 ภายใต้ยุทธศาสตร์ “New Central, New Retail” เป็นโรดแมพในการดำเนินธุรกิจ และทำให้ เซ็นทรัล รีเทล ก้าวสู่การเป็นบริษัทค้าปลีกแบบออมนิแชนแนลที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Omnichannel customer-centric retailer) อย่างเต็มรูปแบบตอบโจทย์ยุคโควิดได้อย่างทันท่วงที
ขณะเดียวกัน มุ่งสร้างประสบการณ์แบบ “Personalization” โดยนำเสนอรูปแบบการชอปปิงแบบ “เฉพาะเจาะจง” สำหรับแต่ละบุคคล และให้บริการที่สะดวก ตรงความต้องการ และรวดเร็วแก่ลูกค้า เช่น บริการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง บริการส่งสินค้าเร็วภายใน 3 ชั่วโมง พร้อม ๆ กับสร้างความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล การขนส่ง และความรวดเร็ว รวมถึงการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ด้านสุขภาพ เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ โรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโล เพื่อให้บริการเข้าถึงลูกค้า ผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ได้มากขึ้น และการจับมือกับพาร์ทเนอร์ควิกคอมเมิร์ซอย่าง แกร็บ ฟู๊ดแพนด้า และไลน์
ญนน์ ย้ำว่า ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวเข้าสู่ยุค “Next Normal” โดยโฟกัสที่เทรนด์ด้านสุขภาพ และประสบการณ์เป็นหลัก พร้อมยึดหลักการทำธุรกิจบนความเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องชุมชนและสิ่งแวดล้อม ให้คุณค่ากับจริยธรรมขององค์กร และคาดหวังให้แบรนด์เป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดี ดังนั้นแบรนด์จะต้องวางเป้าหมายให้ชัดเจน และแสดงให้เห็นถึงความยึดมั่นต่อเป้าหมาย โดยไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด แบรนด์ก็ยังต้องเน้นการให้คุณค่าและการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในเชิงลึก
“แม้ขณะนี้ ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในเรื่องการจับจ่ายมากขึ้น แต่ก็ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ ผู้บริโภคยินดีใช้จ่ายในด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยมากขึ้น พร้อมทั้งมองหาประสบการณ์ที่จะช่วยเชื่อมต่อโลกเสมือนจริงกับโลกที่เป็นอยู่ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน”
เป้าหมายของ “เซ็นทรัล รีเทล” มุ่งรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีก โดยให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายของผู้คนในโลกแบบ “ไฮบริด” ทั้งลูกค้า พนักงานในองค์กร โดยวางกรอบแนวทางดำเนินงานต้องเป็นองค์กรที่รับฟังเข้าอกเข้าใจ มีการสื่อสารที่ชัดเจนกับกลุ่มคนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ต้อง "ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่" โดยโฟกัสไปที่จุดแข็ง เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับองค์กร เช่น
ด้านความเร็ว-กล้าตัดสินใจเพื่อตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน
ด้านสินทรัพย์-พยายามทำตัวให้เบา เลือกเก็บสิ่งที่มีค่า และกระจายความเสี่ยงออกไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน
ด้านการจ้างงานภายในและภายนอก-การมองหาพาร์ทเนอร์
ด้านการปรับทีมทำงาน-ทำให้องค์กรเคลื่อนตัวได้เร็ว และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเผชิญความท้าทายจากปัจจัยภายนอก
เซ็นทรัลรีเทล ยังมุ่งปรับเป้าหมายธุรกิจไม่ได้มุ่งเน้นแค่ยอดขายหรือกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้กับลูกค้า และประสบการณ์ที่สร้างเสริมทักษะให้กับพนักงาน เพื่อเพิ่มคุณค่า และสร้างความจงรักภักดีต่อองค์กร อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในระยะยาว
เมื่อเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปสู่สิ่งที่เคยเป็นได้ ต้องมองไปข้างหน้า และปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ เพื่อที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ไปอีกนาน!!
แน่นอนว่า การใช้ชีวิตแบบ “10X DNA” จะเข้ามาเป็นตัวเปลี่ยนเกม! และกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จที่มากขึ้น และยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย D-Daring กล้าที่จะลอง N-Never Stop ไม่หยุดยั้ง และ A-Agile ยืดหยุ่น ปรับตัวเร็ว
“เราต้องกล้าคิดการใหญ่ แต่ทำให้ใหญ่กว่าที่คิด” ญนน์ กล่าวย้ำ
นอกจากนี้ ต้องยอมรับข้อผิดพลาดและพร้อมแก้ไขทันที กล้าที่จะล้มเพื่อเรียนรู้และทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม เราต้องไม่หยุดพัฒนา และไม่เดินหน้าเพียงคนเดียว การจับมือก้าวไปพร้อมกันทำให้เราไปได้ไกลกว่า และมั่นคงกว่า และนี่คือเวลาของการเริ่มต้นใหม่ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในยุคที่จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป (Never-normal World)
ปัจจุบัน อาณาจักร “เซ็นทรัล รีเทล” เรือธงด้านค้าปลีกซึ่งเป็นรากฐานของกลุ่มเซ็นทรัล ดำเนินธุรกิจใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ครอบคลุม 54 จังหวัด เวียดนาม ขยายตลาดอยู่ใน 39 จังหวัด และ อิตาลี ปักหมุดเมืองท่องเที่ยวหลักทั่วประเทศ
โดย ณ 30 มิ.ย.2564 มีเครือข่ายร้านค้าภายใต้แบรนด์ค้าปลีก 3,687 ร้านค้า นำเสนอสินค้าหลากหลายประเภท (Multi-category) ผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย (Multi-format) อาทิ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายสินค้าเฉพาะทาง ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต พลาซ่า และการจำหน่ายสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มออมนิแชนแนล ครอบคลุม 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่
“กลุ่มแฟชั่น” เน้นสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ภายใต้ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล,ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน,ซูเปอร์สปอร์ต,เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป (CMG)และรีนาเชนเต (Rinascente)
“กลุ่มฮาร์ดไลน์” เน้นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าตกแต่งซ่อมแซมบ้าน ภายใต้ ไทวัสดุ,บ้านแอนด์บียอนด์,เพาเวอร์บาย,เหงียนคิม,ออฟฟิศเมท,บีทูเอส,และเมพ (e-book)
“กลุ่มฟู้ด” เน้นสินค้าของสดและของใช้บริโภคในครัวเรือน ภายใต้ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์,ท็อปส์ มาร์เก็ต,ท็อปส์ เดลี่,แฟมิลี่มาร์ท,บิ๊กซี/โก! และลานชี มาร์ท
“กลุ่มพร้อพเพอร์ตี้” เน้นให้เช่าพื้นที่ค้าปลีกแก่บุคคลภายนอกและร้านค้าในเครือฯ ภายใต้ โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์,ท็อปส์ พลาซ่า,และบิ๊กซี/โก!