วันนี้ (28 ส.ค.64) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีการบรรยายผ่านระบบซูม (Zoom Meetings) ให้ความรู้เรื่อง ‘การทำศูนย์พักคอยในชุมชน’ หรือ ‘
Community Isolation (CI) เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชน โดยนายอดิเรก แสงใสแก้ว อุปนายก และเลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เป็นผู้บรรยายให้ความรู้เรื่องการจัดทำ CI ซึ่งมีผู้นำชุมชนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ พอช.ประมาณ 50 คนร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนประสบการณ์
นายอดิเรก กล่าวว่า การจัดตั้ง CI จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การจัดตั้ง CI ที่เขตราษฎร์บูรณะ ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมวางระบบ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชน (ศรีไทยซุปเปอร์แวร์) ให้ใช้โกดังเก็บสินค้าที่ไม่ได้ใช้งาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ประมาณ 2,000 ตารางเมตร มาปรับปรุงเป็น CI โดยติดตั้งเตียงกระดาษ ระบบประปา ไฟฟ้า ระบบระบายอากาศ ระบบน้ำทิ้ง การจัดการขยะติดเชื้อ ห้องอาบน้ำ ห้องสุขา ติดตั้งระบบวงจรปิดดูแลผู้ป่วย เพื่อลดการสัมผัสผู้ป่วย รวมทั้งมีห้องความดันลบสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ใช้เวลาดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ประมาณ 10 วันจึงเปิดบริการได้ โดยมีโรงพยาบาลประชาพัฒน์ดูแลผู้ป่วย รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 300 เตียง และตั้งเป้าว่า CI แห่งนี้จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้ประมาณ 10,000 คน
นายอดิเรก กล่าวด้วยว่า การจัดตั้ง CI ในชุมชนนั้น ผู้นำชุมชนจะต้องชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชน และท้องถิ่น เพราะบางคนอาจกลัวว่า CI จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ทำให้เกิดการต่อต้าน และต้องมีการจัดวางระบบเพื่อความปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเน้นการใช้วัสดุ อุปกรณ์ที่ชุมชนมีอยู่ หรือสินค้ามือสองมาปรับปรุงเป็นอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อความประหยัด
ทั้งนี้สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรฯ สนับสนุนการจัดตั้ง CI ในชุมชนต่างๆ โดยล่าสุด มีการจัดตั้งไปแล้วใน 4 ชุมชน เช่น ชุมชนคลองลัดภาชี เขตภาษีเจริญ ชุมชนคลองลำนุ่น เขตคันนายาว ชุมชนรุ่งมณี เขตวังทองหลาง ฯลฯ ทั้งหมดเป็น CI ขนาดเล็กตามสภาพของชุมชน และยังมีการจัดเตรียม CI อีก 4 แห่งในกรุงเทพฯ คือ 1.ชุมชนตึกแดง เขตบางซื่อ ใช้ศูนย์เด็กเล็กในชุมชนเป็น CI ขณะนี้อยู่ในระหว่างปรับปรุง รองรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 50 คน 2.ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู เขตสาธร 3.บริเวณลานกีฬาใต้ทางด่วนชุมชนภักดี เขตจตุจักร รองรับ 7 ชุมชนโดยรอบ และ 4. ชุมชนนันทิศา เขตคลองสามวา
ทั้งนี้สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยจะเป็นที่ปรึกษาในการวางระบบและให้ความรู้ กระบวนการ ขั้นตอน การออกแบบ และจัดทำ CI ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จะสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงสถานที่ ระบบสาธารณูปโภค การจัดทำครัวกลาง ฯลฯ ขณะที่ชุมชนจะจัดเตรียมสถานที่ อาสาสมัครดูแลผู้ป่วย ประสานกับ สปสช.และศูนย์สาธารณสุข กทม.เพื่อจ่ายยา อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องวัดอ๊อกซิเจนในเลือด ปรอทวัดไข้ และดูแลผู้ป่วยผ่านระบบ telemedicine หรือให้คำแนะนำผ่านโทรศัพท์ หรือสื่อออนไลน์