จากการที่ไทยเราขึ้นทะเบียน
กลุ่มป่าแก่งกระจาน ขึ้นเป็น มรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งใหม่ล่าสุด ต่อจากทุ่งใหญ่-ห้วยขาแห้ง ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และล่าสุด “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ซึ่งมี 3 อุทยานแห่งชาติ คืออุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และ อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน ส่วนอีก 1 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า คือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มแม่น้ำภาชี ซึ่งอุทยานแห่งชาติกุยบุรีมีสมญานามว่าซาฟารีเมืองไทย และ “อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” นั้น แทบจะไม่ต้องแนะนำอะไรกันเลย แต่ “อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน” นี่สิ สมควรที่จะต้องเอาไฟส่องมาดูกันหน่อย (ส่วนเขตฯลุ่มแม่น้ำภาชี จะได้มาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป)
ที่ทำการ “อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน” นั้นย้ายออกมาจากบริเวณอ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจันออกมาอยู่ที่น้ำพุร้อนโป่งกระทิงที่บ้านน้ำพุ ต.บ้านบึง อ.ป่าคา จ.ราชบุรี ด้วยเหตุผลของการสื่อสารที่พอไปอยู่ในที่อับสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทำให้การติดต่อราชการอะไรเป็นไปอย่างยากลำบาก
น้ำพุร้อนโป่งกระทิง
การเดินทางก็ไปไม่ยากไปได้หลายทาง ตั้ง GPS ไว้ที่บ้านพุน้ำร้อน อ.บ้านคา ระยะทางจากตัวเมืองราชบุรีจะอยู่ราว 83 กิโลเมตร หย่อนก็ไม่มาก
“อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน” นี้ ตั้งขึ้นเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งทรงมีพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2535 เพื่อสนองพระราชปณิธานที่จะทรงอนุรักษ์ป่าไม้ โดยให้ราษฎรช่วยกันรักษาป่าอันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของราษฎร ซึ่งได้ทรงมีพระราชดำริไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อนที่จะให้มีป่าไม้หลายๆ แห่งที่อุดมสมบูรณ์ตามสภาพและประเภทของป่าไม้ที่เคยเห็นอีกทั้งเป็นแบบอย่างของการพัฒนาฟื้นฟูสภาพป่า และอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทย
ที่ทำการแห่งใหม่
ศาลารับเสด็จ สมเด็จพระพันปีหลวง ริมอ่างเก็บน้ำแม่ประจันในปี 2539
ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เคยอยู่ใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมาย
จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถเข้ามาควบคุมพื้นที่ได้จึงเกิดความสงบสุขขึ้น จากนั้นได้ดำเนินการวางแผนเร่งรัดพัฒนาฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในส่วนที่ถูกทำลายให้สอดคล้อง กับพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และส่งเสริมพัฒนาอาชีพแก่ราษฎรในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อ่างเก็บน้ำแม่ประจัน
ในปี พ.ศ. 2546 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พิจารณาความเหมาะสมที่จะประกาศจัดตั้งพื้นที่โครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยตั้งชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน” ตามคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชที่ 2393/2546 ลงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2546
โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่บริเวณที่ดินป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ป่ากงเกวียน ป่าพุยาง และป่าพุสามซ้อน ในท้องที่ตำบลอ่างหิน ตำบลทุ่งหลวง ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ ตำบลหนองพันจันทร์ อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ประมาณ 328.74 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนที่ 9 ก วันที่ 24 มกราคม 2555 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 124 ของประเทศไทย
ป่าสมบูรณ์ของอุทยานฯไทยประจัน /ภาพ อานนท์ พลอินทร์
พื้นที่ส่วนใหญ่ของที่นี่เป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อน วางตัวในแนวเหนือ-ใต้อยู่ทางด้านตะวันตกของจังหวัดราชบุรี จนไปจรดประเทศเมียนมา ในท้องที่อำเภอปากท่อ อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี มียอดเขาสูงสุดชื่อ เขายืดหรือเขาพระรอบ มีความสูงประมาณ 834 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง สภาพป่าจะเป็นป่าเบญจพรรณ ซึ่งมีป่าไผ่เป็นส่วนประกอบ แต่ป่าแบบนี้ก็อย่าคิดว่าไม่เป็นป่าต้นน้ำ ซึ่งป่าทุกประเภท ลองไม่ถูกทำลาย มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ก็ล้วนเป็นป่าต้นน้ำได้ทั้งสิ้น
พื้นที่อุทยานแห่งชาตินี้มีทิวเขาป่าแม่ประจันเป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยหลายสาย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของห้วยพุไทร ห้วยท่าเคย ห้วยพุน้ำร้อน ลุ่มน้ำแม่ประจัน ไหลลงทางใต้ ผ่านหนองหญ้าปล้อง แล้วไหลลงไปรวมแม่น้ำเพชรบุรี และอีกหนึ่งลุ่มน้ำคือลุ่มแม่น้ำภาชี ไหลผ่าน อ.สวนผึ้ง อ.จอมบึง แล้วไปสมทบกับแม่น้ำแม่กลองอีกครั้งหนึ่ง และไม่น่าเชื่อว่าป่าแบบนี้ จะมีสมเสร็จ ซึ่งเป็นสัตว์หายากอยู่ในรพื้นที่ด้วย
ฝูงนกเงือก กรามช้างในอุทยานฯไทยประจัน / ภาพ อานนท์ พลอินทร์
'เยียวยาประกันสังคมมาตรา 40' เช็คโอนพร้อมเพย์-ทบทวนสิทธิ์ ยังไม่ได้เงินทำไง?
ด่วน! ยอด 'โควิด-19' วันนี้ ยังตายสูง! พบเสียชีวิต 292 ราย ติดเชื้อเพิ่ม 17,984 ราย ไม่รวม ATK อีก 2,535 ราย
เตรียมตัวให้พร้อม "ร้านนวด-เสริมสวย" คลายล็อก 1 ก.ย. นี้
แหล่งท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติแห่งนี้คือน้ำพุร้อนโป่งกระทิง ซึ่งเป็นที่ตั้งเดียวกับที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งน้ำพุร้อนนี้ก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด-19 มา ก็มีนักท่องเที่ยว มาอาบ มาแช่กันเหมือนกัน แม้ไม่มากมายเท่าที่แจ้ซ้อน แต่ก็ไม่เคยร้างคน
นักท่องเที่ยวมาแช่น้ำร้อน
แต่ที่เป็นที่รู้จักกันมานานแล้วก็คือ ย่านที่ทำการอุทยานแห่งชาติเก่า ซึ่งตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำไทยประจัน ที่บ้านไทยประจันนั่นเอง เพราะที่นี่จะมีลานกางเต็นท์ริมลำธารลำห้วยไทยประจัน ก่อนที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นที่นิยมของคนที่ชอบกางเต็นท์มาก และยังมีทางลำลองเข้าไปในป่า จะผ่านลำห้วยแม่ประจันที่วกไปเวียนมา บางช่วง บางจุดก็จะเป็นแก่งน้ำตก
ทางลำลองนี้จะเจอลำห้วยถึง 5 ครั้ง โดยมีชื่อต่างๆ กัน เช่น โตรกทิวไผ่ โตรกธารหิน (หรือแก่งเทียนป่า) โตรกแซวสวรรค์ โตรกบังไพร และโตรกลีลา ซึ่งโตรกทั้งหมดนี้มีเพียงโตรกธารหิน ที่มีลักษณะน้ำตกที่ไหลผ่านลานหินแล้วตกลงในชั้นต่างระดับสูงราว 2-3 เมตรเท่านั้น นอกนั้นจะเป็นบริเวณแก่งน้ำทั่วไปมีก้อนหินอยู่กลางลำธาร มีต้นไคร้น้ำขึ้นเท่านั้น
แก่งเทียนป่า
แต่ถ้าเดินเท้าจากโตรกลีลา ระยะทาง 20 กิโลเมตร ไปตามทางในป่า ซึ่งมีขึ้นเขาและลงหุบห้วยในบางช่วง ก็จะถึงน้ำตกไทยประจันชั้นที่ 1 ซึ่งน้ำตกนี้จะมีทั้งสิ้น 11 ชั้น แต่ละชั้นห่างกันราว 5-20 เมตร สูงตั้งแต่ 4-11 เมตร ชั้นที่สูงที่สุดคือ ชั้นที่ 9 และชั้นที่ 11 สูงราว 20 เมตร แต่ทางขึ้นไปค่อนข้างชัน รอบๆ เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง มีน้ำตลอดทั้งปี ซึ่งคนที่สนใจจะต้องเป็นแนวนักท่องเที่ยวที่เดินป่า คือแบกเป้ไปกินนอนในป่า เพราะต้องใช้เวลาเดินเท้าไปกลับ 3 วัน 2 คืน และต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางด้วย
น้ำตกไทยประจัน / ภาพจากอุทยานฯ
จะเห็นว่าแม้ “อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน” จะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากนัก แต่คุณค่าของพื้นที่ไม่ได้ลดหายหรือด้อยลงแต่อย่างใด ยังคงทำหน้าที่เสริมเพิ่มให้ “มรดกโลกทางธรรมชาติ” ของไทยเราแห่งนี้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สมควรกับการได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ “มรดกโลก” อย่างแท้จริง...