'ศูนย์วิจัยกสิกรไทย' ชี้โควิดดัน 'ขยะติดเชื้อ' ปี 64 พุ่งแตะ 61.3 ล้านกก.

'ศูนย์วิจัยกสิกรไทย' ชี้โควิดดัน 'ขยะติดเชื้อ' ปี 64 พุ่งแตะ 61.3 ล้านกก.

  • 0 ตอบ
  • 72 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Jessicas

  • *****
  • 2373
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องของปริมาณขยะพลาสติกที่ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะตามมา ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกหันมาตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูแลในเรื่องของปัญหาขยะพลาสติกกันมากขึ้น ผ่านมาตรการต่างๆ ในการจัดการขยะพลาสติก รวมถึงการรณรงค์งดใช้พลาสติก การนำขยะพลาสติกมารีไซเคิล หรือหันไปใช้วัสดุอย่างอื่นทดแทน

แต่สำหรับช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ จากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ผู้บริโภคกังวลและหันมาดูแลป้องกันสุขภาพกันมากขึ้น จึงก่อให้เกิดปริมาณขยะโดยเฉพาะกลุ่มขยะติดเชื้อ หรือมูลฝอยติดเชื้อ ที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และขยะกลุ่มดังกล่าวถือเป็นขยะอันตรายและต้องมีกลวิธีในการทำลาย หรือกำจัดเฉพาะ

ปัจจุบันด้วยสถานการณ์การระบาดที่ยังไม่คลี่คลายในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยที่หากเปรียบเทียบจำนวนยอดผู้ติดเชื้อใหม่ในอาเซียน พบว่า ไทยมียอดผู้ติดเชื้อรายวันในช่วงเกือบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา (1 สิงหาคม – 18 สิงหาคม 2564) ยังคงพุ่งสูงขึ้นเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย อีกทั้งผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ก็น่าจะทำให้ปริมาณขยะติดเชื้อยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการวางแผนและวิธีการบริหารจัดการขยะเหล่านี้ในอนาคต


สำหรับไทย เดิมทีปริมาณขยะติดเชื้อส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มสถานบริการทางการแพทย์ทั้งรัฐและเอกชน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น แต่จากสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่จะทำให้ปริมาณขยะติดเชื้อจากภาคธุรกิจบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่หมายถึงการหันมาใส่ใจป้องกันดูแลสุขภาพของภาคครัวเรือนที่ทำให้ปริมาณขยะติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการสวมใส่หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันตัวเอง ชุดตรวจโควิด เป็นต้น

ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย และยังคงพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันสูง ส่งผลให้คาดว่า ปริมาณขยะติดเชื้อหรือมูลฝอยติดเชื้อในช่วงที่เหลือของปี 2564 น่าจะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้ทั้งปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปริมาณขยะติดเชื้อน่าจะอยู่ที่ประมาณ 61.3 ล้านกิโลกรัมเพิ่มขึ้นกว่า 2.0 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงปกติที่ไม่มีการระบาดของโควิดในปี 2562

จากปริมาณขยะติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินว่า ต้นทุนในการบริหารจัดการขยะติดเชื้อ ในปี 2564 น่าจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 920 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ยังไม่มีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งต้นทุนในการบริหารจัดการขยะติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ ถือเป็นต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 และเกิดจากความจำเป็นในการป้องกันดูแลสุขภาพของประชาชนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี หากมองอีกมุมหนึ่ง ต้นทุนจากขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นบางส่วนมาจากการป้องกันดูแลสุขภาพของประชาชนที่ระมัดระวังขึ้น ก็อาจจะช่วยลดค่าเสียโอกาสจากการเจ็บป่วยของโรคได้บ้าง แต่ทั้งนี้อาจจะต้องมาควบคู่กับการบริหารจัดการขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นอย่างถูกวิธีและปลอดภัยด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้เป็นความเสี่ยงต่อผู้อื่นและกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศโดยรอบ

ในระยะข้างหน้า ด้วยสถานการณ์ของการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน ประกอบกับการใส่ใจดูแลสุขภาพที่มากขึ้นของประชาชน รวมถึงความเสี่ยงในการเจ็บป่วยที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ และความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ เช่น การเกิดปัญหามลภาวะฝุ่นละออง PM2.5 ที่ทำให้ประชาชนต้องหันมาสวมหน้ากากอนามัยในช่วงที่มีการแพร่กระจายของฝุ่นละออง การเกิดโรคอุบัติใหม่ๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงอาจส่งผลต่อความไม่แน่นอนของต้นทุนในการบริหารจัดการขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

คำถามที่ตามมาคือ ประสิทธิภาพในการเก็บขนขยะและจัดการขยะติดเชื้อในปัจจุบันจะเพียงพอหรือไม่ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ควรตระหนักถึงแนวทางการรับมือและจัดการขยะเหล่านี้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณเตาเผาหรือโรงกำจัดขยะติดเชื้อ รวมถึงการรณรงค์หรือให้ความรู้และวิธีการในการคัดแยกขยะติดเชื้อที่ถูกวิธีแก่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันทางหน่วยงานรัฐได้มีการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะติดเชื้อที่ถูกวิธีแก่ประชาชนไปบ้างแล้ว นอกจากนี้ อาจจะต้องมีการจัดเตรียมถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัย และขยะติดเชื้อประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะในจุดสำคัญต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการทิ้งและคัดแยกขยะมาทำลาย อีกทั้งยังปลอดภัยต่อพนักงานเก็บขยะหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดที่รุนแรง เช่น จีน สหรัฐฯ ต่างได้รับผลกระทบจากปริมาณขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน และได้มีการออกมาตรการต่างๆ มาเพื่อบริหารจัดการกับขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น

ตัวอย่างแนวทางการรับมือหรือมาตรการในการจัดการขยะติดเชื้อหลังเกิดโควิด-19

- จีน

·  สร้างโรงเผาขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ เช่น อู่ฮั่น หรือมีการดัดแปลงโรงกำจัดขยะเดิมเพื่อกำจัดขยะติดเชื้อ

·  กำหนดให้ตั้งถังขยะพิเศษในชุมชนทุกแห่ง และออกข้อกำหนดให้ประชาชนนำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วพับใส่ถุงพลาสติกและทิ้งลงในถังขยะพิเศษสีแดงเท่านั้น

·  ติดตั้งกล้อง CCTV ในจุดที่ทิ้งขยะ เพื่อบันทึกตลอดเวลา

· ออกมาตรการลงโทษหรือปรับเงินผู้ที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติเกี่ยวกับการทิ้งขยะติดเชื้อไม่ถูกวิธีในบางพื้นที่ เช่น เซี่ยงไฮ้ 

- สหรัฐ

·  การสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้ประชาชนแยกขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธี

·  พนักงานเก็บขยะและผู้ที่้เกี่ยวข้องต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ เช่น ถุงมือ เสื้อผ้าที่รัดกุม และเฟซชิลด์ เพื่อลดความเสี่ยงจากขยะติดเชื้อที่มาจากภาคครัวเรือน

ที่มา: TDRI และรวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย