หนึ่งในโครงการสำคัญในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) คือโครงการพัฒนา "
สนามบินอู่ตะเภา" และ"เมืองการบินภาคตะวันออก" ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองการบินรวมทั้งเริ่มต้นลงทุนระบบเติมน้ำมันอากาศยาน
การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีการวางแผนแม่บทฉบับสมบูรณ์แล้ว และหลังจากนี้จะเป็นการพัฒนาในแต่ละส่วน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานรองรับ โดยความคืบหน้า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่มีการรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 พบว่า
บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ซึ่งรับหน้าที่พัฒนาสนามบิน ได้จัดทำแผนแม่บทสนามบินฉบับสมบูรณ์เสร็จแล้ว และมีการจ้างผู้ออกแบบระดับโลก
กองทัพเรือ (ทร.) ที่รับหน้าที่พัฒนาสนามบินได้ออกแบบทางวิ่ง 2 เสร็จแล้ว และมีการปรับถมดินทางขับระยะที่ 1 คืบหน้า 80.53%
บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ "อีสท์วอเตอร์" รับผิดชอบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้เตรียมก่อสร้างระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) รับผิดชอบวางแผนแม่บทการพัฒนาภายในสนามบินได้จัดทำแผนแม่บทศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) แผนแม่บทศูนย์บริการอุปกรณ์ภาคพื้น และแผนแม่บทศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทักษะชั้นสูงด้านอุตสาหกรรมการบิน
บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่เคยมีแผนพัฒนา MRO ได้กันพื้นที่ให้การบินไทย 103 ไร่ หากต้องการลงทุนในอนาคต
ในขณะที่การวางระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ซึ่งผู้ได้รับคัดเลือก คือ บริษัท โกลเบิลแอโร่แอสโซซิเอทส์ จํากัด (GAA) ซึ่งร่วมทุนระหว่าง บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ "BAFS" ถือหุ้น 55% และ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ "OR" ถือหุ้น 45% ภายใต้ทุนจะทะเบียน 600 ล้านบาท
สกพอ.ได้ลงนามการเช่าพื้นที่ราชพัสดุเพื่อพัฒนาโครงการพัฒนาระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและอากาศยานกับบริษัท โกลเบิลแอโร่แอสโซซิเอทส์ จํากัด เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2564 โดยเป็นการเช่าพื้นที่บริเวณสนามบินอู่ตะเภา 17 ไร่ สัญญาเช่า 14 ปี
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิธีลงนามครั้งนี้ โดยระบุว่า โครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คืบหน้าเป็นลำดับแต่จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้โครงการที่เกี่ยวข้องกับการบิน 3 โครงการ สะดุดบ้าง แต่มั่นใจว่าเมื่อควบคุมการแพร่ระบาดได้ และมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นจะทำให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการบินในสนามบินอู่ตะเภาคืบหน้า โดยการลงทุนระบบการเติมเชื้อเพลิงอากาศยานที่เป็นการเตรียมความพร้อมสำคัญที่จะเดินหน้าโครงการต่างๆ ในอีอีซี โดยเฉพาะการขนส่งทางอากาศทั้งการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานภายในสนามบินเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญของสนามบิน
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดย สกพอ.ร่วมกับกองทัพเรือคัดเลือกเอกชนพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ซึ่ง GAA มีประสบการณ์มานานและเชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่จากภาคเอกชน อีกทั้งลดภาระงบประมาณและบุคลากรภาครัฐ และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้ทำธุรกิจมากขึ้น
หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล ประธานกรรมการ GAA กล่าวว่า การเช่าที่ดินราชพัสดุดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุน โดยโครงการมีมูลค่าการลงทุนเริ่มแรก 2,237 ล้านบาท ซึ่ง GAA จะเตรียมความพร้อมในด้านระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ส่งเสริมศักยภาพสนามบินอู่ตะเภาที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานรองรับการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของสนามบินอู่ตะเภา ในปี 2568 และการเติบโตของอีอีซีตามนโยบายการพัฒนาประเทศ
รวมทั้ง พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคม ด้วยความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจด้านการบริหารจัดการและการให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานและธุรกิจด้านพลังงาน มามากกว่า 30 ปี โดย BAFS และ OR จะสนับสนุนให้ GAA มีศักยภาพ ด้วยความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้การบริหารจัดการและการให้บริการณสนามบินอู่ตะเภามีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการค้าน้ำมันเสรีแบบ Open Access ดูแลระบบท่อส่งน้ำมันใต้ลานจอด
ประกอบเกียรติ นินนาท กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BAFS กล่าวว่า "BAFS" เป็นผู้นำในด้านการให้บริการระบบเติมน้ำมันอากาศยานแบบครบวงจรของประเทศ ที่ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทน้ำมันและสายการบินจากทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมการบินของประเทศ โดยการจัดตั้ง GAA จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และเป็นก้าวสำคัญในการรองรับการเติบโตของโครงการในอีอีซีและประเทศไทยต่อไปในอนาคต
จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR กล่าวว่า OR ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน Flagship ของกลุ่ม ปตท. และเป็นผู้นำด้านพลังงาน OR ให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สามารถตอบสนองได้ทุกความต้องการของลูกค้าในอุตสาหกรรมการบิน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานภายในสนามบินอู่ตะเภา สอดคล้องเป้าหมายยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานานชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3