ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการตรวจพบโควิดบนบรรจุภัณฑ์ทุเรียนไทยในมณฑลเจียงซี ซึ่งเป็นการสุ่มตรวจเชื้อตามปกติในพื้นที่ และส่งผลให้สำนักงานป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แขวงซงโจว เขตไป๋หยุน นครกว่างโจว ออกประกาศเกี่ยวกับการระงับทุเรียนไทยที่มีแหล่งผลิตในบางพื้นที่ของไทย ไม่ให้เข้ามาจำหน่ายในพื้นที่ซึ่งมีตลาดเจียงหนานเป็นตลาดค้าส่งขนาดใหญ่และตลาดอื่น ๆ เนื่องจากพบความเชื่อมโยงจากกรณีของมณฑลเจียงซี จึงได้มอบหมายให้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบประเด็นดังกล่าว โดยสั่งการให้ทูต/กงสุลเกษตรในจีนประสานงานแก้ไขปัญหาและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง จนมีการยกเลิกประกาศฯ สามารถปลดล็อคการระงับการจำหน่ายในตลาดเจียงหนาน นครกว่างโจวได้สำเร็จ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ตลาดค้าส่งผักและผลไม้เจียงหนาน นครกว่างโจว ซึ่งเป็นตลาดผักผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดทางตอนใต้ของจีน ได้ออกประกาศการกลับมาดำเนินการปกติ ไม่มีการห้ามสินค้าผลไม้ไทยมาจำหน่ายในตลาด แต่จะอนุญาตให้สินค้าผลไม้ที่มีรับรองครบเท่านั้นถึงจะเข้าตลาดได้ คือ ใบรับรองการผ่านพิธีการศุลกากร ใบตรวจสอบกักกัน ใบรับรองการฆ่าเชื้อ และผลการตรวจโควิด ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการอย่าหลงเชื่อข่าวลือ (fake news)
นอกจากนี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมนัดหมายหารือทวิภาคีกับฝ่ายจีนเพื่อหารือร่วมกันแก้ไขปัญหาและผลักดันผลไม้ไทยสู่ตลาดจีน พร้อมทั้งได้แจ้งให้ผู้ประกอบการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทยเพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันเชื้อโควิดปนเปื้อนในผลไม้ไทยส่งออก ต้องทำการฆ่าเชื้ออย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าสินค้าเกษตรไทยมีมาตรการคุมเข้มการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิดตั้งแต่ต้นทาง
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงระบาดในไทยและหลายประเทศทั่วโลก ประกอบกับไทย ยังมีอัตราผู้ติดเชื้อ ในประเทศสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายฝ่ายต่างเกิดความกังวลนั้น
ในส่วนของสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก ทาง ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเข้มงวดในมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อของสินค้าเกษตรในทุกกระบวนการให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการกำชับและคุมเข้ม ครอบคลุมในทุกมาตรการ ตั้งแต่มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันสำหรับเกษตรกรในการดูแลตนเอง การทำความสะอาดพื้นที่และสวนเกษตร
มาตรการสำหรับผู้ประกอบการสถานประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) และมาตรการสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเกษตร มีการเฝ้าระวัง ตั้งแต่การพ่นยาฆ่าเชื้อตั้งแต่ต้นทางจากสวน จนถึงระบบขนส่ง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ภายในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตร ติดตามกำกับดูแลที่โรงคัดบรรจุให้ปฏิบัติตามมาตรการ และตรวจสอบใบรับรอง GAP และศัตรูพืช เพื่อออกใบรับรองสุขอนามัยพืชให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกอย่างเคร่งครัด โดยยึดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) และ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
ขณะที่ด้านปศุสัตว์ ได้เน้นย้ำมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่ โดยกรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ และผู้ประกอบการ มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในโรงงาน และตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีการเก็บสินค้าตัวอย่าง หากพบมีความเสี่ยงหรือปนเปื้อนเชื้อ กรมปศุสัตว์จะไม่อนุญาตให้ทำการจำหน่ายหรือส่งออกในทันที นอกจากนี้ จากที่โรงานผลิตมีขอบเขตพื้นที่ชัดเจน ดังนั้น หากพบการติดเชื้อของพนักงานในโรงงาน จะสามารถคัดแยกผู้ติดเชื้อออกได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นไปตามแนวทางบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) ของกรมควบคุมโรค
สำหรับสินค้าประมง กรมประมงได้เข้มงวดระบบการควบคุมตรวจสอบ ตั้งแต่ต้นทาง เช่น เรือประมง มีการผ่านการตรวจสอบ มาตรฐานสุขอนามัย มีมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งจะต้องได้มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) โดยสินค้าประมงส่งออก มีการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยตลอดสายการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบที่นำเข้าโรงงาน กระบวนการในการแปรรูป การบรรจุ ตามมาตรฐาน Good Man.cturing Practice หรือ GMP และ Hazard Analysis Critical Control Point หรือ HACCP เพื่อให้ ระบบคุณภาพของโรงงานและผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ กรมประมงได้ร่วมกับผู้ประกอบการ กำหนดมาตรการ ในการเฝ้าระวัง ติดตามและดูแลแรงงานในสถานประกอบการตามมาตรฐานการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทางกระทรวง สาธารณสุขกำหนดไว้ทั้งมาตรการ Bubble and seal และอื่นๆ ที่จำเป็น
“ผมขอเรียนให้ประชาชนผู้บริโภคสินค้าเกษตร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คลายความกังวลและสบายใจได้ว่า กระบวนการผลิตสินค้าเกษตรไทย ปราศจากการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 โดยหลายประเทศ ในขณะนี้ ได้ยกระดับมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก สินค้านำเข้าจะต้องมีการฆ่าเชื้อบรรจุภัณฑ์ก่อนเข้าสู่ตลาดในประเทศต่าง ๆ และตรวจถูกตรวจเพื่อหาเชื้อโควิด-19”
ซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการและกำชับให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ เข้มงวดตลอดสายการผลิตให้มากยิ่งขึ้น มีการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้า ทั้งกลุ่มพืช ไม้ผล ปศุสัตว์ ประมง เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใดในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร นอกจากนี้ ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการทุกท่าน ควบคุม กำกับดูแล ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้ออย่างเข้มงวดให้มากกว่าเดิม ทั้งนี้ หากมีการตรวจพบเชื้อปนเปื้อนในกระบวนการผลิต กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพณิชย์ กระทรวงแรงงาน และผู้ประกอบการ เราจะร่วมมือกันในการตรวจสอบย้อนกลับ ถึงสาเหตุการปนเปื้อนอย่างเร่งด่วนและเร่งแก้ปัญหาในทันที”