นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า แม้ว่า ในปีงบประมาณ 2564 กระทรวงการคลังจะไม่สามารถจัด
เก็บรายได้ให้รัฐบาลได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่กระทรวงการคลังจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องให้รัฐบาลสามารถใช้จ่ายและปิดหีบงบประมาณในปีนี้ได้ โดยที่ระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนก.ย.2564 จะอยู่ในระดับกว่า 4 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ขณะนี้ เงินคงคลังของรัฐบาลอยู่ในระดับกว่า 3 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ที่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย โดย 9 เดือนของปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายราว 1.9 แสนล้านบาท ตลอดทั้งปีงบประมาณกระทรวงการคลังคาดว่า จะต่ำกว่าเป้าหมายกว่า 2 แสนล้านบาท
“แม้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณนี้จะต่ำเป้าหมาย แต่กระทรวงการคลังจะสามารถบริหารจัดการให้การปิดหีบงบประมาณทำได้สำเร็จ และ ยังทำให้แคชโฟลว์ของรัฐบาลในปลายงวดที่จะส่งต่อไปยังปีงบประมาณใหม่มีความเพียงพอที่กว่า 4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เงินคงคลัง เป็นส่วนเสริมสภาพคล่องในระบบงบประมาณ”
สำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 3.285 ล้านล้านบาท โดยคาดว่า จะมีรายได้ 2.677 ล้านล้านบาท ทำให้เป็นงบประมาณขาดดุล และต้องกู้ชดเชยการขาดดุล 6.23 แสนล้านบาท สำหรับงบประมาณรายจ่าย 2565 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค.นี้นั้น มีงบประมาณรายจ่ายที่ 3.10 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจะมีรายได้เข้ามา 2.4 ล้านล้านบาท ทำให้เป็นงบประมาณขาดดุล 7 แสนล้านบาท
เขากล่าวว่า ผลการจัดเก็บรายได้ที่ต่ำเป้าหมาย เป็นผลพวงจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่กระทบทุกกิจกรรมเศรษฐกิจ ทำให้ยอดการจัดเก็บภาษีในทุกกรมจัดเก็บต่ำเป้าหมาย อย่างไรก็ดี สำหรับปีงบประมาณ 2565 นั้น เป้าหมายการจัดเก็บรายได้จะต่ำกว่าปีนี้ ก็เชื่อว่า กระทรวงการคลังจะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย
“เรื่องการจัดเก็บรายได้นั้น เราได้หารือกันตลอดในทุกเดือนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยจัดเก็บ เพื่อติดตามและเร่งรัดให้การจัดเก็บเป็นไปตามเป้าหมาย”
ทั้งนี้ จากสถิติการคลัง สัดส่วนรายได้ของรัฐบาลต่อจีดีพีในปี 2563 อยู่ที่ 15.01% ซึ่งกระทรวงการคลัง ยังมองว่า สัดส่วนนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ควรปฏิรูประบบภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ เพื่อให้ทันต่องบประมาณรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่ หากมองงบประมาณรายจ่ายนั้น ได้ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง ในปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 1.7 ล้านล้านบาท
ต่อมาในงบประมาณปี 2554 เป็นปีแรกที่งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล กระโดดขึ้นมาสู่หลัก 2 ล้านล้านบาท โดยอยู่ที่ 2.69 ล้านล้านบาท และปีงบประมาณ 2561 ก็เป็นปีที่งบประมาณกระโดดขึ้นมาแตะหลัก 3 ล้านล้านบาท โดยมาอยู่ที่ 3.050 ล้านล้านบาท
ส่วนระดับเงินคงคลังของรัฐบาล เคยอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ในปีงบประมาณ 2560 โดยอยู่ที่ 7.49 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินคงคลังส่วนใหญ่มาจากการจัดเก็บภาษี รวมถึง บัญชีเงินของกระทรวงการคลังที่ฝากไว้ในธนาคารแห่งประเทศไทย และเงินสดที่อยู่ตามคลังจังหวัดทั่วประเทศ