นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (
Fruit Board) ครั้งที่ 5/2564 เป็นวาระพิเศษ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) โดยได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตร ระดับจังหวัด (คพจ.) ซึ่งเป็นกลไกการทำงานระดับจังหวัดเข้าร่วมประชุมด้วย
เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์ปริมาณและราคาของมังคุดในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งผลสำเร็จของมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหามังคุดราคาตกต่ำที่ได้ดำเนินการไปแล้วของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ การกระจายผลผลิตภายในประเทศผ่านช่องทางปกติ ช่องทาง e - Commerce และช่องทางอื่นๆ ซึ่งดำเนินการโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการค้าภายใน บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เช่น การแลกเปลี่ยนมังคุดกับสินค้าข้าวของสถาบันเกษตรกรภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยในเบื้องต้น พบว่าราคามังคุดเริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้ว รวมทั้งพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหามังคุดราคาตกต่ำ ปี 2564 แบบเร่งด่วนฉับพลัน โดยวิธีการแทรกแซงราคาตลาด และการสนับสนุนเงินค่าชดเชยดอกเบี้ย โดยกรมการค้าภายใน และการเคลื่อนย้ายผลผลิตอย่างเร่งด่วนในช่วงผลผลิตกระจุกตัว โดยกรมส่งเสริมการเกษตร นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ศึกษาและวิเคราะห์แนวทางความเป็นไปได้ของ “การเยียวยาเกษตรกรชาวสวนมังคุด” ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ในโอกาสต่อไป
ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแผนการบริหารจัดการผลผลิตมังคุดในฤดูดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 155,614 ตัน (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2564) พบว่า มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จำนวน 72,643.73 ตัน คิดเป็นร้อยละ 46.68 ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว จำนวน 82,970.27 ตัน คิดเป็นร้อยละ 53.32 ทั้งนี้ในเดือนสิงหาคมจะมีมังคุดออกกระจุกตัวในปริมาณมาก (Peak) จำนวนประมาณ 60,000 ตัน
ซึ่งที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบแนวทางการกระจายผลผลิตมังคุดช่วงกระจุกตัว (Peak) ที่กรมส่งเสริมการเกษตรเสนอ โดยได้กำหนดแนวทางการกระจายผลผลิตมังคุด 4 แนวทาง ได้แก่ 1. กลไกตลาดปกติ จำนวน 20,000 ตัน 2. การกระจายผลผลิต จำนวน 40,000 ตัน ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และภาคเอกชน โดยมอบหมายให้ คพจ. ต้นทาง 14 จังหวัด บริหารจัดการผลผลิตอย่างเร่งด่วนโดยมีพาณิชย์จังหวัดในฐานะเลขานุการ เป็น “แม่แรง” สำคัญที่จะประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานข้างต้น
ส่งเสริมให้มีการจัดการผลผลิตต่อเนื่อง เช่น การแปรรูปมังคุดเพื่อเพิ่มมูลค่า และ 4. จัดทำแคมเปญพิเศษ “ช่วยมังคุดใต้ เกษตรกรไทย Happy” “8.8 Sales” จะเริ่มดีเดย์จำหน่ายผลผลิตมังคุดแบบส่งให้ถึงบ้าน ตั้งแต่วันที่ 8 - 31 สิงหาคม 2564 โดยเปิดให้ผู้สนใจทั่วประเทศสามารถสั่งซื้อมังคุดล่วงหน้าในราคา 4 กิโล 100 บาท
สำหรับมังคุดคละเกรด คุณภาพดี สดอร่อย ภายใต้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เช่น บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สมาคมขนส่งโลจิสติกส์ บริษัท Grab และภาคเอกชนอื่นๆ โดยจะมีการคิกออฟแคมเปญในวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม 2564 เวลา 08.08 น. ณ ห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร
นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ขยายโครงการ “เกษตรกรแฮปปี้” โดยจะจัดแคมเปญใหญ่ใน วันที่ 8 เดือน 8 (สิงหาคม) ผ่านระบบออนไลน์ โดยใช้สถานที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม9 เป็นจุดคิกออฟกระจายสินค้า ภายใต้มาตรการควบคุมโรคของ ศบค. เพื่อให้ทุกภาคส่วนทั่วประเทศสั่งซื้อมังคุดล่วงหน้าในราคา 4 โล 100 สำหรับมังคุดคละเกรดคุณภาพสดอร่อยภายใต้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เช่น บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด (ท็อปส์ และ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์) บริษัท ไปรษณีย์ไทย สมาคมขนส่งโลจิสติกส์ บริษัทแกร็บ ประเทศไทย ร้านธงฟ้า ฯลฯ
โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าทีมพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เฉพาะกิจ ที่มีคณะทำงานเป็นตัวแทนมาจากหลายภาคส่วน กล่าวว่า ขณะนี้มีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะรับออร์เดอร์มังคุดภายใต้แคมเปญดังกล่าว โดยจะใช้ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 9 และเซ็นทรัล เวสต์เกต เป็นจุด Drop off เพื่อกระจายสินค้า ขณะนี้เป็นที่น่ายินดีว่าหลังจากเริ่มเปิดรับพรีออร์เดอร์มาเป็นเวลา 2 วัน ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมากที่สั่งซื้อกันเข้ามาในจำนวนเกิน 100 ตันแล้ว และจะเริ่มจัดส่งตรงถึงบ้านเริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป
“ท่านรัฐมนตรีเฉลิมชัยย้ำว่า เราต้องดูแลชาวสวนทุกจังหวัดในภาคใต้พาฝ่าวิกฤตโควิดไปด้วยกัน แม้วันนี้จะมีสัญญาณที่ดีว่าราคามังคุดทั้งหน้าแผงและหน้าล้งปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนของเสถียรภาพราคา จึงต้องมีมาตรการเสริมเพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคในประเทศที่เป็นส่วนที่สำคัญในภาวะที่การส่งออกยังมีอุปสรรคจากสถานการณ์โควิด-19” นายอลงกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้คณะทำงานฟรุ้ทบอร์ดเฉพาะกิจมีผู้แทนมาจากหลายภาคส่วน ที่มาร่วมผนึกกำลังกันแก้ไขปัญหาราคามังคุด รวมถึงผลไม้อื่น ๆ เช่นลำไย เงาะ ลองกอง ทุเรียนที่กำประสบปัญหาล้นตลาดอาทิ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบการขายแบบ B to G นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการธุรกิจการเกษตร นายกฤชฐา โภคาสถิตย์ ประธานอนุกรรมการ อีคอมเมิร์ซ กระทรวงเกษตรฯ.รับผิดชอบการขายแบบ B to B รวมถึงการขายผ่านเครือข่ายสภาอุตสาหกรรม หอการค้า การขายตรงถึงผู้บริโภครวมถึงช่องทางอื่น ๆ ในขณะที่นางดรุณวรรณจะรับผิดชอบการขายและประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยมีนายณฐกร สุวรรณธาดา และนายวิเชียร สุขพันธ์ คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ รับผิดชอบแหล่งผลิตผลไม้และจุดกระจายผลไม้
“มังคุดภายใต้แคมเปญนี้เป็นมังคุดดี สดจากต้น อร่อย ส่งตรงจากสวนเมืองใต้ ที่ตั้งใจปลูกโดยชาวสวนแท้ ๆ รับประกันคุณภาพโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การซื้อมังคุดครั้งนี้รับทันทีสองต่อคือได้ทานมังคุดดี และยังมีส่วนช่วยสร้างรอยยิ้ม และส่งกำลังใจให้ชาวสวนมังคุดด้วย ภายใต้แนวคิด “คนกินยิ้มได้ เกษตรกรไทย Happy” สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ช่องทางต่าง ๆ ตามที่ได้แจ้งไว้ในช่วงต้น”
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้รัฐมนตรีเกษตรฯ ในฐานะประธาน Fruit Board ได้สั่งการล่วงหน้าให้ทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ช่วยกันซื้อมังคุด เช่น กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทำให้ช่วยระบายมังคุดออกจากแหล่งผลิตหลายร้อยตัน และขอให้ภาครัฐภาคเอกชนช่วยกันซื้อมังคุดให้มากที่สุด และนายเฉลิมชัยจะเป็นผู้นำในการคิกออฟแคมเปญด้วยตัวเอง