นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า การจัดทำ
โรงพยาบาลสนามระดับสูง (สนามบินสุวรรณภูมิ) ณ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลักที่ 1 (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะนี้ ทอท.ได้เตรียมความพร้อมในส่วนของพื้นที่ไว้แล้ว โดยประสานกับกระทรวงสาธารณสุขในการจัดทำระบบไอซียู ซึ่งจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์จะเรียบร้อย
ทั้งนี้ ในการใช้พื้นที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลักที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราวนั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่สนามบิน ทอท.จึงได้ทำหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมธนารักษ์ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แล้ว โดยขณะนี้อาคาร SAT-1 ยังไม่ถือว่าเป็นพื้นที่เขตการบิน (Airside) แต่อย่างใดเนื่องจากจัดเป็นเขตก่อสร้างโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 ซึ่ง ทอท.ได้แจ้งต่อ กพท.กำหนดเงื่อนไขพื้นที่ก่อสร้างอาคาร SAT-1 เป็นพื้นที่นอกเขตการบิน (Landside) และมีการกันพื้นที่ส่วนก่อสร้างออกจากพื้นที่ให้บริการเขตการบิน มีการดูแลพื้นที่ประชิดเขตการบิน ควบคุมการเข้าออกของแรงงานก่อสร้าง และตามแผนงานเมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จจึงจะขอเปลี่ยนแปลงให้พื้นที่อาคาร SAT-1 คืนสภาพเป็นพื้นที่เขตการบิน (Airside) ต่อไป
ดังนั้น ในระหว่างเปิดอาคาร SAT-1 ให้เป็นโรงพยาบาลสนามจึงไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสารและความปลอดภัยทางการบินแต่อย่างใด โดยอาคาร SAT-1 อยู่ห่างจากอาคารผู้โดยสารหลัก 500 เมตร อีกทั้งยังไม่มีการเปิดใช้ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) จึงไม่สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่ให้บริการในปัจจุบันได้ โดยการเข้าออกทั้งหมดจะใช้ถนนที่ใช้ระหว่างการก่อสร้างเท่านั้น
นายกีรติกล่าวว่า ปัจจุบันการก่อสร้างอาคาร SAT-1 เสร็จแล้ว โดย ทอท.รับมอบงานจากผู้รับเหมาเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 โดยสัญญาก่อสร้างมีการรับประกันระยะเวลา 2 ปี ซึ่งการนำอาคารมาใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม ซึ่งไม่ใช่ประโยชน์หรือกิจกรรมสนามบินนั้น ทอท.ได้ทำหนังสือถึงผู้รับเหมาก่อสร้างรับทราบและยอมรับการนำพื้นที่ใช้เป็นโรงพยาบาลสนามแล้ว เบื้องต้นผู้รับจ้างรับทราบและไม่มีปัญหา ยืนยันการรับประกันตามสัญญา ซึ่งอยู่ระหว่างทำหนังสือรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรกลับมาเท่านั้น
สำหรับการจดตั้งโรงพยาบาลสนามระดับสูง (สนามบินสุวรรณภูมิ) ณ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลักที่ 1 (SAT1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะรองรับผู้ป่วย 4,500 เตียง โดยชั้นที่ 2 ของอาคาร SAT-1 จะเป็นที่ทำการแพทย์และเตียงผู้ป่วย ICU รวม 940 เตียง ส่วนชั้นที่ 3 และ 4 เป็นเตียงผู้ป่วยอาการน้อยหรือไม่มีอาการ หรือผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีเขียว 3,560 เตียง ซึ่งเมื่อกรมสนับสนุนบริการสุขภาพดำเนินการจัดตั้งแล้วจะมีสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแลดำเนินการ โดยเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไป