ที่มาของ 'กิมตึ้ง' เครื่องลายครามยอดฮิตสมัย ร.๕

ที่มาของ 'กิมตึ้ง' เครื่องลายครามยอดฮิตสมัย ร.๕

  • 0 ตอบ
  • 86 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

kaidee20

  • *****
  • 2826
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




“กิมตึ้ง” เป็นชื่อของเครื่องลายครามจีนที่นำมาจัดเป็นเครื่องโต๊ะบูชาของไทย ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในสมัยรัชกาลที่ ๕ งานใหญ่ในสมัยนั้นจะขาดการจัดประกวด “โต๊ะกิมตึ้ง” เสียมิได้ ส่วนกฎกติกาประกวดก็ถึงกับออกเป็น พ.ร.บ.ในปี ๒๔๔๔ มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติข้อบังคับในการตัดสินเครื่องโต๊ะ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙” มีหลักเกณฑ์ว่า เครื่องลายครามที่นำมาจัดโต๊ะนั้นจะต้องเป็นลายเดียวกันทั้งชุด มีรูปร่างสวย เนื้อดี สีสวย ลวดลายดี และต้องเป็นของเก่าที่มีการเก็บรักษาไว้อย่างดีไม่มีบุบสลาย ทั้งต้องเป็นของที่ไม่มีใครเหมือน ความนิยมเครื่องกิมตึ้งนี้ถึงขนาดมีการเอาชื่อลายต่างๆ ซึ่งบางลายก็เป็นภาษาจีน ไปตั้งเป็นชื่อถนนที่อยู่รอบพระราชวังสวนดุสิตถึง ๑๙ สาย

เหตุที่มาของความนิยมโต๊ะกิมตึ้งได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๑ แล้ว ซึ่งบ้านเมืองอยู่ในช่วงว่างศึก มีความสงบร่มเย็น ศัตรูที่เข้ามารังควานตลอดนั้นได้ถูกปราบปรามจนขยาดไปแล้ว การค้าขายจึงรุ่งเรือง มีสำเภาส่งไปค้าขายกับเมืองจีนไม่ขาดสาย เริ่มแรกมีการเล่นป้านถ้วยชา มีการสะสมป้านถ้วยชาจีนยี่ห้อต่างๆ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อมีการสร้างพระตำหนักสวนขวา ราชทูตไทยที่ไปเมืองจีนได้เห็นการตกแต่งวังและบ้านขุนนางด้วยเครื่องลายคราม จึงนำกลับมาใช้ตกแต่งพระตำหนักสวนขวาด้วย ทำให้พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางนิยมตามไปด้วย เริ่มมีการประกวดกัน บ้างก็ส่งลายเบญจรงค์ของไทยไปให้ช่างจีนทำ

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงมีพระราชนิยมสร้างวัด นอกจากจะทรงใช้ถ้วยชามจีนตกแต่งวัดจอมทองหรือวัดราชโอรสาราม ที่ทรงสร้างแล้ว ยังได้จัดเครื่องโต๊ะลายครามไปถวายวัดด้วย

เมื่อได้รับความนิยมมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระยาโชฎึกเศรษฐี (พุก) จึงสั่งทำเครื่องโต๊ะจากเมืองจีนมาเป็นชุดสำเร็จรูป จากโรงงานยี่ห้อ “กิมตึ้งฮกกี่” เรียกกันว่า “โต๊ะกิมตึ้ง” ขายชุดละ ๒๔๐ บาท เมื่อโต๊ะกิมตึ้งมาเป็นโต๊ะโหลแบบนี้ ความนิยมโต๊ะกิมตึ้งจึงซาลง เพราะใครๆที่มีเงินก็มีได้ ไม่ต้องสะสม

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรวบรวมเครื่องถ้วยชาม “ลายผักกาด” จากสมัยรัชกาลที่ ๒ กับ “ลายมังกรห้าเล็บ” อีกโต๊ะหนึ่ง มาตั้งในงานฉลองหอสมุดวชิรญาณในปี ๒๔๓๐ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางก็หันมานิยมโต๊ะกิมตึ้งกันอีกครั้ง จนมีการประกวดกันอย่างแพร่หลายและใหญ่โตยิ่งกว่ายุคที่ผ่านมา การจัดโต๊ะกิมตึ้งนี้ แม้จะใช้เครื่องลายครามจีนเป็นหลัก แต่ก็จัดตามความนิยมแบบไทย ไม่ได้จัดตามแบบจีน

เครื่องกิมตึ้งมาโด่งดังแรงสุด เมื่อมีการสร้างพระราชวังสวนดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้ทรงพระราชทานนามถนนรอบพระราชวังแห่งนี้เป็นชื่อของเครื่องกิมตึ้งทั้งหมด ๑๙ สาย แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานนามใหม่ถนนชุดนี้ ๑๕ สาย คงชื่อเดิมไว้เพียง ๔ สาย คือ

๑. ถนนซังฮี้ จากแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานกรุงธนบุรี หรือ “สะพานซังฮี้” ไปจนถึงถนนราชปรารภ เปลี่ยนเป็น “ถนนราชวิถี”

๒. ถนนฮก จากถนนลูกหลวง ริมคลองผดุงกรุงเกษม ผ่านหน้าทำเนียบรัฐบาล ข้ามถนนพิษณุโลก มาสุดที่หน้าวัดเบญจมบพิตร เปลี่ยนเป็น “ถนนนครปฐม”

๓. ถนนลก จากถนนลูกหลวง ตรงข้ามฝั่งคลองกับทำเนียบรัฐบาล ขนานคลองเปรมประชากร จนไปบรรจบกับถนนเตชะวณิชที่สะพานแดง เปลี่ยนเป็น “ถนนพระรามที่ ๕”

๔. ถนนสิ้ว หรือ ซิ่ว จากสะพานยมราช ขนานทางรถไฟไปถึงคลองสามเสน เปลี่ยนเป็น “ถนนสวรรคโลก”

๕. ถนนดวงตะวัน จากแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างวัดเทวราชกุญชร ข้ามถนนสามเสน ผ่านหน้าบ้านสี่เสา ไปจนถึงถนนราชปรารภ เปลี่ยนเป็น “ถนนศรีอยุธยา”

๖. ถนนดวงเดือน จากแม่น้ำเจ้าพระยาไปจดถนนสิ้ว เปลี่ยนเป็น “ถนนศุโขทัย”

๗. ถนนดวงดาว จากถนนพิษณุโลกถึงคลองสามเสน เปลี่ยนเป็น“ถนนนครราชสีมา”

๘. ถนนพุดตาน จากถนนซังฮี้ไปถึงคลองสามเสน เปลี่ยนเป็น “ถนนพิชัย”

๙. ถนนเบญจมาศ จากสะพานมัฆวานรังสรรค์ถึงพระราชวังวังสวนดุสิต เปลี่ยนเป็น “ถนนราชดำเนิน” เป็นส่วนหนึ่งของถนนราชดำเนินนอก

๑๐. ถนนประทัดทอง จากถนนประทุมวัน ผ่านถนนประแจจีนที่สี่แยกอุรุพงษ์ เลียบคลองประปาไปจนถึงถนนเตชะวณิชที่บางซื่อ ซึ่งเรียกกันเพี้ยนเป็น “บรรทัดทอง” เปลี่ยนเป็น “ถนนพระรามที่ ๖”

๑๑. ถนนส้มมือ แยกจากถนนสุโขทัยถึงคลองสามเสน เปลี่ยนเป็น “ถนนสุพรรณ”

๑๒. ถนนใบพร จากถนนสามเสนหน้าท่าวาสุกรีถึงถนนนครราชสีมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนอู่ทองนอก” กับอีกส่วนจากลานพระบรมรูป เลียบข้างพระที่นั่งอนันตสมาคม จดถนนราชวิถี เปลี่ยนเป็น “ถนนอู่ทองใน”

๑๓. ถนนคอเสื้อ จากถนนสามเสนถึงสะพานยมราช เปลี่ยนเป็น “ถนนพิษณุโลก”

๑๔. ถนนราชวัตร จากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ศรีย่าน ถึงถนนพระรามที่ ๖ เปลี่ยนเป็น “ถนนนครไชยศรี”

๑๕. ถนนประแจจีน จากสะพานยมราชตรงไปถึงสะพานเฉลิมโลก เปลี่ยนเป็น “ถนนเพชรบุรี”

ยังมีถนนที่ได้ชื่อตามเครื่องลายครามในยุคนั้น แต่ไม่ได้ถูกเปลี่ยนชื่อไปด้วย คือ

“ถนนเขียวไข่กา” จากถนนสามเสนข้างโรงเรียนราชินีบนถึง “ท่าเขียวไข่กา” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

“ถนนขาว” จากถนนซังฮี้ ขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านหลังวชิรพยาบาล มาถึงถนนสุโขทัย

“ถนนสังคโลก” จากถนนสามเสนข้างวชิรพยาบาลด้านใต้ ไปเชื่อมถนนขาว

“ถนนทับทิม” แยกจากถนนสุโขทัย คู่ขนานกับถนนส้มมือ

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งในความเป็นมาของบ้านเมืองเราก่อนจะถึงวันนี้