คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ที่เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ "
แอชตัน อโศก" มูลค่า 6,481 ล้านบาท ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทลูกอย่าง “บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ยังคงเป็นประเด็นร้อนของวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่อาจลุกลามไปยังพัฒนาโครงการอื่นๆทั้งห้างค้าปลีก โรงแรม ที่อยู่อาศัย ในกรณีที่มีการใช้ทางเชื่อมกับระบบสาธารณูปโภคของรัฐ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับกฏหมายเวนคืนที่ดิน
ทันทีที่มีคำพิพากษาศาลออกมา วันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา “อนันดาฯ” บิ๊กอสังหาริมทรัพย์ ต้องเร่งแจงลูกบ้าน เพื่อลดผลกระทบ ความกังวลใจที่เกิดขึ้น ล่าสุด บริษัทได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมถึงแนวทางการแก้ปัญหา และยืนยันจะอยู่เคียงข้างลูกบ้าน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้โครงการขายเกือบหมด มียอดโอนแล้ว 87% คิดเป็นมูลค่า 5,639 ล้านบาท
ทางเข้าโครงการแอชตัน อโศก
นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวทางการแก้ปัญหาโครงการแอชตัน อโศก เบื้องต้น บริษัทได้เตรียมข้อมูล และระดมทีมกฎหมายเพื่อดำเนินการยื่นอุทรณ์คำพิพากษาคดีเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน จากนั้นคาดว่ากระบวนการทางศาลจะใช้เวลา 3-5 ปี
ทั้งนี้ ระหว่างกระบวนกานทางศาล บริษัทยืนยันว่าจะอยู่เคียงข้างลูกบ้าน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่การดูแลจะดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(Stakeholders) ตลอดจนผู้ถือหุ้นอื่นๆ
นอกจากนี้ บริษัท ได้นำข้อมูลพร้อมชี้แจงเกี่ยวกับการซื้อที่ดินซึ่งอยู่ใกล้แยกอโศก เพื่อพัฒนาโครงการแอชตัน อโศก เนื่อที่กว่า 2 ไร่ แต่ทางเข้าออกหลักมีระยะเพียง 6.4 เมตรเท่านั้น จึงได้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องของการซื้อที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีการศึกษาข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการใช้ทางเข้า-ออก ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) จากโครงการอื่นๆแล้ว
ประกอบกับเวลานั้น รฟม. มีแนวคิดในการพัฒนาเมืองที่เรียกว่า Transit Oriented Development หรือ TOD คือการพัฒนาที่เน้นระบบขนส่งมวลชน โดยออกแบบพื้นที่รอบสถานีให้ผสมผสานระหว่างศูนย์พานิชยกรรมร้านค้า ที่พักอาศัย แหล่งงาน ฯ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสารและการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนที่สะดวก ในนี้มีการระบุรายละเอียดให้สามารถประกอบธุรกิจที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ได้ด้วย รวมถึงการให้กำหนดอัตราค่าตอบแทนการอนุญาตให้ใช้ที่ดินรฟม.เป็นทางผ่าน
โดยบริษัทให้ค่าตอบแทนแก่รฟม. เป็นมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท ด้วยการสร้างอาคารที่จอดรถความสูง 7 ชั้น เบื้องต้นมีการวางเงินมัดจำแล้วจำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าวบริษัทย้ำว่าโครงการ แอชตัน อโศก ไม่ใช่รายแรกที่ใช้ทางเข้า-ออกของ รฟม. เพราะที่ผ่านมา ได้ดำเนินงานขออนุมัติใบอนุญาตต่างๆ ทุกขั้นตอนอย่างถูกต้องภายใต้กฎระเบียบและข้อบังคับของภาครัฐอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ทั้งการได้รับอนุมัติจาก 8 หน่วยงานราขการ เช่น สำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) สำนักงานเขตวัฒนา กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมที่ดิน ฯ
ผังที่ดินโครงการแอชตัน อโศก
บริษัทยังได้รับใบอนุญาต 9 ฉบับ เช่น ใบอนุญาตใช้ทางของรฟม. ใบอนุญาติเชื่อมทางสาธารณะ ใบรับแจ้งการก่อสร้างตามมาตรา 39 ทวิ 3 ใบ ฯ นอกจากนี้ ยังขอความเห็นก่อนดำเนินการ 7 หน่วยงาน เช่น รฟม. กองควบคุมอาคาร สำนักการจราจร สำนักงานที่ดินฯ ผ่านความเห็นชอบจาก 5 คณะกรรมการ เช่น คณะกรรมการ รฟม. คณะกรรมการ พิจารณาแบบของสำนักงานควบคุมอาคารว่าแบบก่อสร้างถูกต้อง เป็นต้น
“บริษัทมั่นใจอย่างยิ่งว่าในกระบวนการดำเนินโครงการแอชตัน อโศก ที่ผ่านมาทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องและสุจริต ชอบด้วยกฎหมายทุกขั้นตอน”
ทั้งนี้ เมื่อมีคำพิพากษาของศาลออกมา บริษัทเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะกรณีดังกล่าวเปรียบเสมือนอุกาบาตหรือสินามิที่กระเทือนต่อเศรษฐกิจมหาศาล กระทบความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน และต่างชาติที่เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย
“ตอนนี้อสังหาริมทรัพย์เหนื่อยอยู่แล้ว เจอแบบนี้ตอกย้ำว่าอยากให้เราตายเร็วใช่ไหม”
สำหรับโครงการเป็นอาคารชุดสูง 51 ชั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 666 ยูนิต มูลค่าโครงการกว่า 6,400 ล้านบาท การโอนห้องชุดแล้ว87% มูลค่ากว่า 5,639 ล้านบาท มีผู้พักอาศัย 578 ครัวเรือน แบ่งเป็นคนไทย 438 ราย และลูกค้าต่างชาติ 140 รายจากทั้งสิ้น 20 ประเทศ ปัจจุบันโครงการยังเหลือขายมูลค่า 842 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่า 2.48% ของมูลค่าโครงการเหลือขายทั้งหมด 33,973 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบดังกล่าว ยังส่งผลให้บริษัทต้องเลื่อนการออกหุ้นกู้มูลค่า 6,000 ล้านบาท ออกไปประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้นักลงทุนพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาโครงการแอชตัน อโศกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาฯเท่านั้น แต่ยังกระเทือนวงการธุรกิจอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบธนาคาร ห้างค้าปลีก โรงแรม โรงงานอุตสาหกรรมที่ขอทางเชื่อมกับกฎหมายเวนคืนที่ดินทั้งหมด เฉพาะโครงการอสังหาฯ ยังมีอีก 13 โครงการ ที่มีลักษณะคล้ายกันกับอนันดา โดยเป็นโครงการเฉพาะ รฟม. 6 โครงการ ดังนั้น จึงเห็นควรหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาเป็นวาระแห่งชาติ
แม้ยืนยันทำถูกต้อง แต่ยังมี 13 โครงการเข้าข่ายเดียวกับแอชตัน อโศก เฉพาะ รฟม.มีกว่า 6 โครงการ
“ปัจจุบันอสังหาฯย่ำแย่อยู่แล้วจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บริษัทยังมาถูกกระทบกับเรื่องนี้ด้วย ซึ่งยอมรับว่าเป็นโจทย์ยากที่สุดในชีวิต เพราะธุรกิจ เศรษฐกิจได้รับผลกระทบในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม เรามั่นใจว่ายืนอยู่บนความถูกต้อง เพราะได้รับการอนุญาตจาก 8 หน่วยงาน ใบอนุญาต 9 ฉบับ และเชื่อว่าวิกฤติครั้งนี้ อนันดาฯจะผ่านไปได้”