'พาณิชย์' ช่วยคนตัวเล็กทำธุรกิจ ดันเกษตรกร-รายย่อยขายออนไลน์

'พาณิชย์' ช่วยคนตัวเล็กทำธุรกิจ ดันเกษตรกร-รายย่อยขายออนไลน์

  • 0 ตอบ
  • 84 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Shopd2

  • *****
  • 2300
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 





ผ่านมาแล้วกว่าครึ่งปีที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายการทำงานในปี 2564 ให้แก่กรมต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์รับไปปฏิบัติ โดยมีนโยบายเร่งด่วนรวม 14 ข้อ ได้แก่ ประกันรายได้, ลดค่าครองชีพ, เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด, อาหารไทยอาหารโลก, การค้าออนไลน์, ส่งเสริมธุรกิจบริการ, พัฒนา SMEs และ Micro SMEs, เร่งรัดการส่งออก, ผลักดันการค้าชายแดน, เจรจาการค้าระหว่างประเทศ, จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา, บริการด้วยอิเล็กทรอนิกส์, ทำงานร่วมกับภาคเอกชนในนาม กรอ.พาณิชย์ และให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว

ผลการขับเคลื่อนงานที่ผ่านมา แต่ละกรมในกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งทำงานตามนโยบาย ปรากฏผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการช่วยเหลือเกษตรกร ประชาชน และภาคธุรกิจ จนเป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่ติดอันดับต้นๆ ที่ประชาชนพอใจในผลการทำงาน

ล่าสุด “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ได้สรุปผลการทำงานครึ่งปี และแผนการทำงานในช่วงครึ่งปีหลัง ปรากฏผลการทำงานตามนโยบายที่ประสบความสำเร็จหลายด้าน โดยเฉพาะการผลักดันเกษตรกร ผู้ประกอบการชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อย หรือที่เรียกกันว่า “คนตัวเล็ก” ให้มีโอกาสทางการตลาด ให้มีโอกาสในการทำมาค้าขาย ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ

ใช้ออนไลน์ช่วยเกษตรกรทำตลาด

ในการขับเคลื่อนการทำงานภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้แปลงนโยบายลงสู่การปฏิบัติด้วยการร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานพันธมิตร 24 หน่วยงาน ทำแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ในรูป B2B (Business-to-Business) ต่อยอดจากแพลตฟอร์มที่มีอยู่ ได้แก่ “Thaitrade.com ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” และแพลตฟอร์ม “Phenixbox.com ของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน)” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มศูนย์ค้าส่งครบวงจรภายในประเทศ

ผลการดำเนินงานในส่วนของตลาดต่างประเทศ ได้คัดเลือกและพัฒนาสหกรณ์ที่มีความพร้อมในการจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม และมีกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ จำนวน 9 สหกรณ์ ให้มีร้านค้าออนไลน์บน Thaitrade.com รวมสินค้าทั้งสิ้น 45 รายการ เช่น ข้าว นม และโคเนื้อ โดยแพลตฟอร์ม Thaitrade.com ได้สร้างหน้าเฉพาะสำหรับสินค้าจากสหกรณ์ภายใต้ชื่อ “Thai Agricultural Trade Center” (https://www.thaitrade.com/online-exhibition/thai_agricultural) และกำหนดจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching) ระหว่างสหกรณ์กับผู้ค้าต่างประเทศ ในวันที่ 29-30 ก.ค. 2564 นี้

สำหรับตลาดในประเทศ ได้ร่วมกับแพลตฟอร์ม Phenixbox.com จัดทำ Profile สินค้าเกษตร เพื่อเชื่อมโยงไปยัง Phenixbox.com จำนวน 28 สหกรณ์ รวมสินค้าทั้งสิ้น 37 รายการ เช่น ข้าวสาร นมโค ผลไม้ และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ โดยแพลตฟอร์ม Phenixbox.com ได้สร้างหน้าเฉพาะสำหรับสินค้าจากสหกรณ์ภายใต้ชื่อ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” (https://www.phenixbox.com/Thai_agricultural) โดยจะมีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ระหว่างกลุ่มสหกรณ์กับบริษัทในเครือ TCC Group ซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ ของบริษัทแอสเสท เวิร์ด คอร์ป จำกัด (มหาชน) ในเดือน ส.ค. 2564

ทั้งนี้ นายจุรินทร์ได้กำชับให้เพิ่มความเข้มข้น และเพิ่มจำนวนเกษตรกร และรายการสินค้าให้มีโอกาสเข้าไปจำหน่ายในแพลตฟอร์มทั้ง 2 แพลตฟอร์มให้มีจำนวนมากขึ้นต่อไป

สอนคนตัวเล็กค้าขายออนไลน์

การเพิ่มโอกาสในการค้าขายออนไลน์ เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่นายจุรินทร์สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์เร่งขับเคลื่อน และให้ความช่วยเหลือคนตัวเล็ก โดยเฉพาะเกษตรกร ผู้ประกอบการชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อย ให้มีโอกาสในการค้าขายออนไลน์ ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น ด้วยการให้ความรู้ สอนเทคนิคการตลาดออนไลน์ ด้วยการจัดทีมผู้เชี่ยวชาญลงไปสอนถึงที่ แต่ด้วยข้อจำกัดของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องปรับแผนเป็นการฝึกสอน อบรมผ่านช่องทางออนไลน์แทน

ที่ผ่านมาได้สอนความรู้การทำการค้าและเทคนิคการตลาดออนไลน์ไปแล้ว 2,175 ราย, สร้าง Smart Trader Online ด้วยการบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้เป็นนักการค้าออนไลน์ และจับคู่เชื่อมโยงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ Trader Online กับสินค้าและบริการที่มีศักยภาพ เข้าสู่ช่องทางการตลาดบนแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมแล้ว 406 ราย

ส่วนแผนระยะถัดไป ช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2564 มีเป้าหมายที่จะพัฒนาสินค้าชุมชน กลุ่มเกษตรกร สู่ช่องทางการตลาด (Offline 2 Online) โดยจะคัดเลือกสินค้าชุมชน ของดีของเด่นประจำจังหวัด จากผู้ประกอบการฐานรากที่มีศักยภาพทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด ครอบคลุม 77 จังหวัด เพื่อเข้าสู่กระบวนการให้ความรู้และผลักดันสินค้าเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ จำนวนเป้าหมาย 1,260 ราย และจะสร้างโอกาสทางการตลาดออนไลน์แก่ผู้ประกอบการฐานราก ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในรูปแบบออฟไลน์ ภายใต้งานมหกรรม Thailand e-Commerce Expo ที่จะจัดขึ้นในเดือน พ.ย. 2564

นอกจากนี้ ได้เข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้แก่ภาคการผลิตฐานราก ทั้ง SMEs และ Micro SMEs โดยอบรมให้ความรู้หาตลาดและเปิดโอกาส เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในตลาดที่กว้างขึ้น ส่งเสริมศักยภาพการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมศักยภาพนักการตลาด OTOP มืออาชีพ เพื่อเป็นตัวแทนหรือผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดเชื่อมโยงการตลาดผลิตภัณฑ์ OTOP เข้าสู่ช่องทางการตลาด 332 ราย สร้างโอกาสทางการค้าและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าชุมชน (MOC Biz Club) เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศมาเชื่อมโยงต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ และเพิ่มโอกาสการค้า ปัจจุบันมีสมาชิก 12,721 ราย ทั้งนี้ ยังมีกำหนดจัดงาน MOC Biz Club Fair 2021 ที่กรุงเทพฯ หรือปริมณฑล จำนวน 4 ครั้ง ระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค. 2564 เพื่อการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า การเจรจาจับคู่ทางธุรกิจ และการให้คำปรึกษาทางธุรกิจด้วย



พัฒนาโชวห่วยเพิ่มรายได้ฐานราก

สำหรับธุรกิจบริการ ที่เป็นธุรกิจที่มีโอกาสเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการและเพิ่มรายได้เข้าประเทศ นายจุรินทร์ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งพัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้กับภาคบริการ ทั้งผู้ค้าปลีก ค้าส่ง สมาร์ทโชวห่วย กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มบริการสุขภาพ และกลุ่มร้านอาหาร โดยให้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มช่องทางการตลาดให้ภาคบริการ

ผลการดำเนินงานตามนโยบาย ได้ช่วยพัฒนาร้านค้าปลีกสู่การเป็นสมาร์ทโชวห่วย ด้วยการสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ พัฒนาภาพลักษณ์ ส่งเสริมการนำเทคโนโลยี POS ไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทั่วประเทศ มีเป้าหมายในการพัฒนา 3,500 รายทั่วประเทศ และผลักดันให้สมาร์ทโชวห่วยนำระบบ POS มาใช้ในการบริหารจัดการร้าน 500 ราย

นอกจากนี้ ยังได้ใช้ร้านค้าปลีกค้าส่ง ร้านโชวห่วยในเครือข่ายที่ผ่านการอบรมพัฒนาแล้ว มาช่วยลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่าย ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ในการจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดผ่านร้านโชวห่วยจำนวน 2,040 ราย ซึ่งสามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนลงลึกถึงระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านได้เป็นอย่างมาก

สร้างเครือข่าย-เพิ่มมาตรฐานธุรกิจบริการ

ส่วนธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ สำนักงานบัญชี ได้พัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการ การตลาด เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่าย Startup กับ SMEs ด้วยนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ นำไปสู่การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงแหล่งตลาด และการบริหารจัดการระบบคลังสินค้าและขนส่งแบบครบวงจร 2,453 ราย

ขณะเดียวกัน ได้สร้างความเข้มแข็งและการเติบโตให้กับธุรกิจแฟรนไชส์ไทย สร้างธุรกิจแฟรนไชส์รายใหม่ (B2B Franchise) รุ่นที่ 24 จำนวน 158 ราย รวม 98 กิจการ และเสริมสร้างมาตรฐานคุณภาพด้านบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ไทย 235 ราย

พร้อมกันนี้ ได้ให้ความรู้ด้านบริหารจัดการธุรกิจผ่าน e-Learning จำนวน 7 หลักสูตร 30 วิชา ได้แก่ หลักสูตรการเริ่มต้นธุรกิจ หลักสูตรการเงินและการบัญชี หลักสูตรวิชาบัญชี หลักสูตรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น หลักสูตรพัฒนากลยุทธ์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หลักสูตรการประกอบธุรกิจใน AEC หลักสูตรการพัฒนาระบบบริหารจัดการธุรกิจโลจิสติกส์ ผ่านเว็บไซต์ https://dbdacademy.dbd.go.th มีผู้สมัครเข้ามาเรียนแล้ว 28,658 ราย

สำหรับแผนงานช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2564 จะเน้นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ธุรกิจบริการที่ผ่านการคัดเลือก ช่วยสร้างแรงจูงใจ และผลักดันให้ผู้ประกอบธุรกิจปรับตัวกับวิถีการค้ายุคใหม่ โดยเฉพาะการขายและการตลาดออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ www.ของดีทั่วไทย.com ในเดือน ส.ค. 2564, ส่งเสริมร้านอาหารไทยในประเทศให้ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT เป้าหมาย 300 ราย ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในประเทศได้รับตราสัญลักษณ์ 940 ราย และจัดประกวดธุรกิจแฟรนไชส์ไทย (Thailand Franchise Award 2021 : TFA 2021) ในเดือน ส.ค. 2564

พลิกโฉมหน้างานบริการด้วยดิจิทัล

ทางด้านการปรับปรุงพัฒนาการให้บริการภาคธุรกิจและประชาชน นายจุรินทร์ได้กำชับให้มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วในการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อตอบสนองนโยบายกระทรวงพาณิชย์ดิจิทัล และนโยบาย E-Government ของรัฐบาล โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ยกระดับการเริ่มต้นธุรกิจของประเทศ โดยดำเนินการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

เริ่มจากการจองชื่อนิติบุคคลด้วยระบบ AI ซึ่งช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบและผลอนุมัติการจองชื่อ โดยเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2564 และส่งเสริมการใช้ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) เพิ่มช่องทางการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) และปรับปรุงแบบฟอร์มการกรอกให้ง่ายขึ้น เปิดให้บริการ 27 เม.ย. 2563 และยังได้ลดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านระบบ e-Registration จากเดิมลดให้ร้อยละ 30 เป็นลดให้ร้อยละ 50 เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564

นอกจากนี้ ได้เพิ่มช่องทางให้ผู้แทนสามารถกรอกและยื่นคำขอจดทะเบียนแทนผู้ประกอบการได้ เปิดให้บริการ 8 มี.ค. 2564 และพัฒนาระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Foreign Certificate) โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุนต่างชาติ ให้สามารถยื่นขอรับบัตรส่งเสริมลงทุนจาก BOI และหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้ ณ จุดเดียว (Single Unit) ที่ BOI ทำให้ลดระยะเวลาจากเดิมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 30 วัน เหลือเพียงภายใน 5 วัน และลดต้นทุนการดำเนินการของผู้ประกอบธุรกิจชาวต่างชาติโดยเปิดให้บริการเดือน ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา

ไม่เพียงแค่นั้น ยังได้เปิดให้บริการระบบออกเลขประจำตัวนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขอมีเลขประจำตัวนิติบุคคล แจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูล และแจ้งยกเลิกการประกอบธุรกิจให้แก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย และเป็นธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งคนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจได้โดยไม่ต้องขออนุญาต โดยสามารถดำเนินการได้ผ่านเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564

ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามนโยบายเร่งด่วน ที่นายจุรินทร์ได้กำหนดเป็นแผนการทำงานสำหรับปี 2564 ซึ่งสามารถช่วยให้ “คนตัวเล็ก” ได้มีโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้น มีโอกาสในการทำมาค้าขายเพิ่มขึ้น มีโอกาสในการเพิ่มรายได้ในกระเป๋าเพิ่มขึ้น และมีโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของการทำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ยืนยันว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้จะยังคงเพิ่มความเข้มข้นและช่วยผลักดันให้คนตัวเล็กมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อไป