เมื่อ 'วิกฤติโควิด' กำลังทำให้คนไทยเครียด และคิดสั้นมากขึ้น ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ รัฐบาลจึงควรใส่ใจ นอกจากเร่งแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข
วิกฤติโควิด กำลังทำให้
คนไทยเครียด และคิดสั้นมากขึ้น หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวคนฆ่าตัวตายจำนวนมาก ทั้ง
- กรณี 'ประกายฟ้า หรือ ฟ้า' ยูทูปเบอร์ชื่อดัง กระโดดลานจอดรถ เสียชีวิต
- ตำรวจติดโควิด ผูกคอตายเสียชีวิต
- ลูกป่วยโควิดตาย พ่อกระโดดตึกตายตาม
จากข่าวคนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ สะท้อนความเครียดที่เพิ่มขึ้นของประชาชนในยุคโควิด ความกังวลดังกล่าวสอดคล้องกับกรมสุขภาพจิต ที่ออกมาเตือนว่าโควิด 19 กำลังทำให้คนคิดสั้นมากขึ้น
การเพิ่มขึ้นของจำนวนคนฆ่าตัวตายในสถานการณ์โควิดเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่การระบาดรุนแรง เช่นในญี่ปุ่น ปีก่อนพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงสุดในรอบ 11 ปี จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮ่องกงร่วมกับสถาบันผู้สูงอายุในโตเกียว พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายช่วง ก.ค. ถึง ต.ค. 2563 เพิ่มขึ้นถึง 16 % จากช่วงเดียวกันของปี 2562
หรือในเกาหลีใต้ ที่สถานการณ์โควิดทำให้อัตราการฆ่าตัวตาย และซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ข้อมูลจากศูนย์สุขภาพจิต ประเทศเกาหลีใต้ พบว่า จำนวนประชาชนปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นถึง 20% จากปี 2562
สำหรับประเทศไทยนับจากวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 หรือต้มยำกุ้ง อัตราการฆ่าตัวตายก็ลดลงมาโดยตลอด กระทั่งปัจจุบัน จากปัญหาโควิด ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
ทั้งนี้ ก่อนโควิด สถิติคนไทยฆ่าตัวตายอยู่ที่ประมาณ 6-7 คนต่อประชากร 1 แสนคน/ปี เช่น
- ปี 2560 ในประชากร 1 แสนคน/ปี มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จที่ 6 คน
- ปี 2561 ในประชากร 1 แสนคน/ปี มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จที่ 6-6.5 คน
- ปี 2562 ในประชากร 1 แสนคน/ปี มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จที่ 6.36-6.6 คน แต่นับจากมีโควิด สถิติก็เพิ่มขึ้น
- ปี 2563 ในประชากร 1 แสนคน/ปี มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จที่ 7.37 คน สูงขึ้นจากปี 2562 ราว 10% - ขณะที่ใน 5 เดือนแรกของปี 2564 สถิติใกล้เคียงกับทั้งปีของปีก่อน
ตราบใดที่การระบาดยังเพิ่ม มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากขึ้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น ก็เสี่ยงทำให้คนเครียด และคิดสั้นมากขึ้น ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไปดูตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง สถิติฆ่าตัวตายอยู่ที่ 8 คนต่อ 1 แสนคน วิกฤติโควิดคราวนี้กำลังพาสังคมไทยกลับไปสู่จุดนั้นอีกครั้ง
ทั้งนี้ อาจแบ่งความเครียดหลักๆ ได้จาก 2 สาเหตุ
สาเหตุแรก ความเครียดจากโรคภัย ทั้งกลัวติด กลัวตาย ความเครียดที่ติดโควิดแล้วต้องรอเตียงอย่างไม่รู้อนาคต หาเตียงไม่ได้ ความเครียดจากกลัวแพร่โรคให้คนในครอบครัว ความเครียดจากการต้องอยู่คนเดียวระหว่างรอเตียงหรือทำการรักษา นำไปสู่ความสิ้นหวังและขาดกำลังใจ
สาเหตุที่สอง ความเครียดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งตกงาน ถูกลดชั่วโมงทำงาน สถานประกอบการถูกปิดทั้งจากพิษเศรษฐกิจและมาตรการเยียวยาของรัฐ ทำให้รายได้ลดลง ผู้นำครอบครัวขาดความสามารถดูแลครอบครัว รู้สึกหมดหวัง สูญเสียคุณค่าในตัวเอง
ตัวอย่างผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น ล่าสุดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ระบุว่า โควิด 19 เสี่ยงทำให้ 1 ใน 4 ของแรงงานภาคท่องเที่ยวตกงาน หรือคิดเป็นจำนวนมากถึง 4 ล้านคน โดยหวั่นว่า แรงงานกลุ่มนี้จะเครียดและฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลของไทยเมื่อปีก่อน ที่พบว่า กลุ่มอาชีพพนักงานและคนว่างงานมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจกำลังทำให้คนคิดสั้นเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ มีข้อควรระวังอีก 2 ประการ กล่าวคือ
ประการแรก พบว่าความเครียดหรือวิตกกังวลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งต้องปฏิบัติงานอย่างหนักภายใต้ความเครียด มาเป็นระยะเวลานาน
ประการที่สอง จากประสบการณ์รับมือการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในอดีตพบว่า ความเครียดหรือวิตกกังวลก่อผลกระทบ ทิ้งร่องรอยยาวนานแม้การแพร่ระบาดจบลงแล้ว โดยเกิดขึ้นทั้งในคนธรรมดา และบุคลากรด้านสาธารณสุข
เรียกว่าวิกฤติโควิด ในทางตรง ทำให้คนเจ็บป่วยทางกาย ในทางอ้อม ยังส่งผลให้คนเจ็บป่วยทางใจด้วย โดยความทุกข์ทางใจเกิดขึ้นได้ ในทุกชนชั้นรายได้ วัย อาชีพ ไม่เลือกว่าเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่
จากสถานการณ์โควิดที่รุนแรงขึ้น ยังไม่เห็นปลายทางของวิกฤต ผลกระทบจากปัญหาสุขภาพและเศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เสี่ยงทำให้คนไทยเครียดและคิดสั้นมากขึ้น
รัฐบาลจึงควรใส่ใจ นอกจากเร่งแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข คือ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ควบคุมการระบาดให้ได้ ยังควรพยายามเยียวยาเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ประชาชนอย่างทันท่วงที
โดยเฉพาะ สำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข ซึ่งรับภาระรักษาผู้ป่วย ที่นับวันเผชิญความเครียดมากขึ้น ต้องดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ในระยะสั้น สิ่งที่รัฐควรทำทันทีคือ รัฐบาลต้องเพิ่มความมั่นใจในการป้องกันโรค เช่น หาวัคซีนเข็ม 3 ที่มีประสิทธิภาพมาฉีดอย่างรวดเร็ว ตลอดจนเพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากรด้านสาธารณสุขอย่างเหมาะสม ซึ่งอย่างน้อยพอช่วยบรรเทาความเครียด และเพิ่มความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น
สุดท้าย เราทุกคนควรใส่ใจคนรอบตัวมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดเรื่องร้ายกับคนใกล้ตัวกันครับ