แย่หนักกว่าสงครามโลก โรงหนังรอตายช่วงโควิด สตรีมมิงรุ่งแรง จริงหรือไม่

แย่หนักกว่าสงครามโลก โรงหนังรอตายช่วงโควิด สตรีมมิงรุ่งแรง จริงหรือไม่

  • 0 ตอบ
  • 70 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

fairya

  • *****
  • 2954
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




ช่วงกักตัวอยู่ที่บ้าน รอให้โควิดหายไป ธุรกิจบันเทิงเกี่ยวกับโรงหนัง ได้รับผลกระทบเต็มๆ โดยมีธุรกิจสตรีมมิง Streaming จากหลายค่ายใหญ่ เป็นอีกแหล่งบันเทิงเข้ามาแทนที่ได้พักใหญ่แล้ว กับการดูหนังเด็ดซีรีส์ดังต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เก็บเงินรายเดือน ตามแต่โปรโมชันล่อใจในแต่ละเดือน ลดแลกแจกแถมสุดๆ ได้ดูหนังซีรีส์แบบจุใจ ดูตาแตกคาบ้านไปเลย

วิเคราะห์จากหลายอย่างแล้ว ครึ่งปีหลังอีก 6 เดือน โควิดที่ไทยน่าจะยังไม่จบในเร็วๆ วันนี้ มีคำถามคาใจน่าคิด จริงหรือไม่ ถ้า 6 เดือนต่อจากนี้โควิดยังไม่ดีขึ้น โรงหนังยังฟื้น สตรีมมิง Streaming จะเข้ามาแทนที่โรงหนัง เพราะพฤติกรรมการดูหนังของคนเปลี่ยนไปกับโควิด ไทยรัฐรีเฟรช Thairath Refresh จะพาไปค้นหาคำตอบชัดๆ 

SF เปิดใจโควิดกระทบหนัก ยิ่งกว่าสงครามโลก 
มีโรงหนังเยอะมากๆ ทั่วไทย ต้องไปคุยกับผู้บริหารหมื่นล้าน สุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) SF Corporation Public Company Limited ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ไทยรัฐรีเฟรช Thairath Refresh

ธุรกิจโรงภาพยนตร์ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ครั้งนี้ มากน้อยแค่ไหน? "โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงภาพยนตร์โดยตรง อย่างหนักหน่วงและรุนแรงมากที่สุด ในประวัติศาสตร์ธุรกิจโรงภาพยนตร์ เราไม่เคยเห็นโรงภาพยนตร์ทั่วโลก ปิดให้บริการมาก่อน

"ในช่วงสงครามโลกโรงภาพยนตร์ก็ยังเปิดให้บริการได้ แต่วิกฤติโควิด-19 ที่เป็นวิกฤติโลกครั้งนี้ โรงภาพยนตร์ก็เหมือนกับหลายธุรกิจ ที่ต้องขาดรายได้จากการหยุดให้บริการ แต่ในขณะเดียวกัน เรายังคงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงดูแลพนักงานกว่า 3,000 คน ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

"ช่วงที่สถานการณ์ในต่างประเทศมีความรุนแรง โดยเฉพาะประเทศหลักที่เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลี คอนเทนต์ก็ได้รับผลกระทบ ทำให้ต้องเลื่อนฉาย แต่สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ต่างประเทศดีขึ้นแล้ว โรงภาพยนตร์กลับมาเปิดให้บริการ ทำให้เรามีคอนเทนต์ที่พร้อมเข้าฉาย แต่โรงภาพยนตร์ในไทย ยังคงถูกสั่งปิด ต้องรอสถานการณ์ภายในประเทศให้ดีขึ้น จนกว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการ ให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์กลับมาเปิดให้บริการได้"


ตอนนี้คนยังกลัวๆ การเข้าโรงหนัง ถึงแม้ว่าจะไม่มีคลัสเตอร์ที่โรงหนังชัดเจน จะปั่นกระแสให้คนกลับมาดูหนังได้ยังไงบ้าง?

"คงต้องเป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่น ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้ามั่นใจ นับตั้งแต่มีวิกฤติโควิด-19 เอสเอฟ SF ได้เตรียมความพร้อม ในการดูแลพนักงานและลูกค้าทุกคนอย่างดีที่สุด

โดยเฉพาะมาตรการดูแลด้วยใจ ที่ให้ความสำคัญกับความสะอาด ลดการสัมผัส และการจัดผังที่นั่งเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะมาเดี่ยวหรือมาคู่ เพราะสำหรับเอสเอฟ SF แล้ว นอกจากเราต้องดูแลความสุขของลูกค้า ความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญที่สุด

"จากตัวเลขของผู้ใช้บริการที่เอสเอฟ SF ในช่วงการแพร่ระบาดลดลง เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า ถ้าเรามีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ มีคอนเทนต์ดีๆ เข้ามาฉาย มีความพร้อมในการให้บริการ คนก็พร้อมกลับเข้าโรงภาพยนตร์ อย่างปรากฏการณ์วันเดอร์วูเมน Wonder Woman 1984, อีเรียมซิ่ง ในปลายปีที่ผ่านมา และก็อดซิลลา Godzilla VS Kong ในเดือนมีนาคม

และอีกเหตุผลที่ธุรกิจโรงภาพยนตร์ อยากให้ทุกคนมั่นใจ ยังไม่มีคลัสเตอร์ที่เกิดจากโรงภาพยนตร์เลย ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่โรงภาพยนตร์ทั่วโลกก็ไม่เคยเกิดคลัสเตอร์เลย  

"ในส่วนสถานการณ์ของประเทศอื่นๆ ที่โรงภาพยนตร์สามารถกลับมาเปิดให้บริการเป็นปกติได้ ตัวเลขคนเข้าโรงภาพยนตร์ เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ เป็นการยืนยันว่าคนยังต้องการใช้ชีวิตตามปกติ และคนยังคิดถึงโรงภาพยนตร์"

หนังเด็ดดังระดับโลก จ่อรอคิวฉาย
หลังโควิดสงบ จะมีแผนเด็ด ดึงคนดูให้เข้าโรงหนังอย่างไรบ้าง? "ชัดเจนเลยครับ หนังหรือคอนเทนต์ที่จะเข้าฉาย เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ของการดึงดูดให้คนกลับมา เร็วๆ นี้จะมีหนังฟอร์มใหญ่หลายเรื่องรอเข้าฉาย โดยเฉพาะหนังที่น่าจะทำรายได้สูงสุดของปี 2021 อย่างฟาสต์แอนด์ฟิวเรียส Fast & Furious 9 ภาพยนตร์แฟรนไชส์ที่ทำรายได้สูงสุดมาตลอด หรือแฟนมาร์เวล Marvel ก็ต้องรอชมแบล็กวิโดว์ Black Widow, Eternals

มีหนังอีกหลายแนว เช่น Conjuring The Devil Made Me do it, The Suicide Squad, Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings, Venom : Let There Be Carnage, Spider-Man: No Way Home, No Time To Die, The Matrix 4, The King's Man ฯลฯ รวมไปถึงหนังไทย ค่าย GDH เช่น บุพเพสันนิวาส 2 เป็นต้นครับ




"อีกส่วนที่ขาดไม่ได้ก็คือ โรงภาพยนตร์ในช่วงโควิด ที่ผ่านมาเรามีการพัฒนาโรงภาพยนตร์ เพื่อให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเดอะเบดซีเนมา The Bed Cinema รวมไปถึงกิจกรรมดูหนังในรูปแบบพิเศษ ไดรฟ์อินซีเนมา Drive-in Cinema และมูฟวี่บรันช์ Movie Brunch ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และลูกค้าอยากให้จัดกิจกรรมพิเศษลักษณะนี้อีก

"สุดท้ายเรามีเตรียมแคมเปญพิเศษ เพื่อต้อนรับทุกคน คัมแบ็กทูซีเนมา “Comeback to Cinema” โปรโมชันและกิจกรรมการตลาดจำนวนมากจากเอสเอฟ SF และพาร์ทเนอร์ของเรา ที่จะมอบให้กับลูกค้า ส่วนรายละเอียดจะเป็นอะไรบ้าง ให้รอติดตามกันนะครับ"

โรงหนังไม่มีวันตาย สตรีมมิงไร้ Cinematic Experience
สตรีมมิงค่ายต่างๆ ตอนนี้กล้าทุ่มจ้างผู้กำกับเก่งๆ ดาราดังๆ มาทำคอนเทนต์ฉายเฉพาะ ซึ่งก็ดึงคนดูได้ดีเลย มองการเติบโตตรงนี้ ที่จะมาแย่งคนดูในโรงหนังได้มากน้อยแค่ไหน ผู้เชี่ยวชาญด้านหนังหลายคนทำนายว่าโรงหนังจะค่อยๆ ตายไปภายใน 5 ปีหลังจากนี้
จริงหรือไม่?

"ผมมองว่า เป็นคำทำนายที่ไม่เป็นความจริง ไม่มีการนำข้อมูลในอดีตมาวิเคราะห์ โดยเฉพาะโรงภาพยนตร์ในเมืองไทย ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหนักกว่านี้เยอะมาก

"หนักสุดน่าจะเป็นยุคเทปผีซีดีเถื่อน ซึ่งคนโหลดมาดูฟรีกันที่บ้าน ก็มีมานานแล้ว แต่โรงภาพยนตร์เป็นเอาต์ออฟโฮม Out of Home ที่ให้ประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป หรือพูดง่ายๆว่า มันเป็นคนละแพลตฟอร์ม Platform หรือจะเรียกว่าบิซิเนสโมเดล Business Model ที่แตกต่างกัน

"สตรีมมิงดูไม่ดูก็ต้องจ่าย โรงภาพยนตร์อยากดูก็ค่อยจ่าย และที่สำคัญโรงภาพยนตร์ยังเป็นเฟิร์สวินโดว์ First Window ในการเข้าฉายของหนังอยู่

เราเชื่อว่าสตูดิโอหรือผู้สร้างรายใหญ่ ยังคงให้ความสำคัญ กับการฉายในโรงภาพยนตร์เป็นลำดับแรก โดยเฉพาะกับหนังฟอร์มยักษ์ ต้องอาศัยระบบภาพและเสียง ที่ช่วยให้คอนเทนต์สมบูรณ์แบบกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ

เช่น ถ้าคุณดูฟาสต์แอนด์ฟิวเรียส Fast & Furious 9 ดูในโรงภาพยนตร์กับดูผ่านมือถือ คุณภาพไม่เหมือนกันแน่ๆ เพราะซีเนมาติกเอ็กซ์พรีเรนซ์ Cinematic Experience หรือประสบการณ์การชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ เป็นสิ่งที่สตรีมมิงให้ไม่ได้!

"ยกเว้นเหตุสุดวิสัย ที่ทำให้ไม่สามารถฉายในโรงภาพยนตร์ได้จริงๆ เช่น สถานการณ์ในตอนนี้ หรือเป็นหนังฟอร์มกลางไปถึงเล็ก ที่ไม่ได้เน้นรายละเอียด หรือองค์ประกอบของเทคนิคต่างๆ ในขณะเดียวกัน โรงภาพยนตร์เองยังมีการนำคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่หนังมาฉายในโรงภาพยนตร์

"ปีที่ผ่านมาเรามีการจัดคอนเสิร์ต ฉายคอนเสิร์ต ฉายสเปเชียลคอนเทนต์ Special Content ไปจนถึงจัดงานแฟนมีตติ้ง Fan Meeting ศิลปิน ทั้งหมดนี้คือการยืนยันว่า โรงภาพยนตร์เป็นสถานที่สำหรับคอนเทนต์ได้ทุกรูปแบบ


"สตรีมมิงไม่ใช่สิ่งใหม่ ถ้ามองให้ดี สตรีมมิงก็เป็นอีกช่องทางของการดูที่บ้าน เหมือนที่ดูฟรีทีวี จุดแข็งของเขาคือทีวีซีรีส์ ในขณะเดียวกันจุดแข็งของโรงภาพยนตร์ คือภาพยนตร์

สตรีมมิงไม่ได้ถือเป็นคู่แข่งของโรงภาพยนตร์ ส่วนตัวมองว่า สตรีมมิงกำลังแข่งขันกันเองมากกว่า"

เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เปิดประเทศ
ฝากถึงหน่วยงานรัฐ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือดูแล ธุรกิจบันเทิงโรงหนังหน่อย ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง? "โรงภาพยนตร์เป็นธุรกิจกลุ่มแรกๆ ที่ถูกสั่งปิด และก็เป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดเสมอ ทางสมาคมโรงภาพยนตร์ได้ยื่นจดหมาย ไปยังกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อสอบถามถึงแนวทางในการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูธุรกิจ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

"ผมเชื่อว่าตอนนี้ ทุกคน ทุกธุรกิจ มีเป้าหมายเดียวกัน คืออยากให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เราได้เห็นสัญญาณที่ดี จากการที่รัฐบาลออกมาประกาศ เรื่องการเตรียมเปิดประเทศภายใน 120 วัน ซึ่งจุดชี้วัดคือ การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรได้มากที่สุด เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้เศรษฐกิจและสังคม กลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง

"หลังจากนี้ อยากฝากไปทางหน่วยงานของภาครัฐฯ ควรมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้ธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ให้เดินไปข้างหน้า

"สุดท้ายนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ และเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ พวกเราชาว เอสเอฟ SF พร้อมที่จะต้อนรับทุกท่านสู่โรงภาพยนตร์อีกครั้ง"  


เมเจอร์เจ้าใหญ่รวยเละ แต่รายได้หายเยอะช่วงโควิด
ด้านผู้บริหารใหญ่ ของเครือโรงหนังเมเจอร์ Major วิชา พูลวรลักษณ์ ทางเราพยายามติดต่อสัมภาษณ์นานหลายวัน แต่ยังไม่พร้อมที่จะให้สัมภาษณ์ในช่วงนี้ โควิดระบาดระลอกนี้เจ็บหนักอยู่ จากที่เคยโกยเงินสนั่น แต่ตอนนี้ต้องมีหลายโรง หลายจังหวัดต้องปิดไป แต่ยังพอมีบางโรงบางจังหวัด ก็ยังเปิดบริการตามปกติ ซึ่งต้องลดรอบลดโรงไปเยอะเลย เพราะคนไม่ค่อยเข้าไปดู

เมเจอร์เงินเยอะจริง ไม่ง้อรอหนังจากค่ายอื่นๆ จึงผลิตหนังไทยเองมานานแล้ว ตั้งหลายบริษัทในเครือ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เช่น 

- เอ็ม พิคเจอร์ส M PICTURES

- เอ็มเทอร์ตี้ไนน์ M๓๙

- ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม Transformation Film

- ซีเจ เมเจอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ CJ MAJOR Entertainment

- ไท เมเจอร์ Tai Major นำทัพโดย วิสูตร พูลวรลักษณ์ ที่ปล่อยหนังเรื่องแรกของค่าย บอสฉันขยันเชือด

ส่วน รฤก โปรดักชั่น เน้นการผลิตงานเบื้องหลังมากกว่า หนังหลากหลายแนว จากหลายค่ายของเมเจอร์ Major มีทั้งลงทุนเองหมด แต่ก็มีน้อยนะ ต้องลดอัตราเสี่ยงเจ๊ง ด้วยการไปร่วมทุนกับบริษัทต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

หนังจากค่ายเมเจอร์ช่วยสร้างความคึกคัก ให้กับวงการหนังไทยได้อยู่ โดยหนังส่วนใหญ่ จะทำเสร็จล่วงหน้ามากกว่า 1 ปี เพื่อจะได้มีเวลาเหลือเยอะๆ สำหรับการเก็บแก้ ปรับเปลี่ยนรายละเอียด วางแผนพีอาร์โปรโมตปั่นกระแส หรือวางโปรแกรมฉายล่วงหน้าหลายๆ เดือน วางไทม์มิ่ง Timing เพื่อไม่ให้ชนกับหนังฮอลลีวูดฟอร์มใหญ่ๆ ซึ่งเป็นรายได้หลักของโรงหนัง

การมีค่ายหนังเป็นของตัวเอง มีโรงหนังเป็นของตัวเอง จุดแข็งคือ ถ้าหนังดีมีคุณภาพกระแสแรง ก็เพิ่มโรงเพิ่มรอบโกยเงินได้ง่ายทันทีเลย แต่ถ้าหนังเรื่องไหนกระแสแย่ คนไม่ดู ก็ต้องลดรอบลดโรงเป็นเรื่องธรรมดา ค่ายเมเจอร์ Major ยังได้ขยายโรงหนังไปอีกสาขาแล้วที่ ลาว, กัมพูชา และมีแผนโกยเงินต่อ จะขยายสาขาใหม่เพิ่มอีกเยอะ ทั้งในและต่างประเทศ

โรงหนังทางเลือก ทางรอดที่โตจริง
ธุรกิจโรงหนังสายป่านไม่ยาว รอวันตายได้เลย อุ๋ย ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ ลูกสาวเสี่ยพันล้าน อดีตเจ้าพ่อหนังไทย เสี่ยเจียง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ เงินเยอะจริงได้ร่วมกับ จ๋อง พงศ์นรินทร์ อุลิศ ตั้งใจสร้างโรงหนังทางเลือก House RCA เปิดมานานกว่า 15 ปี เป็นโรงหนังอินดี้ในดวงใจแฟนหนังตัวจริง จน 31 สิงหาคม 2562 ได้ปิดตัวไป แล้วย้ายมาเปิดใหม่ที่ เฮ้าส์สามย่าน House Samyan

โรงหนังลงทุนเยอะหลายสิบล้านบาท ถึงจะมีสาขาเดียว แต่ก็ครองใจคนรักหนังตัวจริงทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่อิงหนังกระแสแรง แต่ขยันหาหนังจี๊ดๆ เด็ดๆ มาให้ดูตลอด แต่โควิดช่วงนี้จำใจต้องปิดโรงแล้ว เบื้องต้นประกาศปิดไปยาวจนถึง 30 มิถุนายนก่อน แล้วรอประเมินสถานการณ์ว่าจะเปิดได้อีกเมื่อไหร่

ผู้บริหารสาว อุ๋ย ชมศจี ที่รักหนังสุดจิตใจ ลุยธุรกิจโรงหนัง แบบไม่แคร์เจ๊ง หนังเก่าบ้างใหม่บ้าง สลับสับเปลี่ยนมาให้คนดูเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นหนังเก่าที่ยังขลัง ดูได้ไม่เบื่อ ก่อนจะย้ายมาที่ เฮ้าส์สามย่าน House Samyan แถวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็สั่งลากับหนังชายรักชายระดับโลก คอลมีบายยัวร์เนม Call Me By Your Name รอบสุดท้ายลาโรงที่เฮ้าส์อาร์ซีเอ House RCA 

คนแห่ไปแน่นโรง พิสูจน์ชัดแล้วว่า โรงหนังถ้าฉลาดเลือกหนังดีมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเก่าแค่ไหน หรือใหม่แต่โดนมองเมิน คนดูก็พร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว ดังนั้นที่ใครบอกว่า หนังนอกกระแส หนังไม่มีกระแสแรง หนังอินดี้ทุนน้อยนิด ดาราไม่ดัง คนจะไม่ดู ไม่จริง!

เชื่อว่าแฟนหนังตัวจริง ยังต้องการโรงหนังทางเลือกอยู่อีกเยอะ น่าเสียดายที่โรงหนังเล็กๆ แบงค็อกสกรีนนิงรูม Bangkok Screening Room ย่านศาลาแดง ทนพิษโควิดไม่ไหว คนมาดูน้อยลง จนต้องปิดตัวไปแล้วตั้งแต่ 31 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

หรือไม่ต้องสร้างโรงหนังอินดี้เฉพาะเหมือน เฮ้าส์สามย่าน House Samyan อย่างโรงหนังเอสเอฟ SF ก็ใจกว้างพอ แบ่งโรงฉายเปิดพื้นที่ให้หนังนอกกระแส ดีเด่นโดน เข้าฉายเรื่อยๆ มีคนดูเพิ่มขึ้นตลอด 



ธุรกิจโรงหนัง เสือนอนกิน?
เป็นความจริงส่วนหนึ่ง ที่ว่าโรงหนังเป็นธุรกิจเสือนอนกินสบายๆ รวยจริงจัง มีแต่ได้กับได้ กำไรมากกำไรน้อยเท่านั้น ขาดทุนแทบจะไม่มี เพราะถ้าหนังเรื่องไหน คนไม่ดู กระแสไม่แรง ก็แค่ถอดทิ้งรีบเขี่ยจากโปรแกรมฉาย เอาหนังใหม่ๆ กระแสดีเด่น ดาราดังเล่น คนอยากดูเข้ามาแทนที่เลย

แต่อย่าลืมว่า ต้นทุนการสร้างโรงหนังแต่ละแห่ง ก็แพงมาก ยิ่งในช่วงโควิดระบาดหนัก เราจะเห็นผลกระทบเต็มๆ ของโรงหนังหลายแห่ง ที่จำต้องปิด หรือต้องลดรอบฉายลงต่อวัน ทำให้โรงหนังรายได้ลดหายไปเยอะ

เรื่องเงินเรื่องใหญ่ เปอร์เซ็นต์การแบ่งเงินกัน ระหว่างโรงหนังกับผู้สร้างหนัง ตามแต่ตกลงกันเลย ดีลแต่ละเรื่องจะไม่เท่าไร ขึ้นอยู่ที่ว่าส่งใครมาดีล มีคอนเนกชันมากน้อยแค่ไหน ที่จะต่อรองกัน ถ้าเป็นจากค่ายเล็ก หนังเล็กหนังอินดี้ จะได้ส่วนแบ่งไปแค่ 40-45% ตลอดการฉาย แต่ถ้าเป็นหนังจากค่ายใหญ่ ฟอร์มดี ดาราดังเล่น ก็จะได้ส่วนแบ่ง 50-50% และได้รอบฉายต่อวันต่อโรงเยอะมากๆ


ต่างกันเยอะความรู้สึก ที่ดูจากสตรีมมิง-โรงหนัง
พีอาร์ตัวแม่ตัวจริง โป้ง ปฐมทัศน์ คชาภา ทำงานเกี่ยวกับการดันดังหนังไทย และหนังต่างประเทศจากหลายค่ายใหญ่เพื่อเข้าโรง มานานกว่า 33 ปี เปิดใจดังๆ "ในฐานะคนดู ที่เราก็จ่ายเงินสมัครรายเดือน เพื่อดูหนัง-ซีรีส์กับค่ายสตรีมมิงต่างๆ พูดตรงๆ มันมาแทนที่การไปดูหนังในโรงหนังใหญ่ไม่ได้ จอใหญ่ระบบเสียงกระหึ่มของโรงหนัง เข้าโรงหนังมืดๆ ทำให้เรามีสมาธิตั้งใจดู ในขณะที่เราดูหนังจากสตรีมมิงต่างๆ เราก็มักจะทำอย่างอื่นไปด้วย ทำให้พลาดฉากสำคัญไป หรือจะย้อนกลับมาดู อารมณ์ความรู้สึก มันก็ไม่เหมือนกับดูหนังจอใหญ่ๆ อยู่แล้ว


"ระบบเสียงต่างๆ มันดีกว่าเยอะ ดีกว่าเยอะมากๆ แบบมันเทียบไม่ได้อยู่แล้ว ที่เราจะเพ่งดูจอเล็กๆ ทางทีวี ทางคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ และที่สำคัญ การดูหนังของคนไทยเป็นวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ชวนกันไปดูหนัง จีบกันในโรงหนัง แล้วไปกินข้าว เดินเล่นแล้วไปเที่ยวต่อตามจุดต่างๆ

"ย้อนไปอดีตยุคก่อน ที่มีวิดีโอ video ให้เช่าตามร้านต่างๆ หลายคนก็บอกว่า โรงหนังจะตายแล้ว คนไม่เข้าไปดูในโรง แต่มันก็ไม่ใช่! หรือยุคที่มีหนังแผ่นหนังวีซีดี VCD หลายค่ายก็ทุ่มทุนดึงดาราดังๆ มาเล่นเยอะ เร่งผลิตจนบูมในยุคหนึ่ง แต่คนก็ยังชอบเข้าไปดูหนังในโรงมากกว่า

"หรือยุคถัดมาที่มีหนังดีวีดี DVD คนก็ซื้อไปดูที่บ้านและสะสมกันเยอะ แต่ก็หมดยุคไปแล้ว ตอนนี้ใครจะซื้อดีวีดี DVD ไปดู มันก็น้อยลงๆ เกือบจะไม่มีแล้ว ต้องพ่ายแพ้ให้กับระบบของโรงหนังที่ดีกว่า ยุคนี้เรามีหนัง-ซีรีส์เยอะเลยจากทั่วโลกให้เลือกกดๆ ดูในสตรีมมิงต่างๆ แต่ถึงที่สุด เชื่อเถอะว่ามนตร์เสน่ห์ของโรงหนังก็ยังจับใจ มีพลังดึงดูดมากกว่าการดูผ่านสตรีมมิง  

"โรงหนังจะตาย ลดความนิยมลงเรื่อยๆ เพราะสตรีมมิงจะมาแย่งตลาดเหรอ คงไม่ใช่นะ! สังเกตสิ ห้างใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด โรงหนังก็ต้องมีเยอะตามไปหมด กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของห้าง โรงหนังหรูหราอลังการทั้งนั้น บริษัทใหญ่ๆ ที่ทำโรงหนัง ยังมุ่งเจาะตลาดต่างจังหวัดต่อไป มีแผนจะเปิดโรงหนังทั่วไทยอีกเพียบ นั่นความหมายว่า โรงหนังมีแต่เพิ่มๆ ไม่ได้ลดลงเลย"


ค่ายใหญ่สตรีมมิง ไม่ยอมให้ระบบโรงหนังตายไป
ไปๆ ไปคุยกันต่อกับ นุชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับปังจริง จากหนังชายรักชายหลายเรื่อง เช่น อนธการ The Blue Hour, มะลิลา Malila The Farewell Flower ล่าสุดค่ายใหญ่ระดับโลก วอร์เนอร์มีเดีย Warner Media ทีวีช่องดังระดับโลก HBO GO ซึ่งเป็นอีกเจ้าใหญ่ และยังมีสตรีมมิงหนัง-ซีรีส์อีกด้วย ก็จ้างให้ นุชี่-จอช คิม Josh Kim มากำกับร่วมซีรีส์สยองแตก 8 ตอนเรื่อง Forbidden ที่นำโดย เจเจ กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม

นุชี่ ได้วิเคราะห์ถึงการเติบโตของสตรีมมิง ที่อาจจะเข้ามาแทนที่โรงหนังในอนาคต
"จริงๆ โรงหนังมันไม่หายไปไหน ถึงแม้ค่ายสตรีมมิงต่างๆ จะทำออริจินัลคอนเทนต์ Original Content มากขึ้นก็ตาม ถึงแม้มีการใช้เงินมาก ลงทุนเยอะสร้างดี มีการเติบโตแค่ไหน

แต่การฉายหนังในโรงก่อน จะได้เงินเป็นกอบเป็นกำ มากกว่าที่จะฉายเฉพาะสตรีมมิงทางเดียว รายได้จากโรงหนังเป็นวันต่อวันเห็นชัดๆ ทางบ็อกซ์ออฟฟิศ Box Office แต่รายได้สตรีมมิง คิดเก็บเงินได้เป็นรายเดือน มันอาจจะไม่คุ้มทุนสร้าง โดยเฉพาะโปรเจกต์หนังใหญ่ๆ ลงทุนสูง

"แต่ละค่ายของสตรีมมิงที่ทำหนังออกมาตลอด ใช้เงินทุนสูงมาก บางเรื่องก็ 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าออกฉายเฉพาะทางสตรีมมิงมันไม่คุ้มทุน เช่น ค่ายดิสนีย์ Disney ก็มีสตรีมมิงเขาเอง สร้างหนังลงทุนสูงก็ต้องพึ่งโรงหนัง อยากจะให้หนังเข้าโรง เพราะทำเงินได้มากกว่า

ในอนาคตน่าจะเห็นโมเดล แบบฉายทั้งสองช่องทางมากขึ้น อย่างเรื่องโรมา Roma (หนังขาวดำของผู้กำกับ อัลฟอนโซ กัวรอน) ที่เน็ตฟลิกซ์ Netflix ซื้อไปเป็นออริจินัลคอนเทนต์ Original Content นำไปฉายทั้งโรงหนังและสตรีมมิงด้วย ก็ได้กระแสดี ได้เงินสองช่องทางเลย และได้รางวัลจากสถาบันต่างๆ อีกเยอะด้วย

"อนาคตค่ายสตรีมมิงต่างๆ อาจจะฉายพร้อมกันทั้งทางสตรีมมิงและโรงหนัง ก็เป็นไปได้ ยังไงสตูดิโอใหญ่ต่างๆ เขาไม่ยอมให้ระบบโรงหนังตาย หายไปไหนหรอก เพราะมันเป็นแหล่งทำเงินให้พวกเขา มากกว่าที่ฉายเฉพาะสตรีมมิง"


สตรีมมิงแย่งตลาด คนดูหนังในโรงไม่ได้
อีกหนึ่งผู้กำกับหนังตัวพ่อของเมืองไทย ต้องยกให้ ต้อม ยุทธเลิศ สิปปภาค เขาบอกกับเราว่าสตรีมมิงแย่งตลาด คนดูหนังในโรงไม่ได้


"สตรีมมิงมันมาแย่งตลาดคนดูหนัง ที่ชอบบรรยากาศของโรงหนังไม่ได้หรอกครับ ก็ได้แค่ช่วงโควิดนี้แหละ เพราะถ้าโรงหนังกลับมาเปิดเต็มที่อีกครั้ง หลังโควิดเลิกระบาดแล้ว คนก็ยังพร้อมจะเข้าไปดูหนังในโรงหนังกันอยู่ การดูหนังในโรง มันเป็นวัฒนธรรมที่แข็งแรง เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย และคนทั่วโลกไปแล้ว

"รายได้จากการนำหนังไปฉายที่ค่ายสตรีมมิง มันก็จำกัดตายตัว ต่างกับการฉายโรง ถ้าหนังเกิดโดนขึ้นมา มันจะทำเงินให้คนทำหนัง มากกว่าเก็บค่าลิขสิทธิ์จากสตรีมมิง แต่ตอนนี้เมื่อโรงหนังถูกปิด แน่นอนการดูหนังอยู่บ้านจึงเป็นทางเลือก แค่เลือกเข้ามาเพียงเพื่อขั้นเวลา แต่ปัญหาคือ มันเป็นการขั้นเวลา ที่กินเวลาปีครึ่งเข้าไปแล้ว และที่สำคัญมันไม่มีใครรู้ว่า เจ้าของโรงที่ทำเงินของคนทำหนัง จะยืนต่อได้นานแค่ไหน

"ค่ายสตรีมมิงอย่างเน็ตฟลิกซ์ Netflix เริ่มบุกตลาดเมืองไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็คงได้เรียนรู้รสนิยมของการดูหนัง ดูซีรีส์ของคนไทยไปแล้ว ว่าแตกต่างจากคนชาติอื่นอย่างไร ตอนนี้คงตกใจอยู่ว่า ทำไมคนไทยชอบดูหนังดูซีรีส์เกาหลี มากกว่าดูหนังไทยของชาติตัวเอง


"ตอนนี้เน็ตฟลิกซ์ Netflix คงอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนคนดูแลคอนเทนต์ content พวกเขาคงต้องค้นหา คนที่เข้าใจรสนิยมของคนดูคนไทย และเป็นคนที่เข้าใจโปรดักชั่นและวิถีการทำงานแห่งไทย ที่ไม่เหมือนชาติใดในโลก เข้ามาดูแลให้ได้".