ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา เปิดเผยผลวิจัยของ มธ. กับ ทีมวิจัยของ BIOTEC สวทช.
เปรียบเทียบระหว่างวัคซีนไฟเซอร์และแอสตร้าเซเนก้า พบไฟเซอร์ มีระดับแอนติบอดีต่อโปรตีนสไปค์สูงกว่า แต่ภูมิก็ตกเร็วกว่าแอสตร้าฯ ด้วยเช่นกัน
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก 'Anan Jongkaewwattana' เปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันของวัคซีน 2 ยี่ห้อ ระหว่าง ไฟเซอร์และแอสตร้าเซเนก้า และพบว่า ไฟเซอร์ให้ภูมิที่สูงกว่าแต่ภูมิก็ตกลงเร็วกว่าแอสตร้าฯ ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ดร.อนันต์ ได้ระบุข้อความว่า
'ทีมวิจัยของ มธ กับ ทีมวิจัยของ BIOTEC สวทช เก็บข้อมูลระดับภูมิคุ้มกันของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับ Sinovac 2 เข็ม และ ฉีดเข็มกระตุ้นด้วย AZ และ PZ และ เปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันใน 2 กลุ่มนี้ครับ กลุ่มที่ได้เข็มกระตุ้นด้วย PZ มีระดับแอนติบอดีต่อโปรตีนสไปค์สูงกว่า AZ อย่างมีนัยสำคัญ (3500 vs 1500) แต่ ที่น่าสนใจคือ ภูมิจาก AZ ตกช้ากว่าครับ เพราะเมื่อวัดที่45 วันหลังกระตุ้น ระดับแอนติบอดีได้ที่ 1500 เหมือนเดิมกับที่วัดที่ 14 วัน ขณะที่กลุ่ม PZ วัดที่ 30 วันหลังกระตุ้น หรือ 2 อาทิตย์หลังจุด peak ค่าแอนติบอดีตกลงมาจาก 3500 ไปที่ 2800 ซึ่งตกลงมาไวพอสมควร
ถามว่า ภูมิ 1500 ของ AZ ที่กระตุ้นขึ้นมาจะพอหรือไม่ต่อการป้องกันเดลต้า ค่า % inhibition ต่อการยับยั้งการจับกันของสไปค์เดลต้ากับ ACE2 อยู่ที่ 91% ซึ่งถือว่าเป็นเกณฑ์ที่รับได้ครับ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับค่า baseline ก่อนกระตุ้น ภูมิที่ได้มาถือว่าช่วยป้องกันเดลต้าได้ดีขึ้นมากครับ ส่วนภูมิจากการกระตุ้น PZ ถือว่าสูงมาก แต่ถ้าตกไว ก็คงต้องดูว่า จะตกลงมาต่ำกว่าค่าที่ AZ ทำได้เมื่อไหร่ครับ ต้องชื่นชมทีมวิจัยนำโดย คุณหมอสิระ แห่ง มธ และ ดร.พีร์ ดร.อรวรรณ แห่ง BIOTEC สวทช และ ทีมวิจัยคนอื่นๆอีกหลายคน ที่สร้างสรรค์ผลงานนี้ครับ'