นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า วันนี้(1ก.ย.)เป็นวันแรกที่กรมสรรพากรเปิดให้
ผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ข้ามชาติเข้ามาจดทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)ในประเทศไทยตามกฎหมายe-Serviceที่กรมฯได้ประกาศใช้เริ่มวันที่ 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้ มีผู้ประกอบการดังกล่าวได้เข้ามาจดทะเบียนแล้วประมาณ 69 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่กลุ่มเป้าหมายของกรมฯประมาณ 20 ราย
ทั้งนี้ กรมฯมีเป้าหมายผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนแวตกับกรมฯรวมประมาณ 100 ราย อย่างไรก็ดี ระบบเราจะเปิดรับจดทะเบียนแวตตลอดคาดการณ์รายได้จากผู้ประกอบการเหล่านี้ประมาณ 5,000 ล้านบาท
“ตัวเลขคาดการณ์รายได้จำนวน 5,000 ล้านบาทนี้ เราคาดการณ์ในช่วงที่เราทำกฎหมาย คือ 2-3 ปีที่แล้ว ซึ่งยังไม่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 แต่ตอนนี้ ตัวเลขการค้าขายผ่านระบบออนไลน์สูงขึ้น ก็เชื่อว่า ตัวเลขรายได้ที่คาดการณ์เป็นตัวเลขขั้นต่ำ”
ทั้งนี้ เมื่อผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนกับกรมฯแล้ว จะเริ่มชำระภาษีแวตต่อกรมฯได้ภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป โดยเป็นการชำระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับในรายที่ยังไม่ยอมเข้ามาจดทะเบียนแวตกับนั้น กรมฯจะใช้ความร่วมมือกับต่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิกที่ช่วยเหลือด้านการเก็บภาษีดังกล่าวจำนวน 130 ประเทศ ทั้งนี้ ประมวลรัษฎากรใหม่ให้อำนาจเพิ่มเติมที่สามารถออกหมายผู้ประกอบการเลี่ยงภาษีเรียกทางอิเล็กทรอนิกส์เหมือนผู้ประกอบการไทย และ สามารถอายัดบัญชีที่ผู้ประกอบการดังกล่าวจดในประเทศไทยได้ รวมถึง ออกหมายเรียกพยานในการชำระภาษีได้ด้วย
“เราจำเป็นต้องร่วมมือกับต่างประเทศ จึงต้องเป็นภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศเหล่านั้น ให้ช่วยกันเก็บภาษีพวกบริษัทข้ามชาติที่เอาเปรียบบริษัทในประเทศ”
ส่วนอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทเหล่านี้จะต้องชำระ คือ 7% เท่ากับผู้ประกอบการจดแวตในไทย ซึ่งจุดมุ่งหมายของกรมฯ คือ ทำให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างบริษัทต่างประเทศกับในประเทศ โดยผู้ประกอบการที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนชำระภาษีแวต
ปัจจุบันกรมฯจัดเก็บรายได้จากภาษีแวตปีละประมาณกว่า 8 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม รายได้จากธุรกิจออนไลน์ไม่มากนัก เพราะธุรกิจออนไลน์ในประเทศยังไม่มีการเติบโตมากนัก ขณะที่ ธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศได้เข้ามาทำธุรกิจในไทยจำนวนมาก เราจึงต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ธุรกิจในประเทศ