ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญดิสรัปชันหลายระลอกใหญ่ ทั้งด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สภาวะการแข่งขันแบบไร้พรมแดน ความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และตัวแปรสำคัญ วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด 19” มหันตภัยคุกคามโลกที่สร้างผลกระทบร้ายแรงกับทุกคน และทุกภาคส่วน มาเป็นเวลานานกว่าปีครึ่ง! ทำให้ธุรกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก วิถีธุรกิจ การใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป รวมถึง “ขีดความสามารถทางการแข่งขัน” ทั้งในและต่างประเทศ ที่จะสร้างความได้เปรียบ-เสียเปรียบทางธุรกิจ เป็นภารกิจแห่งความท้าทายภายใต้วาระเร่งด่วนของ
เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในฐานะหนึ่งใน “บิ๊กคอร์ป” ที่มีความหลากหลายทางธุรกิจมากที่สุดในประเทศไทย ในการปรับยุทธศาสตร์เคลื่อนธุรกิจบนโลกการค้ายุคหลังโควิดที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป!
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด 19 ทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ส่งผลกระทบเสียหายอย่างรุนแรงต่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ เอสเอ็มอี (SME) ในประเทศไทย ขณะเดียวกัน สร้างผลกระทบอีกด้านหนึ่งด้วย กล่าวคือ ทำให้เกิด “บริษัทยักษ์ใหญ่” ในระดับนานาชาติจำนวนมาก ที่ปัจจุบันกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าทางธุรกิจมากกว่า GDP ของหลายประเทศในโลก
“การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจทั้งสองด้าน ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีระดับโลก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศ จากการที่เอสเอ็มอีไทยอ่อนแอลง เราจึงต้องเร่งเครื่องเดินหน้าบนเวทีโลกและช่วยผู้ประกอบการไทยให้ก้าวไปสู่ตลาดระดับโลกพร้อมกันกับเรา”
ศุภชัย กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนธุรกิจยุคหลังโควิด 19 “เครือซีพี” จะเร่งขยายกิจการในต่างประเทศ พร้อมผนึกพันธมิตรไทยและต่างชาติ ต่อยอด ความร่วมมือต่างๆ ผ่าน 4 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่
1.เร่งเครื่องการลงทุน
2.เร่งเครื่องการเดินหน้าบนเวทีโลก
3.ลดความซับซ้อนของโครงสร้างธุรกิจของเครือเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและความรวดเร็วในการดำเนินธุรกิจ
4.สร้างแพลตฟอร์มทางธุรกิจเพื่อขยายความร่วมมือกับผู้ประกอบการต่างๆ ของไทย รวมถึงเกษตรกรจำนวนมาก ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงตลาดต่างประเทศ
“ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนแบบนี้ เราจะต้องไม่ชะลอการลงทุน! ในทางกลับกัน จะต้องเร่งแผนการลงทุนของธุรกิจต่างๆ ในเครือ เดินหน้าลงทุนในโครงการใหม่ๆ รวมถึงโครงการที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างธุรกิจค้าขายดีลใหม่ๆ โดยเฉพาะกับเอสเอ็มอีและเกษตรกรเล็กๆ กว่า 1.2 ล้านราย ที่เรามีความร่วมมือทางธุรกิจกันอยู่แล้วทั้งทางตรงและทางอ้อม”
ทั้งนี้ เมื่อมีการลงทุนของธุรกิจในเครือซีพี จะสร้างเม็ดเงินสะพัดกระจายต่อไปสู่ธุรกิจที่หลากหลาย ชุมชนทุกระดับ โดยก่อนหน้านี้เครือซีพี ยังได้จัดสรรงบประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อการช่วยเหลือทางด้านต่างๆ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาดของโควิด 19
ขณะที่การลงทุนต่างประเทศของเครือซีพีอยู่ในโหมดเร่งเครื่องยนต์! โดยการริเริ่มโปรเจกต์ขนาดใหญ่หลายๆ โครงการกำลังคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว เป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มตัวตนและสถานภาพที่แข็งแกร่งของธุรกิจไทยในตลาดต่างประเทศได้!
เมื่อบริษัทในเครือซีพีมีความแข็งแกร่งในตลาดต่างประเทศจะเป็นการเปิดช่องทางสร้างโอกาสสำหรับกลุ่ม เอสเอ็มอี ไทยนับสิบ นับร้อย หรือนับพันราย เกษตรกรและผู้ผลิตต่างๆ เข้าถึงตลาดต่างประเทศเหล่านั้นได้ทันที
อย่างไรก็ตาม อีกหัวใจสำคัญของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ประกอบด้วย 14 กลุ่มธุรกิจ มีพนักงานมากกว่า 400,000 คน จะเร่งปรับลดความซับซ้อนของโครงสร้างธุรกิจลงด้วยเช่นกัน
“บริษัทในเครือซีพีจะสามารถตัดสินใจต่างๆ ระหว่างบริษัทได้รวดเร็วมากขึ้น เป็นการทำงานในยุคของโลกที่ความเร็วเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของธุรกิจ”
ในการเตรียมความพร้อมสำหรับโลกหลังวิกฤติ โควิด 19 ของธุรกิจในเครือซีพี มุ่งก้าวไปข้างหน้าให้ได้ไกลกว่าการเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าและการบริการเท่านั้น! ภายใต้ “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ในการส่งเสริมเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ พัฒนาศักยภาพ พร้อมเปิดประตูไปสู่โอกาสใหม่ๆ เพื่อการเติบโตทางธุรกิจทั้งในประเทศไทยและระดับโลก
โมเดลธุรกิจที่เรียกว่า “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ สร้างอีโคซิสเท็มเพื่อให้ผู้ประกอบการ พันธมิตรธุรกิจต่างๆ รวมถึงเกษตรกรจำนวนมาก สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ ผ่านการทำงานร่วมกันกับบริษัทในเครือซีพี
เป็นการเชื่อมผู้ประกอบการไทยในวงกว้างให้เข้าถึงตลาดใหม่ “นอกบ้าน” มากขึ้น เป็นหนึ่งในแนวทางเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศไทย ในโลกยุคใหม่หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 จากการรวมพลังและระดมศักยภาพของเอสเอ็มอีหลายหมื่นรายและวิสาหกิจไทยอื่นๆ ออกไปต่อสู้บนเวทีระดับโลก
“ปกติเอสเอ็มอีจะมีข้อจำกัดหรือไม่สามารถรับความเสี่ยงและความยากลำบากในการพยายามตั้งหลักในตลาดต่างประเทศได้ และบ่อยครั้งที่ธุรกิจเหล่านั้น ไม่สามารถรับมือกับความท้าทายจากเครือข่ายธุรกิจในประเทศต่างๆ ได้ ดังนั้นหากเครือซีพีจะเป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีไทยได้ จะยิ่งเพิ่มศักยภาพให้เอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดที่ปกติแล้วจะมีแต่บริษัทใหญ่ที่สุดของไทยเท่านั้นที่จะเข้าถึงได้”
นับเป็นการปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจใหม่อย่างมหาศาล ช่วยนำความรุ่งเรืองมาสู่คนนับล้าน ตอกย้ำเส้นทางการดำเนินธุรกิจของเครือซีพีในระดับสากล ผ่านแนวคิดแบบ “Win-Win”
ศุภชัย ย้ำว่า บริษัทไทยต้องร่วมมือกันให้ได้มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อสร้างพลังร่วมกัน ส่งเสริมความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีเศรษฐกิจโลกต่อไปในอนาคต เช่นเดียวกับที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกในสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลี ที่สนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศบ้านเกิด และบริษัทในประเทศของตัวเอง ไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าให้กับประเทศที่ธุรกิจต่างๆ เหล่านั้นเข้าไปดำเนินธุรกิจ และเราก็ควรทำเช่นเดียวกัน
ทั้งหมดนี้สอดคล้องหลัก “3 ประโยชน์” ของเครือซีพี ที่คำนึงถึงการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ สร้างประโยชน์ให้กับสังคม และสร้างประโยชน์ให้กับบริษัท นั่นเอง