<img src="
https://i.ibb.co/z8n48w8/750x422-954014-1628605077.jpg" alt="750x422-954014-1628605077" border="0">
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดตัว 10 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศ จากโครงการ Space Economy: Lifting Off 2021 ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนและส่งเสริมให้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการทำ
เทคโนโลยี ระบบ หรือบริการด้านกิจการอวกาศสามารถต่อยอดสู่ธุรกิจจริง และสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจอวกาศโลก โดยเตรียมผลักดันสตาร์ทอัพทั้ง 10 ราย ผ่านแนวทางการส่งเสริมอย่างหลากหลาย อาทิ การสนับสนุนงานด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้บริษัทสตาร์ทอัพสามารถนำงานวิจัยไปต่อยอดในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ การเตรียมพร้อมรองรับเศรษฐกิจอวกาศด้วยการพัฒนาให้สตาร์ทอัพสามารถผลิตดาวเทียมได้เองและสร้างธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
รองรับการเติบโตอนาคต
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เอ็นไอเอ มีนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพที่สนใจทำธุรกิจนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศ หรือ Spacetech ผ่านโครงการ Space Economy: Lifting Off 2021 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเศรษฐกิจอวกาศซึ่งปัจจุบันมูลค่าสูงกว่า 5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ และในอนาคตอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าสูงขึ้นจากปัจจุบันกว่า 1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์หรือประมาณ 33 ล้านล้านบาท (ที่มา: สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA)
โดยโครงการดังกล่าวเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย และพัฒนาบุคลากรของประเทศให้เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงผลักดันให้เกิดการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศไปพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังเห็นว่าเศรษฐกิจอวกาศจะกลายเป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นเครื่องยนต์ในการกระตุ้น GDP ของไทยให้สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นเพื่อให้เกิดการการส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้เชี่ยวชาญ ในการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจอวกาศผ่านกลไกต่าง ๆ ดังนี้
1.สนับสนุนงานด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สตาร์ทอัพสามารถนำไปต่อยอดในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ
2.ส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้โครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศ เช่น สถานีภาคพื้นดิน
3.เตรียมพร้อมรองรับการส่งจรวดและดาวเทียมด้วยการพัฒนาให้สตาร์ทอัพสามารถผลิตดาวเทียมได้เองเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
4.สนับสนุนการใช้งานด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบนำทาง โทรศัพท์สัญญาณดาวเทียม และบริการด้านอุตุนิยมวิทยา
5.การสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศให้แก่สตาร์ทอัพของไทยที่สนใจเปลี่ยนมาทำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีอวกาศ
โดยสตาร์ทอัพทั้ง 10 ทีม ล้วนมีความน่าสนใจและมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจอวกาศในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย “Space Composites” ผู้พัฒนาเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ชั้นสูงที่ใช้ออกแบบและผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อการสำรวจอวกาศ “iEMTEK” สายอากาศและอุปกรณ์เชื่อมต่อสั่งงานสำหรับระบบสื่อสารบนดาวเทียมขนาดเล็ก “NBSPACE” ดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษาสภาพทางอวกาศ “Irissar” เรดาร์ อุปกรณ์ และระบบที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ “Halogen” .ลูนเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศ
“Plus IT Solution” ระบบวิเคราะห์พื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ และการใช้ประโยชน์อื่น ๆ “Krypton” นวัตกรรมโปรเจกต์คริปโตไนท์ ซึ่งเป็นวิวัฒนาการดาวเทียมในรูปแบบใหม่ “Spacedox” ระบบวิเคราะห์และแจ้งคุณภาพอากาศโดยใช้.ลูนลอยสูงผ่านเครือข่าย Lora และข้อมูลการตรวจวัดจากดาวเทียม “Emone” เทคโนโลยีควบคุมความเร็วการโคจรวัตถุในอวกาศเพื่อลดปริมาณขยะจากอวกาศ และ “Tripler Adhesive” สูตรกาวและสารยึดเกาะเพื่อใช้สำหรับอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางอวกาศ
รุกอุตสาหกรรมอวกาศ
สตาร์ทอัพทั้ง 10 ทีมได้รับการอบรมบ่มเพาะจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมด้านอวกาศ เพื่อให้สามารถพัฒนาโครงการ และตอบโจทย์ความต้องการในภาคอุตสาหกรรมอวกาศได้อย่างตรงจุด รวมทั้งสามารถสร้างโมเดลธุรกิจที่เป็นรูปธรรมและต่อยอดได้จริงผ่านการทำงานกับหน่วยงานพันธมิตรที่เป็นผู้นำของอุตสาหกรรมอวกาศในรูปแบบ co-creation
โดยตั้งเป้าหมายว่าปลายปีนี้จะช่วยให้สตาร์ทอัพเกิดความเข้าใจในธุรกิจด้านเศรษฐกิจอวกาศ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการได้ตรงตามความต้องการของตลาด รวมถึงนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดเพื่อพัฒนาและขยายธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าเศรษฐกิจอวกาศของโลกในอนาคต
ด้าน กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า โครงการ Space Economy: Lifting Off 2021 เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกับ Thai Space Consortium เพื่อผลักดันเศรษฐกิจอวกาศให้เกิดขึ้น ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอวกาศให้มีบทบาทและสามารถเติบโตได้ในอุตสาหกรรมอวกาศ โดยได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเอ็นไอเอได้เฟ้นหาบริษัทสตาร์ทอัพที่มีความสนใจหรืออยู่ในธุรกิจอวกาศของประเทศไทย
เพื่อเข้ามาร่วมโครงการบ่มเพาะและพัฒนาในรูปแบบของการร่วมรังสรรค์ (co-creation) เพื่อปูทางไปสู่การสร้างเศรษฐกิจอวกาศให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยบริษัทสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรมอวกาศ จำนวนทั้งสิ้น 10 ทีม ซึ่งมีทั้งสตาร์ทอัพที่อยู่ในอุตสาหกรรมอวกาศอยู่แล้ว
และที่มีเทคโนโลยีเชิงลึก และพร้อมที่จะต่อยอดธุรกิจในอุตสาหกรรมอวกาศ อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ และหน่วยร่วมเห็นว่าบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจ และที่สำคัญสร้างสรรค์โดยคนไทย โดยบริษัทเหล่านี้มีโอกาสจะเติบโตในอุตสาหกรรมอวกาศได้ชัดเจน และสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศ รวมถึงการเติบโตและพัฒนาไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ในอนาคต
"NBSPACE" ผู้ออกแบบและพัฒนาดาวเทียมดวงเล็กเพื่อใช้สื่อสารกับภาคพื้นดิน Thai-Made Space System หรือ ชิ้นส่วนระบบอวกาศที่ออกแบบและผลิตในประเทศไทย หนึ่งในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศ จากโครงการ Space Economy: Lifting Off 2021 และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากการนำเสนอรูปแบบเทคโนโลยี นวัตกรรม และแผนธุรกิจ The best Startup in Space Economy: Lifting Off 2021
โดย NBSPACE ให้บริการออกแบบและสร้างดาวเทียมโดยมีแพลตฟอร์มดาวเทียมพร้อมให้บริการ รวมถึงสามารถออกแบบ payload ตามความต้องการของลูกค้าได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศได้ ส่วนรายละเอียดหลักๆของเทคโนโลยีคือ ออกแบบและพัฒนาระบบสื่อสารบนดาวเทียม ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหลักที่สำคัญของดาวเทียมเพื่อใช้สื่อสารกับภาคพื้นดิน
ส่วนอันดับ 2 ได้แก่บริษัท “Irissar” เรดาร์อุปกรณ์และระบบที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ อันดับที่ 3 บริษัท "Plus IT Solution" ระบบวิเคราะห์พื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ และการใช้ประโยชน์อื่นๆ
สำหรับรางวัล The Popular ได้แก่ “Halogen” .ลูนเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศ โดยพัฒนา High altitude ballooning platform เพื่อใช้ส่ง payload ต่างๆขึ้นสู่ชั้น stratosphere ที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับอวกาศจริง ด้วยแพลตฟอร์มนี้จะทำให้ลูกค้าสามารถทำการทดลอง วิจัย พัฒนา หรือตรวจสอบประสิทธิภาพในการทำงานของดาวเทียมก่อนขึ้นสู่อวกาศได้ในราคาที่ถูกกว่าการใช้จรวดทำให้ทุกภาคส่วน อาทิ โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือบริษัทเอกชน ก็สามารถเข้าถึงนวัตกรรมอวกาศได้
เนื่องจากทีมงานมองเห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังคิดว่าเทคโนโลยีอวกาศเป็นเรื่องไกลตัว ปัญหาใหญ่ที่อุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทยกำลังเผชิญคือ ปัญหาการขาดแคลนกลุ่มลูกค้าและบุคลากร เพราะคิดว่าการทำอะไรที่เกี่ยวกับอวกาศจำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาลและผลที่ได้ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ลงทุนไป
ส่วนรายละเอียดเทคโนโลยีหลัก คือ Automatic nozzle controlled decent ระบบควบคุมทิศทางการตกของ payload หลังจากที่.ลูนแตกออกให้ไปตกลงที่ที่สามารถเข้าไปเก็บกู้ได้ง่ายและไม่เป็นอันตรายต่อชุมชนหรือสิ่งมีชีวิตต่างๆในพื้นที่ใกล้เคียง แบบอัตโนมัติ โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยยกระดับความปลอดภัยของภารกิจขึ้นอย่างมาก
ภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอวกาศได้กลายมาเป็นจุดสนใจของนักลงทุนและผู้ประกอบการจำนวนมากโดยเฉพาะโซนยุโรป และอเมริกา ทำให้มีเงินและเทคโนโลยีจำนวนมากที่ไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ แต่ไทยกลับไม่มีการพูดถึงอุตสาหกรรมอวกาศ ด้วยสาเหตุผลที่ว่า 1.ราคาสูง มีเพียงภาครัฐและภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่เข้าถึงได้ 2.การศึกษา ไม่ได้ให้ความสำคัญกับด้านอวกาศมากนัก
ทางทีมจึงต้องการแก้ปัญหานี้จึงจะนำ High altitude ballooning platform มาทำให้อวกาศมีราคาถูกลง มีความเสี่ยงต่ำ สามารถเข้าถึงได้ด้วยคนจำนวนมากขึ้น
โดยที่ทางแพลตฟอร์มมีขั้นตอนบริหารจัดการ 3 ขั้นตอนคือ 1.ออกแบบและพัฒนา ทางทีมจะทำงานร่วมกับลูกค้าในการออกแบบทั้งภารกิจและ payload 2.การดำเนินการส่ง.ลูนขึ้นไปพร้อมกับ payload ที่ความสูงประมาณ 35 กิโลเมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศที่มีความใกล้เคียงกับชั้นอวกาศ 3.หลังจาก payload ตกลงมาที่พื้นจะมีการส่งทีมงานไปเก็บกู้กลับมาและนำมาพัฒนาต่อเพื่อทำการทดลองใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้แพลตฟอร์มจะเน้นให้ความรู้ คำแนะนำ ทำให้ลูกค้ามีความรู้สามารถออกแบบ payload ได้ตามต้องการ ทำให้แพลตฟอร์มของ Halogen เหมาะสมต่อการนำมาใช้ในการศึกษาตรงกลุ่มเป้าหมาย 1.Academics อาทิ โรงเรียน สถาบันวิจัย ฯลฯ 2.Non-Academics อาทิ หน่วยงานรัฐ เอกชน เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ
โดยไทม์ไลน์คือในช่วงปีแรกจะเน้นการวิจัยและพัฒนา High altitude ballooning platform เพื่อให้ทำงานไม่มีปัญหา ส่วนปีที่สองจะเปิดให้บริการการส่งการทดลองไปในชั้นบรรยากาศเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ภายในปี 5 ต้องการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการยิงจรวดขึ้นจาก.ลูน
ส่วนคู่แข่งไม่มีในเซกเมนต์นี้ในประเทศไทยยังไม่มี แต่ระดับโลกจะมีบ้างบางราย สำหรับรายได้จะมาจาก 1.Education การให้คำปรึกษา ความรู้ คำแนะนำ space engineering การออกแบบ payload ต่างๆ และค่าดำเนินการจะได้จากการส่งการทดลองต่างๆขึ้นไปในชั้นบรรยากาศด้วย.ลูนของบริษัท 2.Technology & Supply ที่จะมีการจำหน่ายเทคโนโลยีให้กับบริษัทและหน่วยงานที่ต้องการใช้
ขณะเดียวกันแผนดำเนินการทางการเงิน ในปีแรกตั้งใจจะใช้เงินส่วนใหญ่ไปกับการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์ม โดยเริ่มทำกำไรได้ในปีที่ 2 เป็นต้นไป และภายในระยะเวลา 5 ปี ตั้งเป้าที่จะได้กำไรอย่างต่ำ 5 ล้านบาท