เนื่องจากการระบาดของ โควิด 19 ที่รุนแรงถึงขั้นวิกฤต ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้วัคซีน บุคลากรสาธารณสุขมีศักยภาพดูแลเฉพาะผู้ป่วยหนัก ประชาชนส่วนหนึ่งนำ
ฟ้าทะลายโจรมาใช้จนถึงขั้นขาดตลาดและมีผู้ฉวยโอกาสขึ้นราคา แต่ข้อมูลในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรยังไม่ชัดเจน ขณะเดียวกับ การใช้ฟ้าทะลายโจร อาจทำให้ผู้ติดเชื้อขาดโอกาสได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ที่เป็นยาพื้นฐานหลักเนื่องจากอาจส่งผลต่อตับได้
วานนี้ (6 ส.ค. 64) “สารี อ่องสมหวัง” สภาองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนของผู้บริโภค กล่าวในงานเสวนา ฟังให้ชัดกับการใช้ "ฟ้าทะลายโจร" ในสภาวะวิกฤต: คุณภาพ ราคา และความปลอดภัย โดยสะท้อนภาพในปัจจุบันว่า ขณะนี้ ฟ้าทะลายโจรในวิกฤติ ยากสำหรับผู้บริโภค จากการรวบรวมโดยทีมสื่อของสภาองค์กรของผู้บริโภค หากค้นคำว่า “ฟ้าทะลายโจร” ในเว็บไซต์จะพบข้อมูลกว่า 2.3 ล้านรายการ ดังนั้น ไม่ง่ายสำหรับผู้บริโภค อย่างแรกที่เจอ คือ การขายของ ไม่ใช่ข้อมูลการใช้อย่างถูกต้องหรือถูกวิธีได้อย่างไร และฟ้าทะลายโจรทำอะไรได้บ้าง
ราคา ฟ้าทะลายโจร พุ่งหลังโควิด-19
หากดูในตลาดออนไลน์ มีการขายฟ้าทะลายโจรผ่านแพลตฟอร์มจำนวนมากกกว่าหมื่นรายการ ดังนั้น การตัดสินใจซื้อไม่ได้ง่าย อาจจะดูจากรีวิว แต่ก็ไม่ได้ง่ายว่าจะตัดสินใจซื้อที่มีคุณภาพหรือน่าเชื่อถือ ขณะที่ ราคามีความแตกต่างกันตั้งแต่หลักร้อยต้นๆ ถึงหลักพันหรือขายพ่วงวิตามิน
มาดูที่ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง กำหนดกลางยาแผนไทย พ.ศ.2559 ได้กำหนดราคากลางยาฟ้าทะลายโจร หมวดกลุ่มที่ 2 ยาพัฒนาจากสมุนไพร (สูตรยาเดี่ยว) ชนิดแคปซูล 500 มิลิกรัม ราคาแคปซูลละ 0.94 บาท (ราคาไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่พบว่า ผู้บริโภคไม่สามารถซื้อได้ในราคานี้
เมื่อแพงมาก สิ่งที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ทำคือให้ประชานใช้สิทธิของตัวเอง ร่วมแจ้งเบาะแสเมื่อเจอราคาที่แพงกว่ากำหนด รวมถึงขอความร่วมมือตลาดออนไลน์ทั้งหลาย ขอให้เอาลงกรณีที่พบว่าราคาสูงผิดปกติ เพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภค แต่ก็ไม่ง่าย ถึงแม้บริษัทจะร่วมมือกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตอนนี้ตลาดออนไลน์ทุกเจ้าร่วมมือกับเราเอาลงแต่ก็แค่เปลี่ยนรหัสทำให้การตรวจสอบไม่เจอ จึงเหมือนการไล่ตามปัญหา กระทรวงพานิชย์เอง บอกว่าตอนนี้ยังไม่ควบคุม แต่หากเมื่อไหร่ทำให้มีความปั่นป่วนของราคา ประชาชนสามารถร้องเรียนได้
ต้องบอกว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำหนดให้ยาเป็นสินค้าควบคุม ห้ามขายเกินฉลากข้างกล่อง หากเขียนว่า 100 บาท แล้วขาย 150 บาท ถือว่าผิดกฎหมาย ถือว่าไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เพราะฉะนั้น มาตรการอย่างเดียวคือ กำกับราคาที่ข้างกล่องหรือฉลาก สิ่งที่สำคัญ คือ การติดตาม เชื่อว่าขณะนี้ ผู้บริโภคเจอเรื่องฟ้าทะลายโจรปลอม ทั้งนี้ หากเจอขายเกินราคา สามารถแจ้งที่สถานีตำรวจ หรือกรมการค้าภายใน กระทรวงพานิชย์ โดยตรง
ระวัง ฟ้าทะลายโจรปลอม สวมเลข อย.
นอกจากเรื่องราคา ตอนนี้มีฟ้าทะลายโจรปลอม ทำให้ประชาชนเองไม่มั่นใจในการใช้ฟ้าทะลายโจร เหมือนเราไล่ตามปัญหา เช่น บางยี่ห้อมีเลขทะเบียนที่ไม่ใช่ตำรับสมุนไพร เป็นการนำเลขทะเบียนอื่นมาแทน หรือ สวมเลข อย.ของผลิตภัณฑ์อื่น คือ ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร แต่เลขขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือขึ้นทะเบียนเป็นอาหารแต่เอาเลข อย.มาผลิตยา รวมถึงกรณีระบุชื่อผู้จำหน่าย แต่ไม่ระบุชื่อผู้ผลิต และสวมเลขสมุนไพรของเจ้าอื่น เมื่อเป็นแบบนี้ ความร่วมมือของ อย. กับตลาดออนไลน์ ต้องรีบเอาออกจากระบบทันที แต่ก็พบว่ายังมีขายอยู่
“เป็นเรื่องยากของผู้บริโภค คำแนะนำ คือ การเอาเลขทะเบียนไปตรวจก่อนหากไม่ตรงกับสิ่งที่ระบุ คำแนะนำคือไม่ควรสนับสนุน เพราะขึ้นทะเบียนอาหาร แต่กลับจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เป็นยา” สารี กล่าว
ยา ‘ฟ้าทะลายโจร’ ขายออนไลน์ได้หรือไม่
“ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ชัยสัมฤทธิ์โชค” คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยาฟ้าทะลายโจร เป็นยาสามัญประจำบ้าน และที่ทราบกันดีว่า ยาสามัญประจำบ้าน ขายที่ไหนก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นร้านขายยา เพราะฉะนั้น หากขึ้นทะเบียนยาสามัญประจำบ้าน สามารถขายที่ไหนก็ได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เองได้สะดวก ต้องเป็นยาไม่อันตราย และควบคุมพิเศษ และยาฟ้าทะลายโจรในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นยาสามัญประจำบ้าน และต้องมีระบุว่า ยาสามัญประจำบ้านชัดเจน
ปัญหาฉลากระบุไม่ชัดเจน
สำหรับฟ้าทะลายโจร ขณะนี้มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องเข้าระบบการดูแลตัวเองที่บ้าน Home Isolation ซึ่งจะมีกล่องยังชีพซึ่งมีฟ้าทะลายโจรให้ คำถามคือใช้อย่างไรให้ปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่ป้องกัน แต่ใช้รักษา เครื่องสำคัญของประชาชน คือ “ฉลาก” ซึ่งเป็นข้อเรียกร้อง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น แทบจะให้ข้อมูลไม่เพียงพอ ผู้ใช้ต้องค้นหาข้อมูลให้ได้ ขณะที่ “ผู้ขาย” เพิ่มความรับผิดชอบ ขณะที่ “ผู้รู้” เช่น อย. หรือนักวิชาการ ต้องเพิ่มบทบาทรับผิดชอบต่อการรับผิดชอบการให้ข้อมูลฟ้าทะลายโจร และอาจจะมีปัญหาวิกฤติยาฟาวิพิราเวียร์
ฉลากขาดข้อมูล มีข้อมูลลวง
ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี กล่าวต่อไปว่า หากใช้ฟ้าทะลายโจร ต้องรู้ปริมาณ แอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งต้องดูที่ข้างขวดฉลาก แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า ฟ้าทะลายโจรที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณ หรือปัจจุบัน เรียกว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพร ขึ้นทะเบียนเป็นการรักษาอาการหวัด อาการไข้ เมื่อขึ้นทะเบียนในลักษณะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องระบุปริมาณสาร แอนโดรกราโฟไลด์
เพราะฉะนั้น ที่ผ่านมาฉลาก จึง “ขาดข้อมูลแอนโดรกราโฟไลด์” ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ผิด ผู้ผลิตไม่ได้มีความผิดใดๆ ทางกฎหมาย แต่ก็ทำให้ขาดข้อมูลดังกล่าว หรือบางยี่ห้อบอกเป็นเปอร์เซ็นต์ซึ่งทำให้กะปริมาณลำบาก อีกกรณี คือ “ฉลากลวง” มีระบุไว้ แต่จงใจสร้างความเข้าใจผิด คำนึงถึงกำไร และ “ความไม่รู้” มีเจตนาที่จะช่วยเหลือผู้ป่วย แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอ หรือบางยี่ห้อระบุว่า ทานเพื่อป้องกันก็เชื่อไม่ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ใช้ 'ฟ้าทะลายโจร' ผิดวิธี ระวังผลข้างเคียง
ว.ภ.ส. แนะใช้ 'ฟ้าทะลายโจร' รักษาโควิด ไม่เน้นป้องกัน หวั่นส่งผลต่อตับ
เช็ค 6 ยี่ห้อ'ฟ้าทะลายโจร'ผิดกฎหมาย
สมัครผ่อนของ 0% 40 เดือนกับ Citi คลิกเลย
ก่อนซื้อ ก่อนใช้ ทำอย่างไร เมื่อไม่บอกในฉลาก
ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี แนะว่า อันดับแรก คือ “รู้โรค” มั่นใจว่าตัวเองเป็นผู้ป้วยในกลุ่มสีเขียว ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นข้อห้ามในการใช้ฟ้าทะลายโจร ได้แก่ ไม่มีอาการ ไข้หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศาขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ถ่ายเหลว ไม่มีอาการหายใจเร็ว ไม่มีอาการหายใจเหนื่อย ไม่มีอาการหายใจลำบาก ไม่มีปอดอักเสบ และไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง
ถัดมา “รู้ยา” ต้องรู้ว่าเป็นยาในกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีเลขทะเบียน G ขอให้ค้นหาเลขทะเบียนใน อย.เพื่อค้นว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ค้นเลขทะเบียนให้ได้ตัว G เพื่อให้รู้ว่าเป็นยาแผนโบราณที่ยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร และไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ขึ้นทะเบียนได้ ที่นี่
และ “รู้ปริมาณ” หากอยากจะรู้ปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ ปัจจุบันไม่พบในฉลาก สิ่งที่ทำได้ คือ เข้าไปที่กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร อย. ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนฟ้าทะลายโจรในแบบฉุกเฉิน แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อบังคับในการแสดงปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ ดังนั้น กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร อย. จึงขอความร่วมมือไปยังบริษัทหลายแห่ง ในการส่งข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ให้ ซึ่งอาจจะตรวจเฉพาะบางล็อต และมีการขึ้นข้อมูลปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ ในบางยี่ห้อในเว็บไซต์
ต้องย้ำว่า การระบุสารแอนโดรกราโฟไลด์ ไม่ได้มีข้อบังคับทางกฎหมาย เป็นขอความร่วมมือผู้ผลิต และวิเคราะห์ปริมาณบางล็อต อย่างที่ทราบว่าเป็นสมุนไพร ปริมาณสารเหล่านี้ไม่แน่นอน ขึ้นกับภูมิอากาศ แลหลายประการ แต่อย่างน้อยมีไกด์ไลน์ในผลิตภัณฑ์ยี่ห้อที่จะใช้เท่าไหร่ ตรวจสอบสารแอนโดรกราโฟไลด์ ที่นี่
ข้อเสนอต่อการจัดการฉลากฟ้าทะลายโจร
ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอในการจัดการฉลากฟ้าทะลายโจรในภาวะวิกฤติ ในส่วนของ “ฉลาก” ผู้บริโภคต้องปรับตัว การค้นเลขทะเบียนอย่างเดียวไม่พอ ต้องค้นหาปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ จากกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร อย. ขณะ “ผู้ขาย” ผู้ผลิต ต้องเพิ่มความรับผิดชอบ เป็นการลงทุนในการศึกษาและรู้ปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ แม้จะไม่ใช่ข้อบังคับทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ถือเป็นความรับผิดชอบที่จะหาปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ ขณะเดียวกัน “ผู้รู้” ผู้ผลิตอาจจะต้องขอความร่วมมือ สนับสนุน กับนักวิชาการ ซึ่งขณะนี้ มีคณะเภสัชศาสตร์หลายแห่ง ในการให้บริการตรวจสารแอนโดรกราโฟไลด์ รวมทั้งบางแห่งให้บริการฟรี เป็นความร่วมมือที่จำเป็นเพื่อให้ประเทศไปรอด
ฟ้าทะลายโจร ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตเสริมอาหาร ได้หรือไม่
รศ.ภญ.ดร.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิบายว่า ขึ้นอยู่ว่าจะระบุสรรพคุณว่าอะไร หากบอกว่ารักษาโรค ต้องขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณ
หากต้องการฟ้าทะลายโจรมาป้องกันได้หรือไม่
รศ.ภญ.ดร.มยุรี อธิบายว่า เรื่องป้องกันโควิด-19 จริงๆ ไม่มีงานวิจัยในผู้ป่วยว่ากินฟ้าทะลายโจรป้องกันได้ จึงไม่ได้แนะนำในการป้องกัน ไม่ว่าจะกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์ หรือ อภัยภูเบศร ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน เพราะเกิดปัญหา คนที่ใช้ป้องกันขนาดต่ำๆ หลายเดือน มีค่าตับเพิ่มขึ้น ทุกคนเลยประสานเสียงให้ประชาชนเข้าใจให้ตรงกัน
ปัจจุบัน เริ่มเห็นผลเสียจากการใช้เหล่านั้น จึงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าป้องกันไม่แนะนำ มีไว้เล็กน้อยได้เก็บไว้สำหรับคนที่ป่วยจริงๆ หากมีแล้วอยู่ที่บ้านอย่าเพิ่งใช้ เพราะหากติดจริงๆ จะหาซื้อไม่ได้ และหากซื้อก็อาจจะเจอของปลอม และตรวจสอบยากมาก ขนาดเภสัชกรเองยังตรวจสอบค่อนข้างลำบาก บางอันปลอมเหมือนมากเกือบทุกอย่าง เลขทะเบียนตรง ผู้ผลิตตรง การคำนวณขนาดก็ยากเพราะไม่มีการบอกปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งส่วนตัวหากไม่รู้จำนวน แอนโดรกราโฟไลด์ จะไปดูที่บัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งแนะนำให้ใช้บรรเทาอาการหวัด กรณีแบบผง จะใช้ขนาดสูงสุดสำหรับผู้ใหญ่ ครั้งละ 3 กรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน
ห้ามใช้ฟาวิพิราเวียร์ร่วมกับฟ้าทะลายโจร
ขณะที่กรมการแพทย์ ได้ออกแนวทางดูแลผู้ป่วยโควิด-19 วันที่ 4 ส.ค. 64 ว่าหากกลุ่มสีเขียวไม่มีความเสี่ยง ไม่มีอาการ หากจะใช้ฟ้าทะลายโจร ให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เพราะน่าจะกังวลเรื่องของอาการไม่พึงประสงค์ พิษต่อตับที่เริ่มเจอเยอะขึ้น รวมถึงบอกว่าหากใช้ฟาวิพิราเวียร์ ห้ามใช้ร่วมกับฟ้าทะลายโจร เนื่องจากปัจจุบันยังทำวิจัยกันอยู่ หากจะใช้ก็ควรจะใช้ในการวิจัย ประสิทธิภาพ ผลตอบรับ ยังไม่ออกมา ขณะที่ความเสี่ยงปรากฎให้เห็นแล้ว
“ตอนนี้ต้องชั่งน้ำหนักกับผลดี กับ ความเสี่ยง หากเสี่ยงมากก็ควรจะหยุด ซึ่งผู้บริโภคตัดสินใจเองอาจจะไม่ได้ สามารถปรึกษาแทพย์หรือเภสัชกร เพราะโควิดไม่ใช่หวัดทั่วไป เป็นเรื่องยากที่ประชาชนทั่วไปจะประเมินด้วยตัวเอง เป็นประสบการณ์ใหม่ ข้อบ่งใช้ใหม่ ต้องใช้ภายใต้ผู้ประกอบวิชาชีพ”
“ขณะเดียวกัน หากแพทย์ซักประวัติว่าใช้ฟ้าทะลายโจร หรือสมุนไพร จะต้องตรวจค่าการทำงานตับก่อน และเจอหลายเคสว่าตับมีปัญหา เริ่มให้ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ได้ เพราะยาฟาวิพิราเวียร์ มีผลต่อตับมากกว่าฟ้าทะลายโจร” รศ.ภญ.ดร.มยุรี กล่าว
รวมถึงควรระวังในการใช้ร่วมกับยาตัวอื่น ฟ้าทะลายโจร เริ่มมีข้อมูลเยอะขึ้น เจอคนที่ใช้ฟ้าทะลายโจร กับ พาราเซตามอน ที่ค่าตับเพิ่มขึ้น รวมถึงยากลุ่มลดไขมันบางตัว และยาความดันบางตัว
“ยาจากผงฟ้าทะลายโจร vs ยาจากสารสกัดฟ้าทะลายโจร”
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้อธิบาย สำหรับ รูปแบบของ "ฟ้าทะลายโจร" ในตลาดที่อาจทำให้เกิดการสับสน และนำไปใช้และเกิดผลข้างเคียงได้ เพราะใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม มีด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่
ยาจากผงฟ้าทะลายโจร
ซึ่งถูกนำมาตากแห้ง และบดเป็นผง
นำผงจากใบแห้งมาบรรจุแคปซูล
มีองค์ประกอบของสารหลายตัว รวมถึงไฟเบอร์จากใบ และสาระสำคัญที่ออกฤทธิ์อย่างแอนโดรกราโฟไลด์ แต่ไม่เข้มข้น
แอนโดรกราโฟไลด์ อยู่ในมาตรฐานที่อย. กำหนด คือ ไม่ต่ำกว่า 1%
หากข้างขวดระบุว่า แคปซูลมีฟ้าทะลายโจร 400 มก. แปลว่า มีแอนโดรกราโฟไลด์ 4 มก.
การใช้รักษาหวัด จะต้องใช้ยาที่มีแอนโดรกราโฟไลด์ 60 มก.ต่อวัน
ดังนั้น ในรูปแบบแคปซูล ขนาด 350 -400 มก.ต่อแคปซูล ต้องรับประทานครั้งละ 4 แคปซูลหรือเม็ด วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน
จะได้ปริมาณยาประมาณ 6,000 มก. หรือเท่ากับแอนโดรกราโฟไลด์ 60 มก. และกินไม่เกิน 3-5 วัน
ยาจากสารสกัดฟ้าทะลายโจร
ในกรณีนี้ไม่มีใบติดมา เป็นสารสกัดล้วนๆ
ออกมาเป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ แอนโดรกราโฟไลด์
หากข้างกระป๋องเขียนว่า รูปแบบแคปซูลหรือยาเม็ด ขนาด 9-10 มก.ต่อแคปซูลหรือเม็ด แสดงว่ามีแอนโดรกราโฟไลด์ 10 มก.
หากต้องการกินวันละ 60 มก. กินครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง
อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ชนิด มีข้อพึงระวังว่าไม่ควรกินนานกว่า 3-5 วัน
‘ฟ้าทะลายโจร’ ปลูกกินเองได้
สำหรับในช่วงที่ ฟ้าทะลายโจร กำลังขาดตลาดและมีการขายที่ไม่ได้มาตรฐานในหลายแหล่ง การปลูกเองในบ้าน ถือเป็นอีกหนึ่งหนทางในช่วงวิกฤตินี้ “ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว” หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์ไทย และสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร แนะว่า ในช่วงที่มีการขาดแคลนยาฟ้าทะลายโจรแบบแคปซูลนี้ ประชาชนหรือชุมชนสามารถแก้ไขได้ด้วยการปลูกฟ้าทะลายโจรเอง ปลูกง่ายไม่ยาก เพียงเวลา 2-3 เดือน ก็สามารถเก็บใบฟ้าทะลายโจรมาต้มรับประทานได้
วิธีการ คือ ใช้ดอกและใบ โดยสัดส่วนของฟ้าทะลายโจร ใช้เพียงมื้อละ 10 ใบ รับประทานแบบทานยา 4 มื้อ ในการดื่มควรนำใบมาเคี้ยวด้วย เพื่อให้รับสารสำคัญอย่างครบถ้วน ไม่จำเป็นต้องรอการใช้ยาในรูปแบบของแคปซูลเท่านั้น เพื่อให้ได้สารแอนโดรกราโฟไลด์เพียงอย่างเดียว รสชาติที่ขมของใบฟ้าทะลายโจร มีส่วนช่วยทั้งลดไข้ แก้ไอ แต่ไม่แนะนำให้รับประทานร่วมกับกระชาย หรือน้ำขิง เพราะสมุนไพร 2 ชนิดนี้มีฤทธิ์ร้อน หากทานร่วมกันทั้งหมด อาจทำให้การรักษาไม่ได้ประสิทธิผลเท่าที่ควร
ผลการศึกษา ฟ้าทะลายโจร ในเรือนจำ
ที่ผ่านมา นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี ซึ่งได้ร่วมทำงานควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในเรือนจำ ซึ่งได้ทำการติดตามกลุ่มตัวอย่าง 120 คน แบ่งเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 30 คน ดังนี้ 1.ใช้ฟ้าทะลายโจรแบบบดผง (ขนาด 400 มิลลิกรัม/แคปซูล) รับประทานครั้งละ 4 แคปซูล หลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น 2.ใช้กระชายขาวแบบสารสกัด (ขนาด 100 มิลลิกรัม/แคปซูล)รับประทานครั้งละ 3 แคปซูล เฉพาะหลังอาหารเช้าเพียงมื้อเดียว
3.ใช้ทั้งฟ้าทะลายโจร (ขนาด 400 มิลลิกรัม/แคปซูล)รับประทานครั้งละ 4 แคปซูล หลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็นและกระชายขาว (ขนาด 100 มิลลิกรัม/แคปซูล)รับประทานครั้งละ 3 แคปซูล เฉพาะหลังอาหารเช้าเพียงมื้อเดียว และ 4.ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (ขนาด 200 มิลลิกรัม/เม็ด) รับประทานวันแรกครั้งละ 9 เม็ด หลังอาหารเช้าและเย็น จากนั้นวันที่ 2 เป็นต้นไป รับประทานครั้งละ 4 เม็ด หลังอาหารเช้าและเย็น
โดยติดตามผลทุกกลุ่มเป็นเวลา 5 วัน นับจากเริ่มได้รับยา ซึ่งกลุ่มตัวอย่างทุกกลุ่มจะมีการตรวจคัดกรองด้วยวิธี swab ทุกๆ 2 วัน จนครบ 14 วัน พบผลที่น่าทึ่ง กล่าวคือ ทั้งฟ้าทะลายโจรกระชายขาว และใช้ทั้ง 2 ชนิดพร้อมกัน การตรวจครั้งแรกแล้วไม่พบเชื้อคือวันที่ 8 หลังได้รับยา ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ จะตรวจครั้งแรกแล้วไม่พบเชื้อ คือวันที่ 12 หลังได้รับยา