ธปท.เผย พ.ร.ก.ยกเว้นภาษีตีโอนทรัพย์ หนุนลูกหนี้เข้า
มาตรการพักทรัพย์-พักหนี้เพิ่มขึ้น คาดยอดทะลุหมื่นล้านบาท หลังสินเชื่อฟื้นฟูผลตอบรับดี แบงก์รัฐ "ออมสิน-เอ็กซิมแบงก์" รับลูก
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการสอบถามไปยังสถาบันการเงิน พบว่ามีลูกหนี้ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ และได้รับการอนุมัติภายในสถาบันการเงินแต่ละแห่งแล้วจำนวนรวมกว่า 10 ราย มูลค่าสินเชื่อเบื้องต้นหลักหลายหมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่นโรงแรม อาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล สปา โรงงานแปรรูป เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะทยอยตีโอนสินทรัพย์ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป
แม้ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ออกมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ จะมีลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ หรือได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการแล้วเพียง 2 ราย มูลค่าสินเชื่อรวมประมาณ 1 พันล้านบาท จากวงเงินรวม 1 แสนล้านบาท เนื่องจากเจ้าหนี้และลูกหนี้ขาดความรู้ความเข้าใจต่อมาตรการ เนื่องจากเป็นมาตรการรูปแบบใหม่
รวมถึงมีภาระค่าตีโอนอสังหาริมทรัพย์ 2% ที่เก็บโดยกระทรวงมหาดไทย อย่างไรก็ดีล่าสุด พ.ร.ก.ยกเว้นภาษีตีโอนได้ลงนามในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้ภาระค่าใช้จ่ายของลูกหนี้ลดลงได้ และปัจจุบันกรมสรรพากรอยู่ระหว่างกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้
สินเชื่อฟื้นฟู 2.3 หมื่นราย
ขณะที่มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่าได้รับการตอบรับที่ดี โดยสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้แล้วกว่า 2.3 หมื่นราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 7.1 หมื่นล้านบาท จากวงเงินรวม 2.5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ วงเงินเฉลี่ยที่ปล่อยให้แก่ลูกหนี้ที่ 3.1 ล้านบาทต่อราย สะท้อนว่าผู้ประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือเป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกผลกระทบจากโควิด-19
ทั้งนี้ กว่า 44.5% ของลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก (Micro SMEs) ที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด 67.6% เป็นกลุ่มพาณิชย์และบริการ และกว่า 68.5% ของลูกค้าที่ขอสินเชื่อฟื้นฟูเป็นผู้ประกอบการในต่างจังหวัด
ออมสินพร้อมร่วมพักทรัพย์พักหนี้
นางเจนจิต เสวกวัฒนโนภาส ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานบริหารหนี้ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินได้เข้าร่วมโครงการพักทรัพย์พักหนี้ของ ธปท.โดยทรัพย์ที่จะตีโอนให้กับธนาคารนั้น ต้องมีราคาประเมินไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่ขอร่วมโครงการ กำหนดราคาไม่เกิน 70% ของราคาประเมิน กรณีมีหลักประกันหลายชิ้น ให้ผู้ประกอบการเลือกที่มีมูลค่าใกล้เคียงกับมูลค่าหนี้มาตีโอนได้ ถ้าหลักประกันมีมูลค่าเพียงพอ ถือว่า เป็นการชำระหนี้เสร็จสิ้น กรณีหลักประกันกันไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ทั้งหมด ภาระหนี้ที่เหลือสามารถทยอยผ่อนตามความสามารถในการชำระหนี้ได้
ทั้งนี้ ในระหว่างพักหนี้นั้น ธนาคารก็มีมาตรการช่วยเหลือทั้งในกลุ่มมีรายได้และไม่มีรายได้ หรือรายได้ลดลง โดยกลุ่มไม่มีรายได้ จะพักหนี้ให้เป็นเวลา 6 เดือน กลุ่มมีรายได้ลดลง จะพักเงินต้นและดอกเบี้ย หรือชำระบางส่วนตามความสามารถชำระหนี้ ซึ่งดอกเบี้ยที่เหลือให้ทยอยชำระตามความสามารถผู้ประกอบการ โดยนำไปชำระในงวดสุดท้ายหรือทยอยชำระ ขึ้นอยู่กับธุรกิจนั้น ดังนั้น เรามองความช่วยเหลือเราได้แบ่งเบาภาระของลูกหนี้
นายวิทวัส ปัญหาแหลม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า ไฮไลท์ของขั้นตอนการขอสินเชื่อฟื้นฟู คือ ถ้าเป็นลูกค้าเดิมกับสถาบันการเงินใดก็ได้ ให้ติดต่อสถาบันการเงินเดิม ถ้าลูกค้าใหม่ไม่เคยมีวงเงินกับสถาบันการเงินให้ติดต่อสถาบันการเงินใดก็ได้ โดยจัดเตรียมเอกสารประกอบการพิจารณาสินเชื่อ อาทิ งบการเงินย้อนหลัง 3 ปี รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลฉบับล่าสุด ทะเบียนผู้ถือหุ้น เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อยื่นขอสินเชื่อต่อสถาบันการเงิน ให้หาแนวทางแก้ไขธุรกิจในระยะถัดไปเพื่อยื่นต่อแบงก์ด้วย
นอกจากนี้ วงเงินสินเชื่อฟื้นฟูนี้ได้ออกมาเพื่อซัพพอร์ตลูกหนี้ เพราะมีการเรียกหนี้คืนที่ช้ามาก ฉะนั้น ถ้าหากนำสินเชื่อไปประกอบธุรกิจก็ไม่ต้องรีบจ่ายคืน ต้นทุนก็ถูก โดยภาพรวมดอกเบี้ย 5 ปี ไม่เกิน 5% และไม่มีปัญหาเรื่องหาหลักประกัน เนื่องจากมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยดูแล ซึ่งมีค่าธรรมเนียมเล็กน้อย ฉะนั้น เป็นตัวที่น่าสนใจ และอยากให้ใช้มาตรการนี้ ทั้งนี้ แม้ว่า มาตรการนี้จะมีระยะเวลาถึงเดือน เม.ย.2566 ก็ตามแต่อย่าลืมว่า วงเงินที่ให้นั้น มีเพียง 2.5 แสนล้านบาทเท่านั้น ฉะนั้น ก็ต้องรีบยื่นขอสินเชื่อ