การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 เป็นปฎิกิริยาเร่งการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในหลายมิติ รวมทั้งด้านการอยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญด้านสุขอนามัย และนำเทคโนโลยีมาใช้ตอบโจทย์ความสะดวกและวิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) มากขึ้น โดย "ลุมพินี วิสดอม” บริษัทด้านวิจัยและพัฒนาในเครือบริษัท แอล.พี. เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า “
บ้านอัจริยะ"หรือSmart Residence ขยายตัวสูงมากกว่า 40% ต่อปีทีเดียว
ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน)บริษัทด้านวิจัยและพัฒนาในเครือบริษัท แอล.พี. เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มการพัฒนาที่อยู่อาศัยยุคหลังโควิด มีการออกแบบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของประชาชนภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) ซึ่งกลายเป็นวิถีชีวิตในปัจจุบัน (Now Normal)
การวิจัยของทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ “ลุมพินี วิสดอม” พบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย ประกอบด้วยพื้นที่ใช้สอยและวัสดุ (Function & Material) สุขอนามัย (Health) เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย (Smart Living Technology) โดยนำนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยโดยใช้เทคโนโลยี Internet of Thinks (IoTs) และอุปกรณ์อัจฉริยะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญทำให้การอยู่อาศัยสะดวก ปลอดภัย มากขึ้น
"พฤติกรรมผู้ซื้อที่อยู่อาศัยทั่วโลกให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัยเข้ามาใช้ในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยในรูปแบบของบ้านอัจฉริยะ หรือ Smart Residence มากขึ้น รวมทั้งผู้ซื้อในไทย เริ่มให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่มีเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้การอยู่อาศัย สะดวก สบาย ปลอดภัย"
โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิด การใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปจากบ้านเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อการพักผ่อนและทำกิจกรรมส่วนตัว ปัจจุบันบ้านเป็นทั้งที่ทำงานและสถานที่พักผ่อนไปพร้อมกัน เมื่อผู้คนต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) มากขึ้น ทำให้การออกแบบพื้นที่อยู่อาศัยต้องมีพื้นที่ที่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนการใช้สอยได้แบบ “Multifunctional Space”
ยกตัวอย่าง การแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านด้วยผนังทึบอาจต้องปรับเป็นผนังที่เปิดเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ภายในที่อยู่อาศัย ทำให้ดูโปร่ง มีการไหลเวียนอากาศที่ดี เลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม เช่น พื้นที่ครัวโดยเฉพาะครัวไทย ต้องใช้วัสดุที่เช็ดทำความสะอาดได้ง่าย ระบายอากาศได้ดี หรือพื้นที่อ่านหนังสือ-พื้นที่นั่งเล่นที่ต้องการปริมาณแสงธรรมชาติมากกว่าห้องนอน
จากการประเมินของ IDC สถาบันวิจัยด้านการตลาดของสหรัฐ ระบุว่า จำนวนอุปกรณ์ “Smart Residence” ของโลก เติบโตเฉลี่ย 31% ต่อปี จาก 644 ล้านเครื่อง ในปี 2561 เป็น 1,300ล้าน เครื่องในปี 2565 หรือเพิ่มมากกว่า “เท่าตัว” ภายใน 3 ปี ขณะที่ A.T. Kearney ระบุว่า มูลค่าตลาด Smart Residence ทั่วโลก อยู่ที่ 2.63 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 8.4 ล้านล้านบาทในปี 2568 ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับ 2 หมวดหลัก คือ อุปกรณ์ที่เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต และอุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัย
ด้าน “เมสเซ่ แฟรงก์เฟิร์ตนิว เอร่า บิซิเนส มีเดีย” ศึกษาการเติบโตของตลาด Smart Residence ในประเทศไทย พบว่า โปรดักท์ “Smart Home” ในไทยปี 2559 มีมูลค่า 645 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในปี 2563 มีมูลค่า 2,500 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ย 40% ต่อปี! แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ Smart Residence เพื่อการดูแลผู้สูงอายุ เติบโตสูงสุด 60% และ Smart Home เพื่อการรักษาความปลอดภัยเติบโตอันดับ 2 อยู่ที่ 45% ต่อปี
ประพันธ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ยังมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ทำให้ผู้คนหันมาดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ดังนั้นนวัตกรรมด้านสุขอนามัย เช่น ระบบช่วยลดไวรัสและแบคทีเรียภายในอากาศ นวัตกรรมด้านวัสดุ เช่น สีทาบ้าน Low VOCs รวมถึงพื้นที่สีเขียวภายในบ้านถูกนำมาใช้มากขึ้น พร้อม เทคโนโลยี “Home Automation” เชื่อมต่อเข้ากับระบบสั่งการต่างๆ ทั้งทางเสียง หรือแอพพลิเคชั่น เพื่อควบคุมการทำงานของระบบเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เปิด-ปิดไฟ โทรทัศน์ เครื่องเสียง ปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ การเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตกับอุปกรณ์สั่งการด้วยเสียง นวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาความร้อนภายในที่อยู่อาศัย เช่น ระบบ Fresh Air Intake การนำระบบรักษาความปลอดภัย กล้องวงจรปิด ระบบเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว ควบคุมผ่านแอพพลิเคชั่น เมื่อเกิดเหตุก็จะส่งสัญญาณเตือนมาที่โทรศัพท์ของผู้ใช้งาน
“Smart Residence" กำลังถูกพัฒนาไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยี 5G และมีความเสถียรของระดับราคาที่จับต้องได้ (Affordable Price) มากขึ้น ตอบรับผู้บริโภคยุค Smart Life