ลิสซิ่ง “จำนำทะเบียน” แข่งดุ ปชช. แห่ซบ! “สินเชื่อรถแลกเงิน” 

ลิสซิ่ง “จำนำทะเบียน” แข่งดุ ปชช. แห่ซบ! “สินเชื่อรถแลกเงิน” 

  • 0 ตอบ
  • 62 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

PostDD

  • *****
  • 1581
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หรือ รถแลกเงิน ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะง่ายสะดวกรวดเร็วถูกกฎหมายเชื่อถือได้เพียงใช้รถเป็นหลักประกันเงินกู้ รับเงินก้อนเสริมสภาพคล่องทันที ขณะที่ทิศทางตลาดสินเชื่อรถแลกเงินยังเติบโตต่อเนื่อง “แบงก์-นอนแบงก์” ลงสนานแข่งขันดุเดือด

ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยระหว่างเดือนมกราคม - เมษายน 2564 สินเชื่อจำนำทะเบียนรถภาพรวมเติบโตที่ 2.3% โดยนอนแบงก์(Non-Bank) เติบโตค่อนข้างสูงที่ 5.5% เรียกว่าเป็นผู้นำตลาด สวนทางกับธนาคารพาณิชย์ที่หดตัว -9.4% ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อแบงก์

เดือนกรกฎาคม 2564 สินเชื่อรถแลกเงินคงค้างของนอนแบงก์ (รวมบริษัทลูกแบงก์) เติบโตขึ้นมาต่อเนื่องขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.35 แสนล้านบาท จากเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ระดับ 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อรถแลกเงินของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ในเดือนกรกฎาคม 2564 คงค้างอยู่ที่ระดับ 3.1 หมื่นล้านบาท

เติบโตขึ้นจากภาพรวมตลาดจำนำทะเบียนปี 2563 ซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จำนวนผู้เล่นในตลาดมีเพิ่มขึ้น การขอใบอนุญาต (ไลเซนส์) ประกอบธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมีจำนวนมากขึ้น ประมาณการณ์กันว่าตลาดจำนำทะเบียนรถมีมูลค่าราว 4 แสนล้านบาท สูงกว่าที่ทางการประเมินว่ามีมูลค่า 2 แสนล้านบาทถึง 1 เท่าตัว

ขณะที่รายงานการวิจัยทางการตลาดที่จัดทำโดยโอลิเวอร์ ไวแมน เปิดเผยว่าตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันในประเทศไทยมีขนาดใหญ่โดยมีมูลค่ารวมของยอดสินเชื่อคงค้างในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 2.9 ถึง 3.0 แสนล้านบาท โดยมีการเติบโตที่รวดเร็วกว่าตลาดสินเชื่อผู้บริโภคโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการให้บริการแก่กลุ่มบุคคลที่มีรายได้ไม่แน่นอนและยังได้ลูกค้ามาจากตลาดสินเชื่อนอกระบบอีกด้วย

โดยการแข่งขันและการกระจุกตัว (Consolidated Market) ในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแนวโน้มในปี 2564 ตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันโดยรวมจะยังมีศักยภาพในการเติบโตในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าประมาณการณ์ตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันนั้นจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 12– 16% จากปี 2562 ถึงปี 2567

ปัจจุบันการแข่งขันของผู้ประกอบการในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยต่างมุ่งไปที่ตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เพราะผลิตภัณฑ์สินเชื่อจำนำทะเบียนรถสามารถตอบโจทย์ความเสี่ยงและการสร้างรายได้ให้ผู้ให้บริการสินเชื่อได้มาก

 นอนแบงก์แข่งดุ
ต้นปีที่ผ่านมา  ธนาคารออมสิน จับมือ  บมจ. ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD)  เปิดตัว  บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด เขย่าวงการลิสชิ่งสร้างความฮือฮาตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยร่วมมือกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) เนื่องจากหากทำในโครงสร้างของธนาคารต้องมีการตรวจเครดิตบูโร ทั้งนี้ เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ

ทั้งนี้ ออมสิน ตั้งเป้ากดดอกเบี้ยในตลาดให้ต่ำลง ลดภาระด้านการเงินและหนี้สินของประชาชน มีเป้าหมายที่จะผลักดันภารกิจธนาคารเพื่อสังคม หรือ Social Bank เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่าย ด้วยต้นทุนที่เป็นธรรมหรือถูกลง ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากการแบกรับค่าใช้จ่ายดำรงชีพ

 นายวิทัย รัตนากร  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด รับจำนำทะเบียนรถทั้งที่เป็นสินเชื่อใหม่และรีไฟแนนซ์ สร้างแรงกระเพื่อมในตลาดทำให้คู่แข่งขันของธุรกิจ Non-Bank ทยอยลดอัตราดอกเบี้ยลง จากปกติที่ส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถอยู่ที่ระดับ 24% – 28% ต่อปี โดยท้ายที่สุดสามารถลดโครงสร้างดอกเบี้ยทั้งระบบ และยังทำกำไรทางธุรกิจเชิงพาณิชย์

“การเข้าสู่ธุรกิจของบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ที่เปิดตัวด้วยอัตราดอกเบี้ยเพียง 14.99% ต่อปี ทั้งที่เป็นสินเชื่อใหม่และรีไฟแนนซ์ เชื่อมั่นว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมในตลาดทำให้คู่แข่งขันของธุรกิจ Non-Bank ทยอยลดอัตราดอกเบี้ยลง จากปกติที่ส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถอยู่ที่ระดับ 24% - 28% ต่อปีโดยท้ายที่สุดสามารถลดโครงสร้างดอกเบี้ยทั้งระบบ เกิดผลลัพธ์เชิงบวกที่เป็นรูปธรรม”

ปัจจุบันผลการดำเนินงานของบริษัทเงินสดทันใจ ในการทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ สามารถปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยได้มากกว่าเดือนละ 1,000 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปี 2564 จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 15,000 ล้านบาท

ภาพรวมธุรกิจจำนำทะเบียนมีอัตราการเติบโต สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ สินเชื่อมีอัตราการเติบโต และมีความต้องการต่อเนื่อง  นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าโดยเฉพาะในภาคอีสานเห็นสัญญาณความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีอัตราการเติบโตเร็วกว่าภูมิภาคอื่น โดยส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้แรงงานหรือภาคธุรกิจย้ายถิ่นฐานกลับบ้านในภาคอีสานจำนวนมากกว่าล้านคน ทำให้ความต้องการสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มสูงขึ้น

เงินติดล้อดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเพื่อสร้างโอกาสทางการเงินที่เป็นธรรมและโปร่งใส กลยุทธ์ทางธุรกิจทำให้เงินติดล้อก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการภายใต้การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital transformation) มากขึ้น รวมทั้งการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่น เช่น สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ 10 นาที สินเชื่อรถเก๋งกระบะ อนุมัติไวภายใน 1 ชั่วโมง

 นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ  ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) กล่าวว่า ประเมินว่าความต้องการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในช่วงไตรมาส 3 จะขยายตัวต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 4 เนื่องจากเป็นช่วงเปิดเทอมและฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร ซึ่งปกติแล้วในครึ่งปีหลัง การเติบโตของสินเชื่อจะมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 60% ของยอดการปล่อยสินเชื่อทั้งปี ทั้งนี้ ประเมินสินเชื่อจำนำทะเบียนรถทั้งระบบปีนี้จะขยายตัวที่ 15% จากยอดสินเชื่อคงค้างสิ้นปี 2563 อยู่ที่ราว 3 แสนล้านบาท

สอดคล้องกับ น.ส.เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการธุรกิจสินเชื่อเคทีซี พี่เบิ้ม บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เผยช่วงครึ่งปีหลังตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยังไปได้ เพราะยังมีความต้องการสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจและความต้องการเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงธนาคารพาณิชย์เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เพราะกังวลแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จึงทำให้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) มีโอกาสขยายตัวสินเชื่อนี้ได้มากขึ้น

โดย KTC คาดปิดยอดสินเชื่อได้ 1,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายทุกอาชีพที่มีหลักประกันทะเบียนรถมอเตอร์ไซด์ที่รับโอนกรรมสิทธิแล้ว 1 เดือน ถ้าเป็นรถยนต์ต้องโอนกรรมสิทธิ์มาแล้ว 6 เดือน คิดดอกเบี้ยในอัตรา 21% ต่อปี เฉลี่ย 0.98% ต่อเดือน เน้นจุดขายให้วงเงินใหญ่ ได้รับวงเงินภายใน 2 ชั่วโมง

 แบงก์ท้าชิงตลาดรถแลกเงิน
“ทุกธนาคารหันมาเล่นโปรดักต์นี้ เพราะตลาดรถใหม่ก็ดรอปลง แต่ตลาดรถแลกเงินยังมีความต้องการ ลูกค้าก็ได้ดอกเบี้ยสมเหตุสมผล”  นายป้อมเพชร รสานนท์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (TTB) เปิดเผยความนิยมของสินเชื่อรถแลกเงินโดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนต้องการสภาพคล่องมากขึ้น

ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถแลกเงินตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการวงเงิน และสถาบันการเงินที่ต้องการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงน้อยลงเมื่อเทียบกับสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะมีรถเป็นหลักประกัน ทำให้ตลาดรถแลกเงินยังคงมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยประมาณการขยายตัวทั้งระบบปีนี้ไม่ต่ำกว่า 5-10% ทั้งนี้ ช่วง 6 - 7 เดือนแรกของปี 2564 TTB พบสัญญาณความต้องการสินเชื่อรถแลกเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกค้าต้องการสภาพคล่อง

ทางด้าน  นางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ครึ่งแรกของปี 2564 ระบุว่าความต้องการสินเชื่อเพื่อคนมีรถ (คาร์ ฟอร์ แคช) ปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังคงเติบโตได้ดี โดยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ยอดสินเชื่อใหม่มูลค่า 15,075 ล้านบาท หรือเติบโต 11% จากปีก่อน และรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดสินเชื่อเพื่อคนมีรถต่อไปได้ จากเป้าทั้งปีอยู่ที่ 30,506 ล้านบาท หรือเติบโต 25% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อน ได้แก่ การขยายผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ทั้งรถยนต์ บิ๊กไบก์ และรถจักรยานยนต์ รวมถึงการมีโปรดักต์ที่ตอบความต้องการตรงจุด

เช่นเดียวกับ  นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์  ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาการตลาดและบริหารความสัมพันธ์สินเชื่อยานยนต์ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่าเห็นสัญญาณการขอวงเงินสินเชื่อรถกู้เงินด่วนทยอยเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยราว 600 ล้านบาทต่อเดือน มองว่าผลิตภัณฑ์ยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก เพราะเป็นตลาดที่มีมูลสูงกว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้ธนาคารและผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) เข้ามาเล่นตลาดนี้มากขึ้น โดยเฉพาะน็อนแบงก์มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง

 อย่างไรก็ตาม สมาคมการค้าและผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (VTLA) ประเมินการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อรถแลกเงินปี 2564 ไว้ที่ 17-18% ยอดสินเชื่อสุทธิประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะมียอดคงค้างสิ้นปีที่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ข้อสำคัญแม้ตลาดยังมีโอกาสเติบโตแต่ต้องระมัดระวังในการอนุมัติเช่นกัน 

 หนี้ครัวเรือนพุ่งอันดับ 17 โลก 
ทั้งนี้ การที่สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หรือ รถแลกเงิน ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ นั้น สะท้อนสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ “เปราะบาง” และน่าเป็นห่วง โดยมีความสัมพันธ์กับสภาวะ “หนี้ครัวเรือน” ที่เปราะบางไม่แพ้กันด้วยมีส่วนส่วนหนี้เพื่อการบริภาคที่สูงขึ้น

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) รายงานว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 หนี้ครัวเรือนของไทยมีการปรับตัวสูงมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 80% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2562 เป็น 90.5% ของจีดีพี ณ ไตรมาส 1/2564 และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศระลอก 3 ที่ลุกลามยืดเยื้อมาจนถึงครึ่งหลังของปี 2564 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดการณ์ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93.0% ณ สิ้นปี 2564

โดยปริมาณหนี้ครัวเรือนของไทยต่อจีดีพี ที่เร่งขึ้นเร็วในช่วงวิกฤตนี้เกิดจาก 1.ความจำเป็นในการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากขาดหรือมีสภาพคล่องในครัวเรือนไม่เพียงพอกับรายจ่าย หลังจากที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติในช่วงล็อกดาวน์ การถูกปรับลดเงินเดือนบางส่วนลง รวมถึงการถูกเลิกจ้าง 2.รายได้ที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับหนี้ที่เพิ่มขึ้นเร็ว สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนไทย ณ ต้นปี 2564 ที่ขยายตัว 4.6% จากระยะเดียวกันกับปี 2563 ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซา

ทั้งนี้ สังเกตได้ว่า ในหลายประเทศก็ประสบปัญหาการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ครัวเรือนเช่นเดียวกัน โดยเกาหลีใต้มีหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 93.9% ของจีดีพี เป็น 103.8% ณ ต้นปี 2564 และมาเลเซียที่เพิ่มจาก 82.7% เป็น 93.2% ในปัจจุบัน โดยไทยมีปริมาณหนี้ครัวเรือนอยู่อันดับที่ 17 ของโลก ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน คือ เกาหลีใต้และมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับที่ 9 และ 14 ตามลำดับ แต่สูงกว่าหนี้ครัวเรือนของสิงคโปร์ซึ่งอยู่อันดับที่ 26 ของโลก จึงเห็นได้ว่านอกจากหนี้ครัวเรือนของไทยและประเทศเพื่อนบ้านจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังถือว่ามีปริมาณภาระหนี้สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย ดังนั้น การบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ที่น่าสนใจคือประเภทของหนี้ครัวเรือนไทยประกอบไปด้วย สัดส่วนหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 47% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด อาทิ หนี้บ้านและรถยนต์ และสัดส่วนหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 35% อาทิ หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป รวมถึงหนี้เพื่อการศึกษา และส่วนที่เหลืออีก 18% เป็นหนี้รายย่อยเพื่อธุรกิจครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงในระดับโลกใกล้เคียงกันกับไทยเพื่อให้เห็นภาพรวม โดยคำนวณเฉพาะหนี้บ้านต่อหนี้ครัวเรือนทั้งหมด (ไม่รวมหนี้ยานพาหนะ เพราะมีข้อจำกัดของการเข้าถึงข้อมูลสินเชื่อรถยนต์ในบางประเทศ) พบว่าในต่างประเทศครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นประเภทหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในระดับสูงกว่าไทย อาทิ เกาหลีมีสัดส่วนหนี้บ้านสูงถึง 56% ขณะที่สิงคโปร์และฝรั่งเศส นอกจากจะมีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีต่ำกว่าไทยแล้ว ยังไม่มีสัดส่วนหนี้อสังหาฯ สูงกว่าด้วย ยกเว้นมาเลเซียที่มีสัดส่วนหนี้บ้านใกล้เคียงกับไทย สะท้อนให้เห็นว่า หนี้ครัวเรือนของไทยมีความเสี่ยงต่อความเปราะบางทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศอื่นที่มีอันดับหนี้ในระดับต้นๆ ของโลกใกล้เคียงกัน

ในส่วนของคุณภาพหนี้ครัวเรือนนั้น เป็นผลโดยตรงมาจากสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ที่รุนแรงและลากยาวนับแต่ปลายปี 2563 ส่งผลซ้ำเติมปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่แล้วในระดับสูง โดยเมื่อดูข้อมูลหนี้รายย่อยที่ได้ขอเข้าโครงการรับการช่วยเหลือ (รวม SFI) ณ เดือนมิถุนายน 2564 พบว่ามีปริมาณสูงถึง 11% ของจีดีพี ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับเครื่องชี้วัดสำคัญ คือ หนี้ stage 3 หรือเอ็นพีเอล ที่มีอยู่ไม่ถึง 1% ของจีดีพี และหนี้ใน Stage 2 หรือสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต ที่มีอยู่เพียง 2.2% ของจีดีพี สะท้อนให้เห็นว่า คุณภาพหนี้ครัวเรือนของไทยในความเป็นจริงแย่ลงมากกว่าที่สามารถสะท้อนได้จากเครื่องชี้วัดหลักดังเช่น เอ็นพีเอล

เมื่อพิจารณาเป็นประเภทหนี้ที่มาขอรับความช่วยเหลือล่าสุด สำหรับลูกหนี้ของกิจการธนาคารพาณิชย์ กิจการไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-bank) และธนาคารเฉพาะกิจ (SFI) ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 พบว่า อันดับแรกเป็นหนี้ที่อยู่อาศัยเป็นหลัก (ยอดขอความช่วยเหลือรวมอยู่สูงถึง 4.5% ของจีดีพี เทียบกับยอดเอ็นพีเอลที่ 0.6% ของจีดีพี)

รองลงมาเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล (ยอดขอความช่วยเหลือรวม 5.3% เทียบกับยอดเอ็นพีเอล 0.2%) และอันดับสามเป็นหนี้รถยนต์ (มูลค่าขอความช่วยเหลือ 1.1% เทียบกับยอดเอ็นพีเอลที่ 0.1%) โดยกลุ่มลูกหนี้ที่มาขอความช่วยเหลือมักเป็นลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนความสามารถในการชำระหนี้ลดลง

 และแน่นอนว่า หากไม่ได้รับการช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน (Pre-emptive) อย่างทันท่วงที จะส่งผลให้เกิดหนี้เสียเป็นวงกว้างและกระทบต่อเสถียรภาพการเงินและระบบสถาบันการเงินโดยรวมของไทยได้ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นหนี้ประเภทไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured loan) และมีสัดส่วนค่อนข้างใหญ่ในโครงสร้างสินเชื่อครัวเรือนของไทย