น.ส.อรนุช วรรณภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกว่างโจว เปิดเผยว่า ขณะนี้วิถีการใช้ชีวิตที่เร่งรีบในสังคมการทำงานของชาวจีนในปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหาใน
การรับประทานอาหารมื้อเช้าของคนจีนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะชาวจีนวัย Gen Z ที่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ และห่างไกลจากครอบครัว ซึ่งทำให้พ่อแม่เป็นห่วง และมักจะกำชับให้ลูกรับประทานอาหารเช้า แต่เนื่องจากช่วงเช้าที่ต้องเร่งรีบเข้างาน และภารกิจงานที่หลากหลายจึงทำให้เวลาในการรับประทานอาหารเช้ามีไม่มาก ดังนั้น คนวัยหนุ่มสาวในจีนจึงนิยมเลือกซื้ออาหารเช้าที่รับประทานง่ายและสะดวก ทำให้แบรนด์อาหารเช้าจานด่วน (อาหารเช้าที่รับประทานง่าย รวดเร็ว และสะดวก) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากร้านจำหน่ายซาลาเปา มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้น รวมถึงร้านปาท่องโก๋และน้ำเต้าหู้ และยังมีร้านสะดวกซื้อ เช่น ร้าน 7-11 ร้าน Family Mart และร้านอาหารและเครื่องดื่มแฟรนไชส์ เช่น แมคโดนัลด์ Starbucks ที่จำหน่ายอาหารเช้ากันอย่างคึกคัก และยังมีแพลตฟอร์มจำหน่ายอาหารสดก็ได้เริ่มขยายธุรกิจมาจำหน่ายอาหารเช้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ แม้ความต้องการอาหารเช้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่พบว่าคนวัย Gen Z ได้นิยมรับประทานขนมแทนอาหารเช้ามื้อหลักมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากแบรนด์ขนมต่างๆ เริ่มออกผลิตภัณฑ์สำหรับมื้ออาหารเช้า และมีขนมที่เป็นได้ทั้งอาหารมื้อหลักและอาหารว่างในขณะเดียวกัน เช่น ขนมปังสอดไส้ผสมแลคติกแอซิดแบคทีเรีย ขนมข้าวโอ๊ตอบกรอบ ที่สามารถเป็นได้ทั้งขนมขบเคี้ยว และหากผสมนมร้อนๆ ก็จะกลายเป็นซุปข้าวโอ๊ตที่หอมอร่อย
สำหรับเทรนด์ขนมที่เป็นที่นิยม คือ ขนมที่ให้พลังงานต่ำหรือ Low Energy โดยการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานต่ำจะทำให้สามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น และควบคุมน้ำหนักได้ดี ส่วนการบริโภคขนมแทนอาหารมื้อหลัก ผู้บริโภคชาวจีนมักนิยมเลือกบริโภคขนมเพื่อสุขภาพ เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วนแก่ร่างกาย เช่น ขนมประเภทเนื้อแผ่น โยเกิร์ต ธัญพืช โปรตีนเวเฟอร์ เครื่องดื่มโปรตีน เพื่อช่วยเสริมโปรตีน และขนมประเภทข้าวโอ๊ต และไฟเบอร์เวเฟอร์ เพื่อช่วยเสริมไฟเบอร์เข้าสู่ร่างกาย
น.ส.อรนุชกล่าวว่า ปัจจุบันขนมเพื่อสุขภาพได้พัฒนากลายเป็นอาหารมื้อหลัก โดยเฉพาะมื้อเช้าให้แก่กลุ่มผู้บริโภคชาว Gen Z มากขึ้น ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวถือเป็นโอกาสดีของสินค้าขนมจากไทยที่จะสามารถนำขนมเพื่อสุขภาพเข้ามาบุกตลาดจีนได้มากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรคิดค้นผลิตภัณฑ์ขนมเพื่อสุขภาพอย่างสร้างสรรค์ที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งอาหารมื้อหลัก อาหารมื้อว่าง และอาหารเสริม ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าได้มากขึ้น และเจาะกลุ่มผู้บริโภคได้ในวงกว้าง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญต่อการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ขนมให้ดูดีติดเทรนด์ และปลอดภัย โดยสามารถค้นหาขนมเพื่อสุขภาพที่ติดเทรนด์ใหม่ๆ บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนมาประกอบเป็นแนวทางการออกแบบ รวมถึงควรแสดงรายละเอียดส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ขนมให้ชัดเจน เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่นิยมนำส่วนประกอบและส่วนผสมของอาหารมาเป็นองค์ประกอบหลักในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยควรทำการศึกษากฎระเบียบการนำเข้าต่างๆ ของอาหารที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนเพื่อขจัดอุปสรรคในขั้นตอนการนำเข้าต่างๆ เนื่องจากส่วนประกอบหรือส่วนผสมของอาหารบางชนิด เช่น สมุนไพรต่างๆ หรือสารอาหารบางชนิด อาจจัดเป็นอาหารเสริมซึ่งมีกระบวนวิธีในการนำเข้าที่ซับซ้อน หรือจีนยังไม่อนุญาตให้นำเข้า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดรายการอาหารที่จีนอนุญาตให้ไทยนำเข้าได้ที่เว็บไซต์จากทางศุลกากรจีน
https://43.248.49.223/index.aspx