วันที่ 3 กันยายน 2564 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ร่วมกับ นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ เปิดเผยภายหลังให้สัมภาษณ์สรุปรายละเอียด โครงการศึกษาแผนหลัก
การพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทานอย่างยั่งยืน จังหวัดขอนแก่น แก่สื่อมวลชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบ Video Conference โปรแกรม Zoom ว่า ตามที่ กรมชลประทาน ศึกษาภาพรวมของการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยได้ บูรณาการแผนพัฒนาแหล่งน้ำในทุกมิติจากหน่วยงานกรมชลประทานในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งผลการศึกษาได้จัดกลุ่มแผนงานโครงการ ออกเป็น 5 กลุ่ม สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี ตามนโยบายของรัฐบาล ประกอบด้วย แผนการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ,แผนพัฒนาโครงการในพื้นที่เกษตรน้ำฝน ,แผนงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชลประทาน , แผนพัฒนาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และแผนการบรรเทาอุทกภัย ซึ่งหากดำเนินงานตามแผนการพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทานตามผลการศึกษาแล้ว จะทำให้จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 675 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทาน 698,622 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 289,313 ไร่ รวมทั้งพื้นที่ชุมชนที่ได้รับการป้องกันจากน้ำท่วม 49,920 ไร่
สำหรับ โครงการศึกษาแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทานอย่างยั่งยืน จังหวัดขอนแก่น มีโครงการสำคัญ 3 โครงการ ในตำบลสีชมพู อำเภอสีชมพู ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องหลักในการแก้ปัญหาแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ได้แก่
1.โครงการอาคารบังคับน้ำลำน้ำพองตอนบน เป็นการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำเพื่อยกระดับน้ำในลำน้าพองและนำน้ำจากลำน้ำพอง เข้าสู่พื้นที่ชลประทานบริเวณฝั่งขวาของลำน้ำพอง
2. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านป่าน2 (ใหม่) เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านป่าน 2 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้เพิ่มขึ้น
3. โครงการประตูระบายน้ำบ้านโคกป่ากุง เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำเพื่อยกระดับน้ำในลำห้วยโคกป่ากุง เพื่อนำน้ำเข้าสู่พื้นที่ชลประทานท้ายลำห้วยสายหนัง
"ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาโดยการมองภาพรวมของปัญหาในเชิงพื้นที่ (Area base) ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจมีสภาพปัญหาและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องกำหนดแนวทางการแก้ไขตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ รวมถึงการบูรณาการจากทุกภาคส่วนกรมชลประทาน จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทานอย่างยั่งยืน จังหวัดขอนแก่น เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะช่วยให้แหล่งน้ำ มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น พื้นที่ชลประทานการเกษตรเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ บรรเทาปัญหาอุทกภัย สามารถแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นได้อย่างยั่งยืนต่อไป" รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว