จากกรณีมีรายงานว่างานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Infectious Diseases เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม กระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ต่ำกว่าผู้ที่ติดเชื้อตามธรรมชาติในปี 2563 และปี 2564 จนกลายเป็นจุดวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มผู้ที่มีความคิดต่อต้านรัฐบาลเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (29 ส.ค.) ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศบค.โพสต์เฟซบุ๊ก “Warat Karuchit” เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว และพบงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ ก็ภูมิลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ ผศ.ดร.วรัชญ์ได้ระบุข้อความว่า
“วันก่อนเห็นมีข่าวการศึกษาว่า Sinovac ให้ภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าการติดเชื้อโควิดเองตามธรรมชาติ แล้วก็มีคอมเมนต์ต่างๆ นานาว่า Sinovac ไม่มีผล ขนาดติดเชื้อเองยังได้ภูมิสูงกว่า
วันนี้เห็นผลการวิจัยอีกตัวหนึ่ง เลยมาแจ้งข้อมูลเพิ่มครับ ว่าวัคซีนตัวอื่นก็คล้ายๆ กัน ผลการวิจัยขนาดใหญ่ (จำนวนกลุ่มตัวอย่างหลายหมื่นคน) ในโลกจริงที่อิสราเอลพบว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ให้การป้องกันการติดเชื้อที่ต่ำกว่าการติดเชื้อโควิดเองตามธรรมชาติ ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะภูมิที่เกิดจากการฉีดวัคซีนนั้นจะตกลงเร็วกว่าภูมิที่เกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติมาก (ซึ่งเป็นทุกวัคซีน แต่บางวัคซีนจะตกเร็วกว่า เช่น ไฟเซอร์ภูมิตกเร็วกว่า AZ)
ไม่ได้ด้อยค่า หรือโจมตีวัคซีนไฟเซอร์แต่อย่างใด และเชื่อว่าวัคซีน mRNA สร้างภูมิได้สูงกว่าวัคซีนแบบอื่นๆ จริง เพียงแต่ให้ข้อมูลว่าผลของ Sinovac ที่ต่ำกว่าการติดเชื้อเอง หมายความว่าวัคซีนไม่มีผล เพราะไฟเซอร์ก็เช่นกัน แต่วัคซีนทุกชนิดสามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ดีมากเหมือนๆ กัน
ข่าวนี้แม้จะเป็นข่าวไม่ค่อยดีสำหรับคนที่ฉีดวัคซีน แต่ก็ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ป่วยโควิดที่หายดีแล้วนะครับ (และงานวิจัยก่อนหน้าพบว่า ถ้ายิ่งป่วยหนักและป่วยนาน (เช่นท่านผู้ว่าฯ ปู) ภูมิหลังหายจะยิ่งสูงขึ้นอีกครับ)”