“สหรัฐอเมริกา” ถือเป็นประเทศต้นๆ ที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาจนสามารถควบคุมโรคได้ ส่งผลให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัวค่อนข้างดี
โดยปัจจุบันมีประชากรสหรัฐได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว 170.8 ล้านคน คิดเป็น 51.5% ของประชากรทั้งหมด 333 ล้านคน ส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกมี 201.4 ล้านคน คิดเป็น 60.7% ของประชากรทั้งหมด ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพด้านการ
ท่องเที่ยวระหว่างประเทศในยุคโควิด-19 เนื่องจากมีสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วค่อนข้างสูง!
อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ “สายพันธุ์เดลต้า” ในสหรัฐทำให้มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วง 7 วันล่าสุด เฉลี่ยสูงถึง 1.5 แสนรายต่อวัน ถือเป็นเรื่องที่ยังไว้ใจไม่ได้ และน่าเป็นห่วงสำหรับการตีกลับของไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าว ทำให้ภายในสหรัฐเริ่มมีการพูดถึงเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่ม
สันติ แสวงเจริญ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนิวยอร์ก เล่าว่า ในช่วงหลังๆ อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้รับวัคซีนในสหรัฐช้ามาก เพราะปัจจุบันควรจะมีสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีน 70% ของประชากรทั้งหมดแล้ว จนรัฐบาลกลางภายใต้การนำของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ ต้องออกมาตรการผลักดันทั้งส่งเสริมและบังคับให้ชาวสหรัฐรับการฉีดวัคซีนมากขึ้น เช่น ให้เงิน 100 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อฉีดเข็มแรก ขณะที่ข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องฉีดวัคซีน หรือถ้าไม่ฉีด ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ทุกสัปดาห์
ส่วนกรณีที่หน่วยงานป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐ หรือ ซีดีซี (U.S. Centers for Disease Control and Prevention) ประกาศเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ยกระดับคำเตือนให้ชาวสหรัฐหลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย เนื่องจากไทยเป็น 1 ใน 7 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด (Level 4) ต่อการระบาดของโรคโควิด-19
“ทั้งนี้ ททท.ขอย้ำว่าเป็นการยกระดับคำเตือนให้หลีกเลี่ยง ยังไม่ถึงขั้นห้ามเดินทางเข้าประเทศไทย ส่วนการตัดสินใจออกท่องเที่ยวนอกประเทศหรือไม่ ยังเป็นความต้องการส่วนบุคคลของชาวสหรัฐ เพราะไม่ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะตกต่ำ แต่ถ้าชาวสหรัฐตั้งใจ ก็ยังออกไปเที่ยวเหมือนเดิม”
โดยก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 นักท่องเที่ยวสหรัฐนิยมไปเที่ยวเม็กซิโก แคนาดา และประเทศในยุโรป แต่หลังโควิด-19 ระบาดมาสักระยะ ปัจจุบันเทรนด์ของนักท่องเที่ยวสหรัฐนิยมไปจุดหมายที่ต้องไม่มีการกักตัวเลย โดยเฉพาะ “หาดทราย ชายทะเล และแสงแดด” (Sea Sand Sun) ระยะใกล้ในแถบทะเล “แคริบเบียน” เช่น เม็กซิโก จาไมก้า โดมินิกัน และบาฮามาส ขณะที่จุดหมายระยะไกลคือมัลดีฟส์
สำหรับโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เปิดพื้นที่นำร่องให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วมาเที่ยวภายใน จ.ภูเก็ต แบบไม่ต้องกักตัว พบว่าตลอดเดือน ก.ค.ที่ผ่านมานับตั้งแต่เปิดโครงการฯวันที่ 1 ก.ค. มี “นักท่องเที่ยวสหรัฐ” เดินทางเข้าร่วมโครงการฯมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยสหราชอาณาจักร อิสราเอล เยอรมนี และฝรั่งเศส
“และหลังจากสอบถามความคิดเห็นของทัวร์โอเปอเรเตอร์เกี่ยวกับการเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และโครงการสมุย พลัส โมเดล พบว่าแม้จะรู้สึกค่อนข้างตื่นเต้นกับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย เนื่องจากยังเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยม แต่เรื่องมาตรการและเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศยังซับซ้อนมากเกินไป รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง”
นอกจากนี้ทัวร์โอเปอเรเตอร์ส่วนใหญ่ยังโฟกัสการขายแพ็คเกจทัวร์แบบ “Fully Opened” เหมือนจุดหมายในแถบทะเลแคริบเบียน คือต้องไม่มีเงื่อนไขเข้ารับการกักตัวเลย! ขณะเดียวกันทัวร์โอเปอเรเตอร์หลายรายยังถือว่าภาพใหญ่ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมประเทศไทย ยังถือว่ามีการปิดประเทศอยู่ ยังไม่ได้แยกแยะหรือลงลึกว่าประเทศไทยมีการเปิดพื้นที่นำร่องภูเก็ตแล้ว ซึ่ง ททท.พยายามโปรโมทว่าขณะนี้กำลังเปิดเมืองภูเก็ต (Reopening Phuket) เพื่อให้ทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการทัวร์รับรู้เรื่องนี้มาตลอด
ด้านรายงานข่าวจาก ททท. ระบุเพิ่มเติมว่า จากสถิติโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ณ วันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศสะสม 55 วันแรก ตั้งแต่ 1 ก.ค.-24 ส.ค.2564 จำนวน 24,190 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อ 24,120 คัดกรองพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 70 คน และเมื่อดูยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันมีจำนวน 158 คน แบ่งเป็นในประเทศ 156 คน และต่างประเทศ 2 คน
ส่วนยอดจองที่พักโรงแรมในภูเก็ตที่ได้มาตรฐาน SHA+ ตลอดไตรมาส 3 นี้มี 427,972 คืน แบ่งเป็นเดือน ก.ค. 190,843 คืน เดือน ส.ค. 175,685 คืน และเดือน ก.ย. 61,444 คืน และเมื่อรวมยอดจองห้องพักในช่วงไฮซีซั่นตั้งแต่เดือน ต.ค.2564-ก.พ.2565 อีกจำนวน 17,895 คืน ทำให้ในช่วงเดือน ก.ค.2564-ก.พ.2565 มียอดจองห้องพักในภูเก็ตรวม 445,867 คืน