ช่วงนี้ได้ยินข่าวนักท่องเที่ยวที่แอบหยิบหินและดินจาก
ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ กลับไปบ้าน แต่ต่อมาต้องส่งหินกลับคืนมาทางไปรษณีย์ให้เจ้าหน้าที่นำกลับไปไว้ที่เดิม ซึ่งก็น่าสงสัยไม่น้อยว่าเจอกับเหตุการณ์อะไรมาถึงต้องรีบส่งหินคืน
แต่ที่น่าสงสัยไม่แพ้กันก็คือทำไมจึงมีคนชอบหยิบดินหินเหล่านี้กลับไปบ้านด้วย โดยทางเจ้าหน้าที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งเองก็ได้ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวไม่หยิบจับหรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดออกไปจากโบราณสถาน และวอนขอให้ทุกคนช่วยกันดูแลรักษาโบราณสถานของชาติกันไว้ให้ดี
คนที่ทราบข่าวการส่งหินกลับคืนต่างก็วิพากษ์วิจารณ์กันถึงความเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพบูชาของคนในพื้นที่ของปราสาทหินพนมรุ้งแห่งนี้
สำหรับปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่ “อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง” อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เป็นปราสาทหินขนาดใหญ่ที่องค์ประกอบโดยรวมได้รับการยกย่องว่าเป็นปราสาทหินที่งดงามที่สุดในเมืองไทย สร้างอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว
ปราสาทพนมรุ้ง สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ก่อสร้างขึ้นตามคติจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง มีการบูรณะอย่างต่อเนื่องมาหลายสมัย ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 15-17 ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นพุทธศาสนสถานในช่วงนั้น