เว็บไซต์ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานวานนี้ (4 ส.ค.)
เงินบาทพลิกผันจากแข็งค่าสุดสกุลหนึ่งในเอเชียก่อนโควิดระบาด กลายเป็นสกุลหนึ่งที่อ่อนค่ามากที่สุดในปีนี้ เมื่อวิกฤติโควิดเล่นงานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สำคัญมากของประเทศ
รายงานข่าวระบุว่า ตั้งแต่สิ้นปี 2563 เงินบาทอ่อนค่าลงกว่า 9% แย่สุดสกุลหนึ่งของโลกพอๆ กับลีราตุรกีและซอลของเปรู การสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว และโควิด-19 ระลอกใหม่บั่นทอนความหวังเศรษฐกิจฟื้นตัว ทำให้คนที่เคยรุกซื้อเงินบาทต้องรอไปก่อน
นายมาร์ค เบเกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายลงทุนจากอาร์เบอร์ดีน สแตนดาร์ด อินเวสต์เมนต์ กล่าวว่า เงินบาทได้รับผลกระทบอย่างมากจากการพังทลายของบริการข้ามประเทศโดยเฉพาะจากการท่องเที่ยวที่ร่วงลงเหลือศูนย์โดยพื้นฐาน ดุลการชำระเงินติดลบ
นายคุน โก๊ะ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอเชีย ธนาคารเอเอ็นแซดกล่าวว่า เมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาด ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 40 ล้านคน การท่องเที่ยวเป็นแหล่งเงินตราต่างประเทศสำคัญทำให้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาก นักลงทุนต่างชาติเองก็สนใจเงินบาทแต่เมื่อโควิดระบาดสถานการณ์พลิกผันรุนแรง ในรอบ 12 เดือนนับถึงสิ้นเดือน มิ.ย.ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 2.2 พันล้านดอลลาร์ จากที่เคยเกินดุลถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์
“หนึ่งในปัจจัยหลักขับเคลื่อนให้เงินบาทแข็งค่ามากเมื่อก่อนโควิดระบาดคือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมหาศาล หลักๆ มาจากการท่องเที่ยว ตอนนี้ไม่มีแล้ว หายไปหมดและจะไม่กลับมาอีกนานเลย นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น” นักวิเคราะห์รายนี้กล่าว
ส่วนโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ไฟแนนเชียลไทมส์กล่าวว่า นักท่องเที่ยวเข้ามาน้อยกว่าที่คาด จนหลายคนสงสัยว่าคำประกาศเปิดประเทศในเดือน ต.ค.ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะทำได้จริงหรือไม่
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า เดิมเคยคาดกันว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นภายในสิ้นปีนี้ แต่ขณะนี้ค่อนข้างชัดแล้วว่าไม่ใช่
“เราไม่เชื่อว่าจะเปิดการท่องเที่ยวได้มากกว่านี้จนกว่าครึ่งหลังของปีหน้า”