ปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวหรือผื่นจากการใส่มาสก์ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเสียดสีกับผิวหน้าขณะใส่ ความสกปรกภายในหน้ากากที่สะสมระหว่างวัน ความเครียด วัสดุจากหน้ากากมีการปนเปื้อน และโรคผิวหนังเดิมที่เคยเป็นอยู่
การเสียดสีของของหน้ากากอนามัยกับผิวหน้า ส่งผลให้เกิดการแพ้ ระคายเคืองได้ โดยเฉพาะผู้ที่ใส่หน้ากากหลายชั้น
หากพบว่ามีสิวขึ้นหรือมีผื่นแพ้ ในเบื้องต้นควรหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร แล้วแก้ตามสาเหตุนั้น หากทำตามทุกวิธีแล้วยังมีสิวขึ้นหรือผื่นภูมิแพ้ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ผิวหนังก่อนที่สิวหรือผื่นนั้นจะลุกลาม
ไลฟ์สไตล์ติดตาม
วิถีชีวิตใหม่แบบ New Normal ที่เกิดขึ้นในยุคที่มีการระบาดของไวรัสก่อโรค Covid-19 นั้น การสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องทำเสมอเวลาออกจากบ้าน แต่เมื่อต้องใส่เป็นประจำทุกวัน หลายคนมักเกิดปัญหาสิว ผดผื่นคัน บริเวณที่ใส่หน้ากากอนามัยตามมา จนเกิดอาการไม่อยากใส่ แต่ยังไงก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อต้องใส่ทุกวันและเกือบจะตลอดเวลาแล้วนั้นก็ทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังตามมาได้
ใส่หน้ากากอนามัยแล้วเป็นสิว หรือผิวแพ้มาสก์ เกิดจากอะไร
การเสียดสีของของหน้ากากอนามัยกับผิวหน้า ส่งผลให้เกิดการแพ้ ระคายเคืองได้ โดยเฉพาะผู้ที่ใส่หน้ากากหลายชั้นหรือสวมหมวกกันน็อกทับเวลาขับขี่รถมอเตอร์ไซค์
ความสกปรกภายในมาสก์ เช่น ละอองน้ำลาย เหงื่อ น้ำมันจากผิวหน้า ร่องรอยเครื่องสำอาง ผสมกับความชื้นภายในหน้ากากโดยเฉพาะเวลาอากาศร้อนอบอ้าว แบคทีเรียก็จะมีการเพิ่มจำนวนและเติบโตขึ้นที่รูขุมขนมากขึ้น ทำให้เกิดสิวทั้งอุดตันและอักเสบตามมาได้ง่ายขึ้น
ปัจจัยภายใน เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งเสริมกับปัจจัยเรื่องการเสียดสี หรือความสกปรกภายในหน้ากาก
เกิดจากมลภาวะหรือ PM2.5 เนื่องจากสารตั้งต้นของ PM2.5 ก่อนจะรวมตัวกับไอน้ำ และฝุ่นควัน คือ ก๊าซพิษ ซึ่งทำตัวเสมือนสารก่อระคายเคืองผิว กระตุ้นการเกิดสิว และทำให้ผิวแพ้ง่าย เป็นที่ทราบกันดีว่า หน้ากากทั่วไปที่เราใส่ ไม่สามารถป้องกัน PM2.5 ได้ และมลภาวะสามารถเข้าทางด้านข้างของหน้ากากได้ด้วยเช่นกัน
หน้ากากอนามัยชนิดใช้แล้วทิ้งบางยี่ห้อที่ผสมสารป้องกันแบคทีเรียบางชนิดที่อาจระคายเคืองผิวได้ หรือเป็นที่ตัววัสดุเอง เช่น ผ้าสปันบอนด์ (spunbond) ซึ่งเป็นผ้าที่เกิดจากการอัดขึ้นรูปจากเส้นใยพลาสติกพวกพอลีโพรพิลีน (Polypropylene) มาประกอบเป็นหน้ากากชั้นนอกและชั้นในเพื่อป้องกันการซึมผ่านของน้ำและละอองฝอยต่างๆ
เกิดจากน้ำหอมจากผลิตภัณฑ์ซักผ้าและน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใช้ซักหน้ากากผ้า ทางที่ดี ควรซักล้างด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ หรือผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน ไม่มีน้ำหอม
โรคผิวหนังเดิมที่เป็นอยู่ แต่ถูกกระตุ้นให้เป็นมากขึ้นในช่วงที่ใส่หน้ากาก เพราะความอบอ้าว ความชื้น โดย 2 โรคที่พบได้บ่อย เช่น
- โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) ซึ่งเป็นภาวะทางผิวหนังที่พบบ่อย โดยจะเกิดรอยแดงและมองเห็นเส้นเลือดบนใบหน้าได้ชัดเจน อาจเกิดตุ่มหนองคล้ายสิวหรือตุ่มสีแดงขนาดเล็ก และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ตาแห้ง ตาบวมแดงและระคายเคือง เปลือกตาแดง รู้สึกแสบหรือชาที่ผิวหนัง ผิวแห้ง ผิวหยาบ และรูขุมขนกว้าง
- โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis) เป็นอาการของผิวหนังอักเสบเรื้อรังจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ ทำให้ผิวแห้ง แดง มีผื่นตามบริเวณต่างๆ และมีอาการคันอย่างต่อเนื่อง บางรายมีตุ่มพอง ซึ่งอาจแตกและมีของเหลวไหลออกมาได้เมื่อถูกเกา
8 วิธี ป้องกันสิวผิวแพ้มาสก์
1. ป้องกันการเสียดสีกับหน้ากาก โดยสามารถสอดแผ่นทิชชู่ที่นุ่มและสะอาดรองบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อยๆ
2. หากอากาศร้อนมากๆ ร่างกายจะมีการสร้างเหงื่อและน้ำมันออกมาจากผิวมากขึ้น ความอับชื้นจึงตามมา เราสามารถซับเหงื่อและความมันระหว่างวันได้ก่อนใส่หน้ากากกลับไปที่เดิม
3. ขณะที่ใส่หน้ากากอนามัย หากจำเป็นต้องพูดคุย สามารถรองกระดาษทิชชู่ไว้ที่ปาก หากพูดเสร็จให้ทิ้งทิชชู่นั้น
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดจนเกินไป เพราะปัจจัยเหล่านี้ส่งเสริมการเกิดสิวได้
5. เมื่อกลับถึงบ้าน ควรรีบถอดหน้ากากแล้วล้างหน้าให้สะอาดทันที เพื่อลดการสะสมของสิ่งสกปรกตกค้าง รวมทั้งมลภาวะทางอากาศที่ผ่านเข้าหน้ากากจากด้านข้าง
6. หากมีอาการแพ้หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากชนิดที่ใช้ในการผ่าตัด (กรณีที่ไม่ใช่แพทย์และบุคลากรที่ผ่าตัด) สามารถเปลี่ยนมาใช้หน้ากากผ้า หรือหน้ากากชนิดอื่นๆ แทนได้
7. หากใช้หน้ากากผ้า ควรซักด้วยน้ำยาซักผ้าเด็กหรือน้ำสบู่อ่อน หรือซักด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ซักล้างและปรับผ้านุ่มที่ผสมน้ำหอม
8. หากทำตามทุกวิธีแล้วยังมีสิวขึ้นหรือผื่นภูมิแพ้ อาจเกิดจากโรคผิวหนังเดิมที่เป็นอยู่ ให้หยุดครีมบำรุงผิวทุกชนิดในช่วงแรก งดแต่งหน้า และรีบมาปรึกษาแพทย์ผิวหนังโดยเร็วที่สุด
บทความโดย : พญ. พีรธิดา รัตตกุล แพทย์ผู้ชำนาญสาขาตจวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท