‘3กูรูเศรษฐศาสตร์’ ชี้ 3 เดือน ไทยเผชิญความเสี่ยง 

‘3กูรูเศรษฐศาสตร์’ ชี้ 3 เดือน ไทยเผชิญความเสี่ยง 

  • 0 ตอบ
  • 69 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Joe524

  • *****
  • 2320
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 





ข้อมูลจากแถลงของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (ศบค.) ณ วันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมามีผู้ป่วยโควิด-19 สะสมระลอกเมษายนถึง 549,512 ราย ยอดสะสมตั้งแต่เริ่มการระบาด 578,375 ราย มีผู้เสียชีวิตรวม 4,679 คน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้การคาดการณ์เหตุการณ์การระบาด รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทำได้ยาก เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูงแม้รัฐบาลจะใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อคุมการระบาดในพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด และขยายเป็น 13 จังหวัดมานานกว่า 2 สัปดาห์ หากแต่การระบาดของโรคขณะนี้ยังไม่ใช่จุดสูงสุดของการระบาดระลอกล่าสุด 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในไทยสามารถเพิ่มสูงขึ้นถึง 4 หมื่นคนต่อวันในช่วงกลางเดือน ก.ย.หากไม่มีมาตรการที่เข้มข้นเพียงพอ และถึงแม้มีมาตรการที่เข้มข้นกว่าที่ผู้ป่วยจะลดจำนวนลงก็ใช้เวลานานหลายเดือน 

ในสถานการณ์ที่การต่อสู้กับโรคระบาดทำได้อย่างยากลำบากช่วงเวลา 3 เดือนต่อจากนี้ (ส.ค. - ต.ค.) ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าเป็นห่วงทั้งในด้านความสามารถของระบบสาธารณสุขที่ตึงตัว ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจที่จะทรุดตัวลงจากการแพร่ระบาดที่ขยายออกไปในหลายพื้นที่ และลามไปยังภาคการผลิต และที่เป็นผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาก็คือเรื่องของการตกงานของแรงงานจำนวนมากเป็นผลกระทบที่ตามมาต่อเนื่อง 

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมความเห็นของนักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่ติดตามสถานการณ์และคาดการณ์ถึงภาพอนาคตระยะสั้นของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นภาายใน 3 เดือนข้างหน้าทั้งในเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาด ผลกระทบต่อเศรษฐกิจรวมทั้งข้อเสนอแนะที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการเพื่อแก้วิกฤติที่เกิดขึ้น ดังนี้ 



นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบไปแล้วกว่า 9 แสนล้านบาท โดยเศรษฐกิจในปีนี้เมื่อเจอการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อจะหวังให้เติบโตสัก 1% ก็ยากและเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจปีนี้จะไม่ขยายตัวเลย

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวมากคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 15% ของจีดีพี และมีการจ้างงานมากถึง 10 ล้านคน การที่ภาคการท่องเที่ยวปิดไปเกือบหมดนั้นหมายความว่าคนเกือบ 10 ล้านคนตกงานไม่มีรายได้ ซึ่งกระทบการใช้จ่ายของประชาชนมาก

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในขณะนี้ถือว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วงเนื่องจากเราต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กลายพันธุ์มีการระบาดได้อย่างรวดเร็วคือสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งตัวอย่างที่มีการระบาดในหลายประเทศคือในอินเดีย และล่าสุดในอินโดนิเซียมีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้น 10 เท่าภายใน 5 สัปดาห์จนมีผู้ป่วยรายใหม่หลายหมื่นคนต่อวัน 

“เมื่อสายพันธุ์ชนิดนี้ของโควิด-19 เข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในไทยทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยมีความเสี่ยงที่จะรับไม่ไหวเห็นได้จากสัญญาณว่าเริ่มมีการขาดแคลนถังออกซิเจน เริ่มมีการให้ผู้ป่วยออกมานอนนอกอาคารของโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์เริ่มติดโควิด-19 รวมทั้งต้องเอานักศึกษาแพทย์มาช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด ส่วนเมรุที่เผาศพก็เผาศพต่อเนื่องกันจนบางที่พัง”

ทั้งนี้การประกาศล็อคดาวน์เพื่อต่อสู้กับโควิดของรัฐบาลถือว่ามีความจำเป็นและเป็นแนวทางที่หลายประเทศใช้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในระลอกต่อไป ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้นที่จะเตรียมตัว เพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากสถานะประเทศที่รับมือกับโควิด-19 ไม่ได้เป็นประเทศที่สามารถรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้อีกครั้ง 

โดยมี 3 เรื่องที่รัฐบาลต้องทำคือ 1.เร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความพร้อมรับมือกับการกลายพันธุ์ของโควิด-19 

2.เร่งรัดการจัดหาและนำเข้าวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชน โดยในเรื่องนี้รัฐบาลและเอกชนควรร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดหาวัคซีนทางเลือกหลายๆยี่ห้อเข้ามาในประเทศไทย

และ3.การบริหารจัดการวัคซีนซึ่งจำเป็นที่จะต้องจัดสรรวัคซีนลงไปในพื้นที่ที่สำคัญ ในจุดพื้นที่อ่อนไหวต่อการแพร่ระบาด ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ รวมทั้งพื้นที่ซึ่งมีการแออัดของผู้คนจำนวนมาก ที่มีความเสี่ยงที่จะติดต่อกันง่าย 

“โจทย์ใหญ่ของปีนี้คือการพยุงเศรษฐกิจให้ไปได้ก่อน ระยะเวลา 3 เดือนนี้สำคัญมากๆหัวใจของการฟื้นเศรษฐกิจอยู่ที่วัคซีน หากสามารถจัดการทั้ง 3 ส่วนนี้ได้ดี เมื่อเริ่มเปิดเมืองแล้ว ประเทศไทยจะอยู่ในฐานะที่สามารถรับมือกับการระบาดของโควิดได้อีกครั้ง"นายกอบศักดิ์ กล่าว 


นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันถือว่าวิกฤติมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีควรจะต้องตัดสินใจใช้ "ยาแรง" ในการแก้ไขปัญหา หมายถึงการล็อคดาวน์นั้นต้องทำจริงจัง กำหนดให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านแล้วให้มีระบบการส่งอาหาร ยา ให้ซึ่งสามารถที่จะใช้กำลังพลในกองทัพมาช่วยเหลือเรื่องนี้ได้เพราะนายกรัฐมนตรีเองก็เป็น รมว.กลาโหมซึ่งจะสามารถจัดการได้ 

ทั้งนี้การใช้มาตรการล็อคดาวน์แบบเข้มข้นต้องสื่อสารให้ประชาชน และภาคเอกชนเข้าใจตรงกันว่าเป้าหมายคือรัฐบาลต้องการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ภายใน 3 เดือน ขณะเดียวกันในช่วงเวลานี้ต้องกำหนดเป้าหมายการฉีดวัคซีนและติดตามการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย โดยกำหนดไว้ที่เดือนละ 10 ล้านโดสเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยการเร่งฉีดให้ประชาชนให้ได้อย่างน้อย 70% ของประชากรในประเทศ ซึ่งการที่จะฉีดได้รวดเร็วตามแผนดังกล่าวภายใน 3 เดือนนี้จะต้องกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆไม่ควรกระจุกการฉีดอยู่ที่สถานที่ใดสถานที่หนึ่งเฉพาะ 

“ใน 3 เดือนนี้ต้องคุมโควิดให้อยู่ก่อน แม้จะต้องใช้ยาแรง แต่หากทำเพื่อให้โรคนี้มันจบลง เอกชน  กับประชาชนก็น่าจะเข้าใจเพราะไม่มีใครอยากให้การระบาดเกิดขึ้นเป็นระลอกๆ เมื่อคุมโควิดอยู่ได้หลังจากนั้นก็กลับมาฟื้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย ท่องเที่ยวในประเทศซึ่งหากสามารถทำได้เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายก็ยังสามารถที่จะขยายตัวได้” นายมนตรี กล่าว 

นายมนตรีกล่าวด้วยว่าในปี 2564 เศรษฐกิจของไทยอาจจะขยายตัวได้ประมาณ 1% หรือต่ำกว่า 1% ซึ่งการที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้มาจากภาคการส่งออกแต่ การส่งออกที่ขยายตัวได้มากก็มาจากฐานที่ต่ำในปีก่อน และการส่งออกที่ได้อานิสงค์จาการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก 

ซึ่งในขณะนี้หากรัฐบาลสามารถควบคุมโควิด-19 ได้ในระย 3 เดือน ก็จะยังคงมีช่วงเวลาที่สามารถจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งมาตรการที่สามารถทำได้คือการนำเอามาตรการการจูงใจการใช้จ่ายของผู้มีรายได้สูงซึ่งเป็นส่วนบนของ "ปิดรามิด" ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ ได้แก่ มาตรการช็อปดีมีคืน ซึ่งสามารถเพิ่มวงเงินใช้จ่ายต่อรายได้ถึง 1แสนบาทต่อราย

หากมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 1 ล้านรายก็จะมีเงินหมุนเวียนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีอย่างน้อย 3 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะจัดเก็บรายได้เพิ่มจากภาษีได้ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาทนำมาใช้จ่ายในด้านต่างๆ ส่วนการคืนภาษีให้กับประชาชนก็จะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2565 

ขณะที่ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้กล่าวในการเสวนาทางคลับเฮาส์ : CEO โซเซ Just Say SO” จัดเสวนา “CEO โซเซ The Legend..สร้างตำนานผ่านวิกฤติ” จัดโดยฐานเศรษฐกิจและกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2564 ว่าช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ หากรัฐบาลแก้ปัญหาโควิดไม่ได้อย่างทันจะลามสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยภาคการผลิตจะหยุดชะงักมากขึ้น และหากลามถึงการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวเดียวแล้วจะน่าห่วงมาก และหากผลิตไม่ได้เศรษฐกิจไม่โตคนขาดรายได้ คนไม่มีเงินไปจ่ายหนี้แบงก์ ผลกระทบจะลามถึงสถาบันการเงินในที่สุด

“เราอยู่ในสถานการณ์วิกฤติและวิกฤติยังแย่กว่านี้ได้ เพราะวิกฤติโควิดรอบนี้กระทบเศรษฐกิจจริง มีคนล้มตายและเจ็บป่วย ต่างจากวิกฤติปี 2540 ที่กระทบภาคการเงินและคนรวยเท่านั้น”

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเห็นเค้าพายุกำลังจะมา เพราะต้นปี 2564 นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ประเมินจีดีพี 3.5% แต่ผ่านมาครึ่งปีลด 3-4 ครั้งแล้ว จนเหลือ 1.5% หรือตอนนี้อาจเหลือไม่ถึง 1%

ส่วนการประเมินเศรษฐกิจระยะข้างหน้าทำได้ยาก เพราะไม่รู้จริงว่าสายพันธุ์เดลต้าระบาดแรงแค่ไหน รวมทั้งเรามีชุดตรวจไม่พอและสุดท้ายปัญหาแก้ไม่ทันจะลามไปกระทบสถาบันการเงิน รวมทั้งหากรัฐบาลยังทำเช่นนี้แล้วโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าระบาดแรงมากเหมือนต่างประเทศ จะทำให้ปัญหาใหญ่ขึ้น และมองว่าโควิด-19 ยังติดคนไทยได้อีก 50 ล้านคน เพราะคนฉีดวัคซีนครบ 2 โดส มีแค่ 3-4 ล้านคน สมมติคนติดเชื่อแต่ไม่รู้ว่าติดเชื้อก็นำเชื้อไปติดให้คนที่เหลืออีก 60 ล้านคนได้

ปัญหาในวิกฤติโควิด-19รอบนี้ เห็นด้วยว่า ปัญหาอยู่ที่การบริหารของรัฐบาล แต่ยังมีทางออกเพื่อแก้ไข 3 ปัญหา ตอนนี้ คือ

1.เมื่อวัคซีนไม่พอแล้วจะแบ่งให้ใครอันดับแรก ซึ่งต้องแบ่งให้บุคคลการด้านการแพทย์และสาธารณสุขก่อน ที่ผ่านมาฉีดแล้ว 7 แสนราย และต้องฉีดซ้ำ ทำให้ต้องใช้วัคซีนเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้วัคซีนขาดแคลนมากขึ้นไปอีก และตอนนี้รัฐบาลต้องถามตัวเองว่าจะฉีดให้ผู้สูงอายุที่ไม่อยู่ในภาคการผลิต หรือฉีดให้ผู้อยู่ภาคการผลิตคนวัยทำงานเพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อ

“เมื่อวัคซีนไม่พอแล้ว ทำให้รัฐบาลมาถึงจุดบีบบังคับ ให้ตัดสินใจแม้เป็นเรื่องที่ยากจะตัดสินใจ แต่ถ้าบอกประชาชนให้ชัดเจนได้ก็ดี ว่าจุดยืนของรัฐบาลอยู่ตรงไหนในเรื่องนี้ หากยังพูดกล้อมแกล้มแบบนี้ ในความกล้อมแกล้ม ยิ่งทำให้เราไม่รู้ทิศทาง”

2.ชุดตรวจยังไม่มากพอเพราะหากเลือกฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่าคนที่อายุน้อย 30-100 เท่า ดังนั้น รัฐบาลต้องพยายามแยกระหว่างคนติดเชื้อ กับคนไม่ติดเชื้อ เพื่อให้คนไม่ติดเชื้อยังสามารถเข้าไปทำงานได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะคนในภาคการผลิต ที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

 สำหรับทางออกของปัญหานี้ เสนอว่า หากวัคซีนยังไม่พอแล้ว ก็ต้องตรวจให้มาก ทำชุดตรวจโควิด-19 ราคา 5-10 บาท หรือแจกฟรีได้หรือไม่ เพราะโรงงานที่มีแรงงานหลักพันคนจะได้ตรวจกันทุกวัน ต้องแจกชุดตรวจให้มากที่สุด

3.การเยียวยาทันหรือไม่ เพราะสุดท้ายหากยังเกิดปัญหาวัคซีนไม่พอ ชุดตรวจเชื้อยังทำช้าไปอีก คนทำงานไม่ได้ ไม่มีรายได้ ถ้าทุกคนเป็นหนี้แบงก์แล้ว สุดท้ายปัญหาที่สะสมทั้งหมด จะส่งผลกระทบกลับเป็นความเสี่ยงต่อธนาคาร ซึ่งต้องเร่งเยียวยาให้ทัน

“นโยบายการเงินถ้ามองแง่บวก เงินเฟ้อต่ำหนี้ต่างประเทศก็ไม่มี มองว่า ยังใช้นโยบายการเงินได้ พิมพ์เงินมาช่วยเหลือได้ แต่ต้องรู้ว่าจะทำเอาสิ่งนี้มาให้ทันท่วงที อย่าเป็นมาตรการที่ตามปัญหา เพราะตั้งแต่ต้นปีมานี้เราเห็นรัฐบาลมีแต่มาตรการตามปัญหา ไม่เคยมีมาตรการที่แก้ปัญหาก่อนที่จะเกิดเลย” นายศุภวุฒิกล่าว