เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย และมีผลต่อการดำเนินชีวิตมากๆ ตัวช่วยที่ใกล้มือที่สุด ณ ปัจจุบันนี้คงหนีไม่พ้น
แอพพยากรณ์อากาศ เพราะ แอพ ประเภทนี้ซึ่งมีมากมาย ช่วยให้เรารู้ว่าอากาศจะเป็นอย่างไรบ้างในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า เพียงแค่ปลายนิ้วก็รู้ได้อย่างง่ายดาย
แต่สภาพแวดล้อมมหาสมุทรซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กันล่ะ มีแอพ “พยากรณ์อากาศ” หรือเปล่า? ล่าสุดผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นได้สร้าง “แอพ” มือถืออย่าง Global Ocean on Desk (GOOD) หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า “GOOD APP” เพื่อให้คนทั่วโลกเข้าถึงการพยากรณ์สภาพแวดล้อมมหาสมุทรได้ง่ายๆ
“GOOD APP” เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกดูข้อมูลพยากรณ์สภาพแวดล้อมมหาสมุทรได้โดยตรงตามใจต้องการบนมือถือของตัวเอง โดย “แอพ” นี้พยากรณ์ภัยพิบัติทางทะเล อย่างคลื่นพายุซัดฝั่งและคลื่นสึนามิได้ ทั้งยังช่วยทีมชายฝั่งทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ป้องกันและลดภัยอันตรายทางทะเล บริหารจัดการการประมง และแม้แต่การท่องเที่ยว
“แอพ” นี้ใช้งานได้ 3 ภาษา ได้แก่ ไทย มาเล และอังกฤษ โดยเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างไทย มาเลเซีย และจีน ด้วยการสนับสนุนจากกองทุน China-ASEAN Cooperation Fund แอพดังกล่าวแสดงผลการพยากรณ์สภาพแวดล้อมมหาสมุทรเชิงตัวเลขให้เป็นภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นความสูงของคลื่นพื้นผิว ระยะเวลาของคลื่น ระดับน้ำทะเล กระแสน้ำมหาสมุทรแบบสามมิติ อุณหภูมิและความเค็มของทะเล เป็นต้น ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกในช่วง 120 ชั่วโมงข้างหน้า (5 วัน) ผ่านสมาร์ทโฟน
แน่นอนว่า “GOOD APP” ไม่ได้ถูกคิดค้นและสร้างขึ้นในคืนเดียว เพราะก่อนที่จะเปิดตัวแอพนี้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ระบบ Ocean Forecast System (OFS) ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของแอพนี้ ถูกพัฒนาขึ้นเป็นเวลากว่าหลายทศวรรษ และมีการนำไปทดลองใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2561
โดยที่ OFS ใช้โมเดลเชิงตัวเลขที่คอยประสานการไหลเวียน คลื่น และกระแสน้ำพื้นผิว โมเดลใหม่นี้แตกต่างจากโมเดลมหาสมุทรอื่นๆ ที่พยากรณ์คลื่น กระแสน้ำ และการเคลื่อนไหวแยกกันโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบระหว่างกันของปัจจัยเหล่านี้ เพราะโมเดลใหม่ดังกล่าวนำปัจจัยทั้ง 3 นี้มาพิจารณาพร้อมกัน และยกระดับความแม่นยำและประสิทธิภาพของการพยากรณ์มหาสมุทรได้อย่างมาก
ตัวอย่างเช่น ข้อผิดพลาดจากการพยากรณ์ความลึกของชั้นผสม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการปกป้องระบบนิเวศทางทะเล การก่อตัวของไต้ฝุ่น และการพยากรณ์สภาพอากาศ นับว่าเป็นจุดติดขัดมาถึงครึ่งศตวรรษ แต่บัดนี้ปัญหาดังกล่าวหายไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
ศาสตราจารย์ Qiao Fangli หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบัน First Institute of Oceanography (FIO) ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของจีน กล่าวว่า "โมเดลดังกล่าวได้รับการตรวจสอบแล้วจากการสังเกตและการทดลองในห้องปฏิบัติการ โดยช่วยยกระดับความแม่นยำของการพยากรณ์มหาสมุทรได้ถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์"
ย้อนกลับไปยังปี 2551 เมื่อ Qiao Fangli ได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับความสำเร็จของแบบจำลองมหาสมุทรของเขาในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติของ IOC/WESTPAC ครั้งที่ 8 เขาได้พบกับ ศาสตราจารย์ สมเกียรติ ขอเกียรติวงศ์ จากศูนย์ชีววิทยาทางทะเล จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย เป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานของระบบสังเกตการณ์ในทะเลและมหาสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAGOOS) และ ศาสตราจารย์ Fredolin Tangang จากมหาวิทยาลัย Universiti Kebangsaan Malaysia (UKM) ของมาเลเซีย หลังจากการอภิปรายกันอย่างดุเดือด แนวคิดความร่วมมือระหว่างทีมนักวิจัยจากจีน ไทย และมาเลเซีย ในการพัฒนาระบบพยากรณ์มหาสมุทรแบบใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้น โครงการนี้ได้รับการอนุมัติโดย IOC/WESTPAC ในปี 2553 และในอีก 2 ปีถัดมา OFS แบบปฏิบัติการ ก็เปิดตัวเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2555
ศาสตราจารย์ Qiao กล่าวว่า "ประเทศไทย มาเลเซีย จีน และประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สามารถได้รับประโยชน์จากโครงการ OFS และความร่วมมือของเราก็เข้ามาเสริมสร้างมิตรภาพและความร่วมมือในระหว่างประเทศต่างๆ ได้อย่างมาก"
OFS มีบทบาทสำคัญในการค้นหากู้ภัยในเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ซึ่งเรือท่องเที่ยว 2 ลำ พร้อมนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 130 ราย โดยส่วนมากเป็นชาวจีน จมลงนอกเกาะภูเก็ตทางภาคใต้ของประเทศไทย เนื่องมาจากพายุที่รุนแรงในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
นอกจากภารกิจค้นหาและกู้ภัยของเจ้าหน้าที่ไทยแล้ว ทีมวิจัยระหว่างประเทศของจีนและไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางวิทยาศาสตร์อย่างแข็งขัน พวกเขาใช้ OFS คาดการณ์กระแสน้ำในมหาสมุทรและคลื่น ตลอดจนลดพื้นที่การค้นหาลงเหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ ผ่านการคาดการณ์กระแสน้ำบริเวณรอบเรือที่จมได้อย่างแม่นยำ ซึ่งช่วยให้ทีมกู้ภัยของไทยปฏิบัติภารกิจกู้ภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
OFS จึงนับเป็นระบบ “พยากรณ์” สภาพแวดล้อมในมหาสมุทรระดับชาติของทั้งประเทศไทยและมาเลเซียในขณะนี้ นอกจากความช่วยเหลือทางทะเลแล้ว ยังมีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายๆ ด้าน เช่น การปกป้องแนวปะการัง ความปลอดภัยของการขนส่งทางทะเล การติดตามแหล่งที่มาและการพยากรณ์ขยะที่ลอยอยู่ในทะเล รวมถึงการรั่วไหลของน้ำมัน เป็นต้น สำหรับชาวประมง OFS และ “GOOD APP” ที่พัฒนาขึ้นมาจาก OFS คาดการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงเพื่อที่จะรับรองความปลอดภัยและการผลิต