อะเมซิ่ง “ทุ่งสามร้อยยอด” การ (เริ่ม) กลับมาของบึงบัวงามในตำนาน

อะเมซิ่ง “ทุ่งสามร้อยยอด” การ (เริ่ม) กลับมาของบึงบัวงามในตำนาน

  • 0 ตอบ
  • 81 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Chigaru

  • *****
  • 2319
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 




ย้อนรอยอดีตบึงบัว “ทุ่งสามร้อยยอด” อันสวยงามในตำนาน ก่อนจะเสื่อมสภาพหายไปตามสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ทุ่งดอกบัวที่นี่เริ่มฟื้นคืนกลับ แม้จะยังไม่มากเท่าในอดีต แต่ก็เป็นบทเรียนอันทรงคุณค่า ย้ำเตือนอย่าให้มันเกิดซ้ำรอยวงจรอุบาทว์อีกเลย

ในบรรดาแหล่งท่องเที่ยว “บึงบัว” ในธรรมชาติของบ้านเรา ที่นำมาเป็นเบอร์หนึ่งของยุคนี้ก็คงจะหนีไม่พ้น “ทะเลบัวแดง” ที่บึงหนองหาน จ.อุดรธานี ตามมาด้วย ทะเลน้อย จ.พัทลุง, บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ และ บึงละหาน จ.ชัยภูมิ เป็นต้น

นอกจากนี้ก็ยังมี “บึงบัวทุ่งสามร้อยยอด” จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ในอดีตขึ้นชื่ออย่างมากในเรื่องเส้นทางศึกษาธรรมชาติสะพานชมทุ่งดอกบัวกลางน้ำท่ามกลางแวดล้อมของขุนเขาอันสวยงาม

บึงบัวงามทุ่งสามร้อยยอดเมื่อครั้งอดีตที่มีทุ่งดอกบัวหนาแน่น 
บึงบัวงามทุ่งสามร้อยยอดเมื่อครั้งอดีตที่มีทุ่งดอกบัวหนาแน่น

แต่ทว่าดงดอกบัวที่ทุ่งสามร้อยยอดได้หายไปจากความนิยมของนักท่องเที่ยวอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ทำให้เหล่าบัวหายไป

กระทั่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีข่าวดีว่าทุ่งดอกบัวที่ทุ่งสามร้อยยอดค่อย ๆ ฟื้นคืนชีวิตกลับมาสร้างสีสันความงามให้กับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อีกครั้งหนึ่ง

อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรก

หลายคนอาจไม่รู้ว่า “อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด” จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของไทย โดยประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 4 ของไทยในปี พ.ศ. 2509 และเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลลำดับแรกของเมืองไทย

อช.เขาสามร้อยยอด อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของไทย (ภาพ : อช.เขาสามร้อยยอด)
อช.เขาสามร้อยยอด อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของไทย (ภาพ : อช.เขาสามร้อยยอด)

อช.เขาสามร้อยยอด ปัจจุบันมีพื้นที่ครอบคลุมทั้งทะเล ป่าเขา และทุ่งน้ำท่วมขังหรือบึงน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งก็คือ “ทุ่งสามร้อยยอด” ที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำมีขนาดกว่า 69 ตารางกิโลเมตร

ทุ่งสามร้อยยอด หรือบึงบัว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาสามร้อยยอด สันนิษฐานว่าเกิดจากน้ำที่หลากลงมาจากเทือกเขาตะนาวศรีไหลลงมาทางทิศตะวันออกก็มาเจอเขาสามร้อยยอด ที่ทอดตัวขนานแนวเหนือ-ใต้ ขวางกั้นจึงขังมวลน้ำกักเก็บน้ำไว้

ทุ่งสามร้อยยอดในอดีตเมื่อครั้งยังมีทุ่งดอกบัวเป็นจำนวนมาก 
ทุ่งสามร้อยยอดในอดีตเมื่อครั้งยังมีทุ่งดอกบัวเป็นจำนวนมาก

กระบวนการของธรรมชาติเช่นนี้ได้จัดสรรนำน้ำมาสั่งสมท่วมขังอยู่ปีแล้วปีเล่า เป็นเวลานับร้อย ๆ ปี จนกลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ ที่กลายเป็นแหล่งของสรรพชีวิต

ทุ่งสามร้อยยอด พื้นที่ชุ่มน้ำโลก

ทุ่งสามร้อยยอด เป็นแหล่งอาศัยของปลาจำนวนมาก รวมถึงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของนกนานาชนิด อาทิ นกกาน้ำ นกยาง นกเป็ดผี นกอีโก้ง โดยในช่วงฤดูหนาวจะมีเหยี่ยวและนกเป็ดน้ำ อพยพย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ไม่ว่าจะเป็น เหยี่ยวผึ้ง นกอินทรีหัวไหล่ขาว นกอินทรีปีกลาย เป็ดปีกเขียว เป็ดหางแหลม เป็นต้น

 นกอีโก้งจิกกินหน่ออ่อนต้นเฟื้อ
นกอีโก้งจิกกินหน่ออ่อนต้นเฟื้อ

ขณะที่พืชพันธุ์นั้นก็ก็อวลไปด้วยพืชน้ำ อาทิ อ้อ กก แขม ธูปฤาษี ต้นเฟื้อ (หรือปรือ หรือธูปจีน) สาหร่าย และ “บัว” ทั้ง บัวเผื่อน บัวสาย และบัวหลวง ซึ่งมีขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากในทุ่งแห่งนี้

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ทุ่งสามร้อยยอดจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) หรือที่คนมักรู้จักกันในชื่อ “พื้นที่ชุ่มน้ำโลก” ในลำดับที่ 11 ของประเทศไทย (ปัจจุบันไทยมีอยู่ 15 แห่ง) และลำดับที่ 2238 ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ

โดยความสำคัญที่ทำให้ทุ่งสามร้อยยอดได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกก็คือ ที่นี่เป็นแหล่งพักพิงและสร้างรังวางไข่ของนกอพยพและเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของเสือปลาที่ใหญ่ที่สุดในไทยซึ่งมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (เกณฑ์ 1, 2, 3)

เส้นทางศึกษาธรรมชาติทุ่งสามร้อยยอด 
เส้นทางศึกษาธรรมชาติทุ่งสามร้อยยอด

นอกจากนี้ทุ่งสามร้อยยอดในอดีตยังเป็นหนึ่งในแหล่งชมทุ่งดอกบัวอันสวยงามเลื่องชื่อของเมืองไทย รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ แหล่งศึกษาระบบนิเวศพืชและสัตว์น้ำจืด โดยมีการสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นสะพานทางเดินยกระดับทอดตัวไปในบึงบัว ระหว่างทางจะมีป้ายสื่อความหมายให้ความรู้เกี่ยวกับพืชน้ำในทุ่งสามร้อยยอด อาทิ บัวหลวง บัวสาย บัวเผื่อน และธูปฤาษี เป็นต้น

แต่ว่ามีอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทุ่งดอกบัวที่นี่ค่อย ๆ หายไป เนื่องจากธรรมชาติรอบข้างเปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกับการเกิดขึ้นมาของ “นากุ้ง” ที่ผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมากในรอบ ๆ บริเวณทุ่ง

สภาพบึงบัวที่เริ่มเสื่อมโทรม (ปี 51)
สภาพบึงบัวที่เริ่มเสื่อมโทรม (ปี 51)

นากุ้งขยาย ค่อย ๆ หายคือดอกบัว

ตั้งแต่ปี 2530 บริเวณรอบ ๆ ทุ่งสามร้อยยอดมีการทำ “นากุ้ง” เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงแรก ๆ ก็ไม่เห็นผลกระทบอะไร มีนากุ้ง ก็ยังมีทุ่งดอกบัวอยู่สวยงาม

แต่เมื่อนานวันเข้า ธรรมชาติเปลี่ยน สภาพแวดล้อมเปลี่ยน สภาพน้ำเปลี่ยน พืชน้ำ สัตว์ในบึงได้มีความเปลี่ยนแปลงทยอยให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต้นเฟื้อ ต้นอ้อ กลุ่มพืชชายน้ำ ที่เป็นที่อยู่อาศัย หลบภัย แหล่งอาหารของนกหลายชนิดค่อย ๆ หายไป เหลือไว้แค่พืชจำพวกสาหร่าย

ทุ่งสามร้อยยอดในช่วงเสื่อมโทรมมาก (เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว) น้ำไม่มีบัวมีแต่สาหร่าย
ทุ่งสามร้อยยอดในช่วงเสื่อมโทรมมาก (เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว) น้ำไม่มีบัวมีแต่สาหร่าย

ส่วนบัวที่เคยมีอยู่เป็นจำนวนมากในทุ่งสามร้อยยอดก็ค่อย ๆ ทยอยหายไป เช่นเดียวกับนกที่หายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งแม้จะไม่มีสิ่งยืนยันว่าผลกระทบเกิดจากการทำนากุ้งเป็นจำนวนมากในละแวกข้างเคียงหรือเปล่า แต่หลังจากยุคนากุ้งบูม ก็มีเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่บางส่วนบอกว่า สภาพน้ำที่ทุ่งสามร้อยยอดเปลี่ยนไป

เปลี่ยนไปจนนกจำนวนมากหายไป ทุ่งดอกบัวหายไป จนมีสื่อมวลชนไปทำข่าวครึกโครมเมื่อราว 10 กว่าปีที่แล้ว เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม จากบึงบัวทุ่งสามร้อยยอดอันสวยงาม กลายเป็นบึงน้ำดาด ๆ ธรรมดา ไร้สีสัน ไร้เสน่ห์

สุธน เวียงดาว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เล่าย้อนอดีตถึงความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมที่ทุ่งสามร้อยยอด ว่า เหตุวิกฤติเริ่มจากการขาดแคลนน้ำที่ไหลเติมเข้ามาในบึงเป็นประจำทุกปี เมื่อปริมาณน้ำน้อยลง ค่าความเหมาะสมของคุณภาพน้ำก็เริ่มไม่เหมาะกับการที่พืชพันธุ์ทั้งหลายในบึง กระทั่งไม่สามารถเจริญงอกงามได้ และค่อย ๆ ล้มตายหายไป ก่อนดินเข้าสู่สภาพบึงเสื่อมโทรมดังกล่าว

ทุ่งสามร้อยยอดปี 58 เสื่อมโทรมหนัก พืชน้ำหายไปจำนวนมาก 
ทุ่งสามร้อยยอดปี 58 เสื่อมโทรมหนัก พืชน้ำหายไปจำนวนมาก

“ในระหว่างนี้ อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอดก็พยายามจะรักษาสภาพในบึงไว้ แต่ก็ต้องยอมรับกับสภาพแวดล้อมรอบข้างที่มันเกิดผลกระทบกับระบบนิเวศทั้งระบบ เราจึงทำได้เพียงการ เก็บ ตัด พืชพันธุ์ที่เน่าตายออกไป” สุธน เล่าความหลัง

เมื่อทุ่งสามร้อยยอดเปลี่ยน ดอกบัวจำนวนมากหายไป นกจำนวนมากหายไป นักท่องเที่ยวจำนวนมากก็หายไปด้วยเช่นกัน

เป็นสภาวะที่ยืนยันเหตุและผลของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้เป็นอย่างดี

นกอีโก้งหากินแบบเอาตัวรอดในช่วงทุ่งสามร้อยยอดเสื่อมโทรมหนัก 
นกอีโก้งหากินแบบเอาตัวรอดในช่วงทุ่งสามร้อยยอดเสื่อมโทรมหนัก

การ (เริ่ม) ฟื้นคืนกลับของบึงบัวทุ่งสามร้อยยอด

หลังหมดยุคนากุ้งบูมในบ้านเรา นากุ้งรอบ ๆ ทุ่งสามร้อยยอดก็ค่อย ๆ ลดน้อยถอยไปมากในช่วง 5-6 ปีที่แล้ว

หลังจากนั้นไม่นานน้ำจากธรรมชาติก็เริ่มกลับเข้าสู่ทุ่งสามร้อยยอดอีกครั้ง เหมือนธรรมชาติของที่นี่ได้ฟื้นชีวิตเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

ทุ่งสามร้อยยอดปัจจุบันที่บัวเริ่มกลับมาอีกครั้ง (ภาพ : อช.สามร้อยยอด)  
ทุ่งสามร้อยยอดปัจจุบันที่บัวเริ่มกลับมาอีกครั้ง (ภาพ : อช.สามร้อยยอด)

บรรดาพืชน้ำ บัวต่าง ๆ ที่เคยล้มตาย แต่ยังมีเหง้าฝังอยู่ในดิน พอน้ำธรรมชาติกลับมา ก็เริ่มกลับมาเติบโต แตกหน่อ ต่อยอด เกิดใบ และออกดอกสร้างสีสันสวยงามอีกครั้ง ซึ่งแม้วันนี้ปริมาณพืชน้ำ และดอกบัวที่ทุ่งสามร้อยยอดยังเทียบไม่ได้กับยุคเฟื่องฟูในอดีต แต่ว่าธรรมชาติที่นี่ก็เริ่มทยอยกลับมา ดูมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น สามารถหามุมสวย ๆ เดินเที่ยวถ่ายรูปได้ ไม่ดูแห้งแล้งร้างไร้สีสันแบบช่วงซบเซา

ชีวิตที่กลับมาทุ่งสามร้อยยอด (ปัจจุบัน) 
ชีวิตที่กลับมาทุ่งสามร้อยยอด (ปัจจุบัน)

อย่างไรก็ดีสภาพการณ์ของบึงบัวทุ่งสามร้อยยอดในวันที่ที่เริ่มดีวันคืนนั้นจำเป็นต้องได้รับการดูแลฟื้นฟูในทิศทางที่เหมาะสม ต้องไม่มีปัจจัยอะไรมาทำให้สะดุดชะงักงัน หรือบึงน้ำเสื่อมสภาพลงไปอีก

แล้วเมื่อวันนั้นบึงบัวทุ่งสามร้อยยอดที่เคยเป็นตำนาน ก็จะฟื้นคืนกลับมาเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

สำหรับบึงบัวทุ่งสามร้อยยอดในตำนานนั้น ธรรมชาติต้องใช้เวลาสร้างตัวตนมาไม่รู้กี่ร้อยปี ก่อนที่พวกเรา (รุ่นปัจจุบัน) จะมาพบพานและชื่นชม แต่แล้วก็ต้องมาเสื่อมสภาพทรุดไปในยุคพวกเรา ในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงเกือบ 10 ปี กว่าธรรมชาติจะค่อย ๆ ฟื้นสภาพคืนกลับมาอีกครั้ง

นี่นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติที่เปลี่ยนไป อันเป็นผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่ง
ธรรมชาติได้บอกเตือนมนุษย์มาแล้วครั้งหนึ่ง ก็หวังว่าเราจะใช้มันให้เป็นบทเรียนอันทรงคุณค่า อย่าให้มันเกิดขึ้นซ้ำรอยวงจรอุบาทว์อีกเลย

...อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตของพวกเรา

หลังนากุ้งค่อย ๆ หมดไป สภาพธรรมชาติ บึงบัวก็ทยอยหวนคืนที่ทุ่งสามร้อยยอด (ภาพ : อช.สามร้อยยอด)  
หลังนากุ้งค่อย ๆ หมดไป สภาพธรรมชาติ บึงบัวก็ทยอยหวนคืนที่ทุ่งสามร้อยยอด (ภาพ : อช.สามร้อยยอด)


อช.สามร้อยยอด เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวหลากรส หลายอารมณ์ ทั้งทางบก ทางทะเล นำโดย “ถ้ำพระยานคร” ที่ถูกยกให้เป็นอันซีนไทยแลนด์ อันสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ

นอกจากนี้ อช.สามร้อยยอดก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยว น่าสนใจ อื่น ๆ อาทิ หาดสามพระยา หาดแหลมศาลา จุดชมทิวทัศน์เขาแดง เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ถ้ำแก้ว ถ้ำไทร และ ทุ่งสามร้อยยอด (บึงบัว)

อย่างไรก็ดีเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 อช.เขาสามร้อยยอด จึงประกาศ ปิดแหล่งท่องเที่ยวและพักแรมในอุทยานแห่งชาติ เป็นการชั่วคราว เพื่อปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม - 31 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศการเปลี่ยนแปลง

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร. 032 821 568