เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 29 ก.ค.2564 ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีมีการแฮกข้อมูลและเรียกรับเงินในการเข้าฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนที่
สถานกลางบางซื่อว่า เมื่อ2-3 วันก่อนได้มีการรายงานจากผอ.ศูนย์ฉีดฯว่าสงสัยจะมีความผิดปกติของการมารับบริการ โดยเฉพาะช่วงท้ายวัน ที่เหมือนเป็นการลงทะเบียนผ่านค่ายมือถือแต่จะแสดงความผิดปกติบางอย่าง เช่น มีความรีบร้อน จึงได้มอบหมายให้มีการลองหากระบวนการที่จะตรวจจับให้ได้ โดยเกิดขึ้นกับค่ายมือถือค่ายเดียว ซึ่งค่ายมือถือได้มีการให้บริษัทย่อยมารับในการช่วยจัดระบบคิวและลงทะเบียน พบว่าจุดลงทะเบียนตรงนี้ที่มีปัญหา จึงร่วมมือกับค่ายมือถือนั้นล่อซื้อ
ซึ่งเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2564 เมื่อมีผู้ที่น่าสงสัยเข้ามารับบริการราว 100 คนจึงให้เข้ามารับบริการตามระบบและยกเลิกทันทีเมื่อเข้ามาในจุดที่จะฉีด แล้วให้เจ้าตัวมาแสดงตัว จากนั้นมีการสอบถามและให้ลงบันทึกข้อความ โดยให้เล่าตั้งแต่ติดต่อผ่านใครอย่างชัดเจน โดยหลักการคือเป็นลูกจ้างที่ถูกจ้างมาอีกทอดหนึ่งของค่ายมือถือ ส่วนที่บอกว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมร่วมด้วย ยังไม่ทราบข้อมูลจริงๆ และเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2564 ได้มีการแจ้งความเรียบร้อยแล้ว กันพยานคนที่เหมือนกับต้องเสียเงินไปซื้อมาเป็นพยาน เพื่อเอาผิดให้ถึงที่สุด
“ยืนยันว่ายังไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่กรม แต่ถ้ามีก็จะไม่ละเว้นเพราะความเจ็บป่วยของประชาชนซื้อขายไม่ได้ ถ้ามีเจ้าหน้าที่กรมเกี่ยวข้องก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงและสอบสวนลงโทษตามความเป็นจริง แต่เท่าที่ทราบ ณ ตอนนี้ยืนยันว่าไม่มี มีแต่เจ้าหน้าที่ที่ถูกจ้างมาโดยค่ายโทรศัพท์มือถือไปเติมทะเบียนของผู้ที่มารับวัคซีนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้มีการล่อซื้อให้ชัดเจน เพื่อให้ได้คนที่กระทำผิดให้ชัดเจน”นพ.สมศักดิ์กล่าว
สำหรับแนวทางลดความแออัด โดยการดำเนินการปรับระบบให้บริการฉีดวัคซีน คือ 1.เปิดประตูศูนย์เร็วขึ้นจากเดิม 09.00 น. ให้ผู้มารับบริการลงทะเบียน โดยไม่วัดความดัน 2.ปรับระบบการเข้าแถวให้ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้หางแถวแต่ละประตูชนกัน 3.ย้ายที่จอดรถมอเตอร์ไซค์และรถสุขาออกจากพื้นที่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับผู้รับบริการ 4.ประสานการระบายผู้รับบริการหทุกประตูในภาพรวม 5.มอบหมายผู้รับผิดชอบในแต่ละประตูอย่างชัดเจน และ 6.เน้นให้ยืนบนสติกเกอร์ 2,400 จุด
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ มาเสริมการทำงานกับกทม. เป็นความร่วมมือในการบริการให้ใช้สถานที่โดยกระทรวงคมนาคมที่สถานีกลางบางซื่อ โดยกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เป็นผู้จัดบริการการฉีดวัคซีน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 2564 มีการฉีดครบ 1 ล้านโดสไปแล้ว โดยช่วง 2 สัปดาห์แรกเป็นการทดสอบระบบ หลังจากนั้น 1 เดือน ตั้งแต่ 5 ก.ค.จึงเริ่มฉีดให้ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยเปิดให้ออนไซต์ พบว่ามีจำนวนมาก จึงปรับให้วอล์กอินหรือออนไซต์สำหรับผู้ที่อายุ75 ปีขึ้นไป ทำให้สามารถจัดระบบให้ไม่แออัดได้
เมื่อวันที่ 22 ก.ค.จึงมีฉีดให้กับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และคนอ้วนที่มีน้ำหนักหมากกว่า 100 กิโลกรัม จึงมีภาพของความแออัดในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา จึงพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการ โดยขอให้คนอ้วนมารับบริการในช่วงบ่าย เพราะถ้าช่วง 10.00 น. คนจะโล่ง เพราะส่วนใหญ่จะมาจำนวนมากช่วง 08.00 น. และตั้งแต่บวันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไปเพื่อให้การบริการเป็นระบบ จะไม่มีออนไซต์และวอล์กอินอีก จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านค่ายมือถือทั้ง 4 ค่าย โดยจะยังเน้น 60 ปีขึ้นไป และกลุ่ม 18 ปีขึ้นไปแต่จะสดส่วนน้อยกว่าผู้สูงอายุ โดยได้ตกลงกับ 4 ค่ายมือถือเรียบร้อยแล้ว เพราะถ้าลงทะเบียนจะบอกได้ว่าแต่ช่วงเวลามีผู้รับบริการกี่คน
“นโยบายการให้บริการฉีดวัคซีนของศูนย์ฉีดสถานีกลางบางซื่อ ตรงนี้เป็นที่เก็บตกช่วยเสริมในพื้นที่กทม. โดยฉีดให้กับคนมีภูมิลำเนาในกทม. ผู้ที่มาทำงานในกทม.ที่ภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ผู้สูงอายุในกทม.ปริมณฑลที่มีภูมิลำเนาชัดเจน คนไร้บ้าน และชาวต่างชาติที่มีถถิ่นพำนักในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย เน้นที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เหมือนคนไทย เป็นนโยบายที่พยายามเก็บตกในกทม.ทั้งหมด”นพ.สมศักดิ์กล่าว
https://
www.bangkokbiznews.com/news/detail/951732