บีบีจีไอยื่นไฟลิ่งขาย IPO จำนวน 216.60 ล้านหุ้น เล็งเข้าเทรดใน SET

บีบีจีไอยื่นไฟลิ่งขาย IPO จำนวน 216.60 ล้านหุ้น เล็งเข้าเทรดใน SET

  • 0 ตอบ
  • 71 อ่าน

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

luktan1479

  • *****
  • 3464
    • บุคคลทั่วไป
    • ดูรายละเอียด
  • ชื่อ-นามสกุล: -
  • เบอร์ติดต่อ/โทรศัพท์มือถือ: -
  • ที่อยู่/สถานที่ติดต่อ: -
  • ระบุจังหวัด: -
  • ดูรายละเอียด
  • ข้อความส่วนตัว (ออฟไลน์)

     
   
 


บีบีจีไอ ยื่นไฟลิ่งขาย IPO จำนวน 216.60 ล้านหุ้น เล็งเข้าเทรดใน SET หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค โดยมี บล.กรุงไทย ซีมิโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เตรียมนำเงินที่ได้ไปใช้ขยายธุรกิจ-คืนเงินกู้

บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนรวมไม่เกิน 216,600,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด ภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้ และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค โดยมี บล.กรุงไทย ซีมิโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

การจัดสรรหุ้น IPO แบ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) และ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pre-emptive Rights) และประชาชนทั่วไป ซึ่งรวมถึงบุคคลตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ และบุคคลที่มีความสัมพันธ์ซึ่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัท

วัตถุประสงค์การระดมทุนเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนสำหรับการขยายธุรกิจ และการลงทุนโครงการในอนาคตของกลุ่มบริษัทฯ รวมถึงกระบวนการพัฒนา ปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท เพื่อใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมให้แก่สถาบันการเงิน และชำระคืนหุ้นกู้ของกลุ่มบริษัทฯ รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท

BBGI ประกอบธุรกิจโดยการเข้าถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจดังต่อไปนี้ (1) ธุรกิจหลักคือธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-Based Product) ประเภทผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ได้แก่ เอทานอล ไบโอดีเซล และผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ และ (2) ธุรกิจอื่นคือธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (High Value Bio-Based Products) ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลและส่งเสริมสุขภาพ (Health and Well-Being Products) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

ทั้งนี้ เทคโนโลยีขั้นสูง หมายถึง เทคโนโลยีที่มีการจดสิทธิบัตรหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่ง BBGI หรือบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมของ BBGI เป็นเจ้าของหรือได้รับสิทธิดังกล่าวอย่างเช่น เทคโนโลยี Synthetic Bio ที่เป็นของ Manus Bio เป็นต้น

ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 บริษัทถือหุ้นอยู่ในบริษัทย่อยจำนวน 4 บริษัท ได้แก่ 1.บมจ.เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น (KGI) ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเอทานอล โดย BBGI ถือหุ้น 100% 2.บริษัท บางจากไบโอเอทานอล (ฉะเชิงเทรา) จำกัด (BBE) ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเอทานอล โดย BBGI ถือหุ้น 85% 3.บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด (BBF) ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายไบโอดีเซล โดย BBGI ถือหุ้น 70% และบริษัท บีบีจีไอ ยูทิลิตี้ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (BUP) ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านสาธารณูปโภคและพลังงาน โดย BBGI ถือหุ้น 100%

นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นอยู่ในบริษัทร่วม 1 บริษัท ได้แก่ บมจ.อุบล ไบโอ เอทานอล (UBE) ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเอทานอล และแป้งมันสำปะหลัง และการร่วมค้าที่ประกอบธุรกิจอื่นจำนวน 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท วิน อินกรีเดียนส์ จำกัด (WIN) ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง โดยบริษัทฯ ถือหุ้น 21.3% และ 51% ของทุนชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทดังกล่าวแต่ละแห่ง ตามลำดับ

บริษัทมีโครงการในอนาคต ดังนี้ ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) 1.โครงการขยายกำลังการผลิตเอทานอลของโรงงานน้ำพอง 2 ของ KGI ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลแห่งใหม่ กำลังการผลิตติดตั้ง 200,000 ลิตร/วัน ส่งผลให้กำลังการผลิตเอทานอลรวมเพิ่มขึ้นจาก 1,000,000 ลิตร/วัน เป็น 1,200,000 ลิตรต่อวัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 1,200 ล้านบาท และจะเปิดดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 1/65

2.โครงการติดตั้งบ่อก๊าซชีวภาพของ BUP ที่จังหวัดกาญจนบุรี กำลังการผลิต 84,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อรองรับโรงงานผลิตเอทานอลของ KGI ที่สาขาบ่อพลอย โดยจะยื่นขอการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระยะเวลา 8 ปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 150.0 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะเปิดดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4/64

3.โครงการติดตั้งหม้อไอน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของ BUP ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความเสถียรภาพของกระบวนการผลิตเอทานอล โดย BUP ลงทุนในโครงการติดตั้งหม้อไอน้ำ กำลังการผลิต 20 ตันต่อชั่วโมง และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า กำลังการผลิตรวม 3 เมกะวัตต์ ซึ่งครอบคลุมปริมาณไอน้ำและไฟฟ้าที่ใช้สำหรับโรงงานผลิตเอทานอล สาขาน้ำพอง 2 ของ KGI โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 180 ล้านบาท ในปัจจุบันเริ่มดำเนินการตามโครงการดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะเปิดดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 1/65

ในด้านธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (High Value Bio-Based Products) ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลและส่งเสริมสุขภาพ (Health and Well-Being Products) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กลุ่มบริษัทได้ริเริ่มในการพัฒนาธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงที่ส่งเสริมสุขภาพ ร่วมกับหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างแนวทางการดำเนินงานต่อไปนี้

1.โครงการผลิตและจัดจำหน่ายสารให้ความหวาน ในอนาคตบริษัทฯ มีแผนจะลงทุนโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์สารให้ความหวานและผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อเป็นฐานการผลิตและจัดจำหน่ายในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4/66

2.โครงการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงที่ส่งเสริมสุขภาพ ในอนาคตมีแผนที่จะลงทุนโรงงานผลิตภัณฑ์ชีวภาพประเภทเอนไซม์และผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง เพื่อการผลิตและจัดจำหน่ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 600 ล้านบาท จะสามารถเปิดดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4/66

3.โครงการขยายธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายสารสกัดแอสตาแซนธิน (Astaxanthin Ingredients) เพื่อจำหน่ายทั้งในรูปแบบ B2C โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการขายเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือน ก.ย.64

4.โครงการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ใหม่ของบริษัท โดยมีเป้าหมายการพัฒนาโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพให้เป็น Biorefinery Complex ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยอาศัยความต่อเนื่องของธุรกิจตั้งแต่ ต้นน้ำถึงปลายน้ำในธุรกิจต่างๆ ที่บริษัทได้กำลังดำเนินการในการพัฒนาธุรกิจ มารวมศูนย์เป็น Biorefinery Complex ที่มีความพร้อมในการรองรับธุรกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อการพัฒนาต่อยอดและการใช้สาธารณูปโภคร่วมกัน

ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 บริษัทมีทุนจดทะเบียนจำนวน 3,615 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 723 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5.0 บาท และมีทุนชำระแล้ว จำนวน 2,532 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 506.40 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5.0 บาท ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ทั้งหมดในครั้งนี้แล้ว บริษัทฯ จะมีทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วเต็มจำนนวน


X


โครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท ประกอบด้วย BCP ถือหุ้น 303,839,994 หุ้น คิดเป็น 60% หลังเสนอขาย IPO จะลดสัดส่วนถือหุ้นเหลือ 42%, KSL ถือหุ้น 202,559,994 หุ้น คิดเป็น 40% จะลดสัดส่วนหุ้นเหลือ 28% นอกจากนี้ หลังเสนอขาย IPO ครั้งนี้แล้ว ผู้ถือหุ้นเดิมของ BCP เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นจะถือหุ้น 32,490,000 หุ้น คิดเป็น 4.5%, ผู้ถือหุ้นเดิมของ KSL เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น จะถือหุ้น 21,660,000 หุ้น คิดเป็น 3%

ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 957.44 ล้านบาท หนี้สินรวม 286.96 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 2,155.59 ล้านบาท

สำหรับผลประกอบการในช่วงปี 61-63 บริษัทมีรายได้รวม 9,802.14 ล้านบาท 10,059.72 ล้านบาท และ 12,619.92 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่มีกำไรสุทธิ 199.58 ล้านบาท 450.32 ล้านบาท และ 1,111.68 ล้านบาท ตามลำดับ

การเติบโตของรายได้เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของรายได้จากธุรกิจผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) โดยรายได้จากธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลเติบโตขึ้นตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของโรงงานของ KGI รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการผลิตของ BBE อีกทั้งราคาเอทานอลที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาต้นทุนวัตถุดิบ

ขณะที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซลเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการใช้ไบโอดีเซลที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการที่ภาครัฐออกมาตราการกระตุ้นการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ผ่านมาตราการต่างๆ เช่น การกำหนดน้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐานแทนน้ำมันดีเซล B7 การผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม และการนำน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตกระแสไฟฟ้า

สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 64 กลุ่มบริษัทมีรายได้รวม 6,953.96 เพิ่มขึ้นจาก 6,086.14 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 63 ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 421.90 ล้านบาท ลดลงจาก 478.14 ล้านบาท แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายเอทานอลและไบโอดีเซลจะปรับลดลงเล็กน้อยจากการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แต่ราคาขายปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากผลกระทบของต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลกระทบของภัยแล้งเมื่อปี 63 ส่งผลให้ปี 64 มีปริมาณผลผลิตอ้อยและน้ำมันปาล์มดิบในระดับต่ำ ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นลดลง

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการ หลังจากการหักทุนสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามข้อบังคับของบริษัทและตามกฎหมายแล้ว