การระบาดของโรค "โควิด-19"
ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างมาก โดยเป็นผลกระทบระดับวิกฤติในรอบ 100 ปี ที่ทุกประเทศต่างต้องเผชิญกับการแพร่ระบาด
สถานการณ์การติดเชื้อในปัจจุบันนับถึงวันที่ 3 ต.ค.2564 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวม 235 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตรวม 4.81 ล้านคน โดยมีสหรัฐเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 44.4 ล้านคน รองลงมาเป็นอินเดีย 33.8 ล้านคน บราซิล 21.4 ล้านคน สหราชอาณาจักร 7.8 ล้านคน และรัสเซีย 7.5 ล้านคน ในขณะที่ไทยอยู่อันดับ 27 ของโลก มีจำนวน 1.83 ล้านคน
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีการนำ "เทคโนโลยีดิจิทัล" เข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้นทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค ซึ่งเกิดเป็นภาวะ "ปกติใหม่" หรือ New Normal ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ โดยในประเทศไทยส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัวแบบก้าวกระโดด
ในขณะที่ "รัฐบาล" ได้ใช้โอกาสนี้ผลักดัน "สังคมไร้เงินสด" เป็นผลสำเร็จ ซึ่งนำมาสู่การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเพื่อโอนเงิน ชำระค่าสินค้า รวมถึงการรับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ
ทิศทางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้บิ๊กคอร์ปอเรทต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ โดยล่าสุดเห็นการปรับโครงสร้างของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ปรับให้ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นส่วนหนึ่งของ "เอสซีบีเอ็กซ์" ที่ทำหน้าที่โฮลดิ้งคอมพานีดำเนินธุรกิจที่หลากหลายขึ้น ก้าวข้ามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของการทำธุรกิจธนาคาร
และนี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของการปรับตัวครั้งใหญ่ของผู้ประกอบการไทย ซึ่งแน่นอนว่ายังไม่มีคำตอบว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่ถ้าไม่มีการปรับตัวจะมีคำตอบเดียว คือ เป็นธุรกิจที่ไปไม่รอด
การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันจึงกำหนดคำนิยามแบบตายตัวได้ลำบากว่าบริษัทนี้จัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจอะไร แต่ที่สำคัญและเป็นทิศทางเดียวกับ คือ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น
ซึ่งไม่แปลกใจที่จะเห็นบริษัทพลังงานรายใหญ่เข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทที่ทำธุรกิจ 5จี ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล และประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมมากประเทศหนึ่งในภูมิภาค โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่วางโครงสร้างพื้นฐาน 5จี ครบพื้นที่ทั้ง 100%
ขณะนี้หลายบริษัทในประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการเป็น “เทคคอมพานี” ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ โดยมีการตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาเพื่อลงทุนในแต่ละด้าน รวมทั้งการทำงานร่วมกับสตาร์อัพที่มีความคล่องตัวในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี
และถ้าสตาร์ทอัพรายได้สร้างเทคโนโลยีขึ้นมาสำเร็จก็จะมีการร่วมลงทุนกับบริษัทใหญ่ในระยะยาว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภาคธุรกิจไทยในการก้าวจาก New Normal ไปสู่ Next Normal