นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในการประชุมเดือน ก.ย. 64
ส่งสัญญาณนโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่าที่ตลาดคาดค่อนข้างมาก ทั้งในแง่ความเร็วของการขึ้นดอกเบี้ยและการลดการอัดฉีดสภาพคล่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ของสหรัฐพุ่งขึ้นแรงจาก 1.3% ก่อนการประชุม มาอยู่ที่ 1.45% ถือว่าเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน
และแม้ว่าในรอบนี้ตลาดหุ้นยังไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากนัก เนื่องจากได้ปรับฐานลงมาก่อนจากความกังวลเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท Evergrande ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในจีน แต่หาก Bond Yield ยังพุ่งขึ้นต่อเนื่องก็อาจจุดชนวนให้ตลาดปรับฐานอีกครั้งได้
"คณะกรรมการเฟด 9 จากทั้งหมด 18 คน สนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า และส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปี 66 เพิ่มขึ้นจากประชุมครั้งก่อนที่ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นเพียง 2 ครั้ง นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ยังส่งสัญญาณว่าในปี 67 จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 3 ครั้ง สำหรับแผนการลดมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (QE) เฟดส่งสัญญาณว่าจะเริ่มประกาศลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Taper) ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ย.64 และยุติการทำ QE ในกลางปี 65 กรณีนี้ชี้ว่าเฟดจะลดการเข้าสินทรัพย์ลงเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เร็วกว่าตลาดคาดว่าจะลด QE ในอัตราเดือนละ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ" นายคมศรกล่าว
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับนักลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ได้ประเมินโดยใช้แบบจำลอง (Earning Yield Gap Model) พบว่า หาก Bond Yield พุ่งขึ้นเกิน 1.7% ตลาดหุ้นโลกก็มีความเสี่ยงที่จะปรับฐาน โดยเฉพาะหุ้นในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่มีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก
จากการศึกษาความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในช่วงที่เฟดปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้น พบว่าตลาดหุ้น Emerging Markets มักให้ผลตอบแทนต่ำและให้ผลตอบแทนติดลบ 6 ครั้ง จากทั้งหมด 7 ครั้ง สาเหตุส่วนหนึ่งมากจากแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น ในขณะที่ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ยังสามารถให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้โดยเฉพาะตลาดหุ้นยุโรปและญี่ปุ่นที่มักให้ตอบแทนสูงกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ในตลาดต่างคาดการณ์กำไรปี 64 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) ตลาดหุ้นยุโรป (STOXX 600) และตลาดหุ้นญี่ปุ่น (Nikkei 225) ว่าจะเติบโตในอัตราที่ใกล้เคียงกันราว 7-9% แต่มูลค่า (Valuation) ของตลาดหุ้นยุโรป และญี่ปุ่นยังเทรดในระดับที่ถูกกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก โดยค่า Forward P/E ของตลาดหุ้นยุโรป (STOXX 600) และตลาดหุ้นญี่ปุ่น (Nikkei 225) เทรดในระดับต่ำกว่า (Discount) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) มากถึง -24% และ -29% ตามลำดับ ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่ Discount มากสุดในรอบกว่า 10 ปี
จากประเด็นข้างต้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ จึงแนะนำให้นักลงทุนจับตา Bond Yield สหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด พร้อมปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Emerging Market ลงหาก Bond Yield พุ่งขึ้นใกล้ระดับ 1.7% และอาจใช้จังหวะที่ตลาดปรับฐานเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป และญี่ปุ่นต่อไป