บอร์ด รฟม.อนุมัติ
ขยายเวลาก่อสร้างรถไฟฟ้าสีชมพูอีก 290 วัน เหตุเปลี่ยนตำแหน่ง สถานีศูนย์ราชการนนท์ฯ และสถานีนพรัตน์ ยืดสัญญาสร้างไปสิ้นสุด ส.ค. 65 พร้อมปรับแผนเปิดเดินรถ 3 ระยะ เฟสแรก มิ.ย. 65 จากศูนย์ซ่อมฯ-ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 21 กม.เปิดตลอดสาย ก.ค. 66 สายสีเหลืองจ่อขยายด้วย คาดสรุปใน 2 เดือน
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 ได้มีมติอนุมัติการขยายระยะเวลาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ซึ่งเป็นการดำเนินงานในระยะที่ 1 ของบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานออกไปอีกเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 290 วัน จากปัญหาอุปสรรคการเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ ใน 2 จุดหลัก จากการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้าของโครงการจำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) และสถานีนพรัตน์ (PK26) ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่งสถานีจึงต้องมีการดำเนินการตามกระบวนการด้านผลกระทบให้ครบถ้วน ล่าสุดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้รับการอนุมัติจาก กกวล.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอุปสรรคการยกชิ้นงานสำเร็จรูปเข้าติดตั้งบริเวณทางวิ่ง อันเนื่องจากไม่สามารถดำเนินการดับไฟฟ้าได้ตามแผนงาน และปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินงานโครงการฯ ที่ทับซ้อนในพื้นที่เดียวกัน ระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ กับโครงการ Floodway ของกรมทางหลวง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างของสถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK11) สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) และสถานีทีโอที (PK13) รวมถึงกระทบต่อการจ่ายไฟฟ้าให้สถานีจ่ายไฟฟ้าย่อย (Bulk Substation 02) ที่สถานีแยกปากเกร็ด (PK06)
โดยถือเป็นการขยายระยะเวลาก่อสร้างในครั้งที่ 2 แล้ว หลังจากที่เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563 บอร์ด รฟม.ได้เห็นชอบขยายเวลาก่อสร้างโครงการฯ ไปแล้ว 365 วัน เนื่องจากปัญหาการส่งมอบพื้นที่ประมาณ 8 จุด ตั้งแต่ถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ ทั้งนี้ สัญญารถไฟฟ้าสายสีชมพูมีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน (39 เดือน) หรือก่อสร้างเสร็จในเดือน ต.ค. 2564 มีการขยายขยายเวลาก่อสร้าง 1 ปี ทำให้เวลาก่อสร้างเพิ่มเป็น 4 ปี 3 เดือน ขยายเวลาครั้งที่ 290 วัน หรือประมาณ 10 เดือน รวมการขยายเวลา 2 ครั้ง ทำให้ระยะเวลาสัญญาก่อสร้างไปสิ้นสุดเดือน ส.ค. 2565 โดยมีอายุสัมปทานเดินรถ และซ่อมบำรุง 30 ปี
ส่วนผลกระทบจากการปิดแคมป์ก่อสร้างตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ยังไม่มีการนำมาพิจารณาใดๆ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ยุติ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้รับเหมาทุกสัญญาได้กลับมาดำเนินการก่อสร้างแล้ว แต่ก่อสร้างยังทำไม่ได้เต็ม 100% เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในการทำงาน เช่น เคอร์ฟิวทำให้ต้องจำกัดเวลาในการทำงาน รวมถึงการเพิ่มกำลังคนงานเพื่อเร่งรัดงาน ยังทำไม่ได้ เพราะในพื้นที่ต้องดูแลเรื่องความแออัดตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วย
ทั้งนี้ ผู้รับสัมปทานได้จัดทำแผนการเปิดให้บริการเดินรถบางส่วน (Partial Operation) โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 เริ่มจากปลายทาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการ (Depot) และเดินรถระหว่างสถานีมีนบุรี (PK30) ถึงสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) เป็นระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร โดยจะเปิดให้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2565 ทั้งนี้ จะยังไม่เปิดให้บริการที่สถานีนพรัตน์ (PK26) ซึ่งสามารถรองรับการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) และรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่สถานีหลักสี่ (PK14) รวมถึงผู้โดยสารที่มาติดต่อศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะที่สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12)
ระยะที่ 2 เริ่มจากศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการ (Depot) และเดินรถระหว่างสถานีมีนบุรี (PK30) ถึงสถานีกรมชลประทาน (PK05) เป็นระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร โดยจะเปิดให้บริการภายในเดือนสิงหาคม 2565
และระยะที่ 3 เปิดให้บริการเต็มรูปตลอดเส้นทางจากสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึงสถานีมีนบุรี (PK30) เป็นระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร โดยจะเปิดให้บริการภายในเดือนกรกฎาคม 2566
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งมีปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่เช่นกัน โดยก่อนหน้านี้บอร์ด รฟม.ได้อนุมัติขยายเวลาก่อสร้าง 265 วันไปแล้ว ขณะนี้ได้หารือร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในการรื้อย้ายเสาไฟฟ้าแรงสูงช่วงถนนศรีนครินทร์ ซึ่ง รฟม.และที่ปรึกษาอยู่ระหว่างประเมินระยะเวลาในการดำเนินงาน คาดว่าอีกประมาณ 2 เดือนจะสรุปรายละเอียดเสนอบอร์ด รฟม.พิจารณาต่อไป